ปิดเมนู
หน้าแรก

วิธีออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยโรค “หัวใจ”

เปิดอ่าน 241 views

วิธีออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยโรค “หัวใจ”

ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจมีความเสี่ยงหลายอย่างในการออกกำลังกาย เพราะหัวใจที่ไม่แข็งแรงเต็มที่ 100% จึงอาจทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายในหลายๆ ประเภทได้ แต่อย่างไรก็ตามทางออกสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เพื่อบรรเทาอาการของโรคให้ดียิ่งขึ้น แพทย์ยังลงความเห็นว่ายังสมควรที่จะต้องออกกำลังกายอยู่ เพียงแต่ต้องทำอย่างถูกวิธี

 

ข้อดีของการออกกำลังกาย

นพ.ณัฐพงศ์ วงศิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงหัวใจ สามารถลดการเกิดโรคหัวใจชนิดต่างๆ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคความดันโลหิตสูง และยังทำให้ลดอัตราการเจ็บหน้าอกของผู้ป่วยโรคหัวใจอีกด้วย ที่สำคัญการออกกำลังกายสามารถลดความอ้วน ลดระดับคอเลสเตอรอล เบาหวาน เพิ่มความกระฉับกระเฉง นำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ปรับปรุงรูปร่าง ช่วยให้หลับสบาย และลดภาวะเครียด

 

ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของหัวใจ

พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของหัวใจนั้น สามารถทำได้ตามความเหมาะสมของวัยตนเอง ตามสภาพร่างกาย และสิ่งแวดล้อมที่ดี ในความแรงที่เพียงพอต่อการกระตุ้นการพัฒนาของร่างกายและหัวใจโดยไม่เสี่ยงอันตราย โดยอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดอยู่ที่ 60-80% และทำให้เป็นกิจวัตรประจำ

 

วิธีออกกำลังกายเพื่อบรรเทาอาการของโรคหัวใจ

  • ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนว่าเราสามารถออกกำลังกายแบบไหนได้บ้าง มีคำแนะนำ หรือคำเตือนอะไรก่อนการออกกำลังกายหรือไม่
  • ชวนคนรู้จักมาออกกำลังกายด้วย หรือออกกำลังกายภายใต้การดูแลของครูฝึก หรือเทรนเนอร์ เพราะหากมีอาการอะไรเกิดขึ้น จะได้มีคนอยู่ช่วยได้ทันท่วงที และอย่าลืมแจ้งผู้เกี่ยวข้องรอบตัวด้วยว่าคุณเป็นโรคหัวใจ
  • ก่อนเริ่มออกกำลังกาย ควรวอร์มร่างกายด้วยการทำท่ากายบริหารง่ายๆ ช้าๆ สลับท่าไปเรื่อยๆ ขยับทั้งขา แขน ข้อเท้า ข้อมือ หัวไหล่ คอ เอว ราว 5-10 นาที
  • การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เป็นการเพิ่มความแข็งแรงของหัวใจ กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นถึงระดับที่มีชีพจร 60-80% อย่างน้อย 20 นาที
  • การยกน้ำหนัก ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เลือกน้ำหนักที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป โดยยกดัมเบล ขวดใส่น้ำ หรือใช้อุปกรณ์ในฟิตเนสก็ได้ โดยออกกำลังทั้งในส่วนของต้นแขน ต้นขา หน้าท้อง ข้างเอว ข้างสะโพก ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแต่ละคนไม่เท่ากัน ให้ลองทำเป็นเซ็ตๆ เซ็ตละ 10 ครั้ง ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น สลับเป็นส่วนๆ ไป อย่าหักโหม หากมีอาการหน้ามืด เจ็บหน้าอก วิงเวียนศีรษะ ชีพจรเต้นรัวและแรงเกินไป หรือปวดกล้ามเนื้อให้หยุด แล้วหาที่นั่งพักทันที
  • กายบริหาร หรือโยคะ เพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย การออกกำลังกายช้าๆ แบบกายบริหารช้าๆ หรือโยคะ เหมาะกับผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้อย่างช้าๆ กล้ามเนื้อไม่ฉีกขาด หรือเกิดอาการบาดเจ็บมากเหมือนการยกน้ำหนัก แต่อาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้เหมือนกันในระยะแรกๆ หากทำอย่างเป็นประจำ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจะค่อยๆ หายไป
  • เดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะๆ วันละ 1-3 ชั่วโมง อย่าลืมเลือกรองเท้าที่รองรับการกระแทกได้ดีด้วย
  • เทนนิส ว่ายน้ำ ช่วยให้แขน และขาได้ใช้กล้ามเนื้อได้อย่างเต็มที่ กล้ามเนื้อหัวใจได้ทำงานเพื่อสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ป่วยดีขึ้น
  • รำกระบอง เป็นวิธีที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลังได้ทำงานมากยิ่งขึ้น และยังช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้นด้วย
  • หลังการออกกำลังกาย อย่าลืมคูลดาวน์ยืดเส้นยืดสายกล้ามเนื้ออีกครั้งด้วยการทำท่ากายบริหารช้าๆ เบาๆ 5-10 นาที

 

หากมีอายุน้อยกว่า 40 ปี ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือความผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกหรือเป็นโรคหัวใจ สามารถออกกำลังกายแบบไม่หักโหมได้ทันที แต่หากมีความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกาย

 

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : วิธีออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยโรค “หัวใจ”