ปิดเมนู
หน้าแรก
ข่าวสาร

สรุปเลย! GMOs พืชและสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม ดีหรือไม่ดีกันแน่?

เปิดอ่าน 1,113 views

สรุปเลย! GMOs พืชและสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม ดีหรือไม่ดีกันแน่?

สรุปเลย! GMOs พืชและสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม ดีหรือไม่ดีกันแน่?

เป็นที่ถกเถียงกันมานานหลายปี หลายคน หลายฝ่าย หลายประเทศ หลายภาษา แต่ก็ยังหาข้อยุติกันไม่ได้เสียทีว่า สรุปแล้ว เจ้าพืชผักผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ที่ดัดแปลง หรือตัดแต่งพันธุกรรมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า GMOs นั้น ส่งผลดีต่อมนุษย์จริงหรือไม่ โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่นำมาประกอบการพิจารณา

แต่สำหรับสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คงไม่พ้นเรื่องความปลอดภัยของแหล่งอาหารเหล่านี้ ว่าจะส่งผลกระทบในแง่ดีและแง่ร้ายต่อสุขภาพของเราหรือไม่ เรามาหาคำตอบกันค่ะ

GMOs คืออะไร?

พืชและเนื้อสัตว์ที่ได้รับการคัดเลือก และนำมาผ่านกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) เพื่อที่จะให้มีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติที่จำเพาะเจาะจงตรงตามความต้องการ เช่น ทนต่อสภาพอากาศต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมในที่นั้นๆ อาจจะปลูกพืชเมืองหนาวในเขตร้อนได้ หรืออาจจะเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ให้พืชนั้นมีโปรตีน ไขมัน หรือวิตามินมากขึ้น เป็นต้น

ตัวอย่างพืช GMOs ได้แก่

– มะเขือเทศ GMOs ที่เนื้อหนา ลดการบอบช้ำ และเน่าเสียช้าลง

– มะละกอ GMOs ที่ต้านทานโรคไวรัสใบด่างวงแหวนได้ และเมล็ดน้อยลง

– ถั่วเหลือง GMOs ที่ทนทานต่อสารเคมีปราบวัชพืชบางชนิด และทำให้มีไขมันอิ่มตัวน้อยลง เป็นต้น

ดูแล้ว คงเข้าใจว่ามีประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมมากเลยนะคะ แต่ว่าจะส่งผลอะไรต่อผู้บริโภคกันบ้างนะ

GMOs มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างไรบ้าง?

1. สิ่งเจือปนจากสารอาหารที่ได้เพิ่มเข้ามาจากการผ่านกระบวนการ GMOs อาจทำให้ผู้บริโภคล้มป่วย หรือเสียชีวิตได้ แต่อันที่จริงแล้วอาจเป็นข้อผิดพลาดระหว่างขั้นตอนการควบคุมคุณภาพ ช่วงที่กระบวนการทำให้ผลิตภัณฑ์สะอาดบริสุทธิ์มากกว่า เช่นตัวอย่างจากข่าวผู้บริโภคที่สหรัฐอเมริกา ที่ผู้บริโภคแพ้ กรดอะมิโน L-Tryptophan ซึ่งเป็นสารอาหารที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ GMOs แต่เมื่อสำรวจดูแล้ว พบว่ามีปัญหาจากขั้นตอนควบคุมคุณภาพที่มีความบกพร่อง จึงก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาภายหลังมากกว่า ซึ่งก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่

2. GMOs อาจเป็นพาหะของสารที่เป็นอันตรายได้ โดยมีการทดลองจากนักวิทยาศาสตร์ ให้หนูกินมันฝรั่งดิบที่มีสารเลคติน จาก GMOs แล้วปรากฏว่าหนูมีภูมิต้านทานในร่างกายน้อยลง ลำไส้บวมผิดปกติ แต่ถึงกระนั้นการทดลองนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นทักท้วงถึงการออกแบบการทดลองที่ยังมีความบกพร่องอยู่บางประการ จึงทำให้ยังไม่ถือว่าเป็นการทดลองที่สมบูรณ์นัก

3. ยังไม่มีความชัดเจนว่า พืช GMOs จะทำให้มีสารอาหาตามธรรมชาติที่มีอยู่ในมันเองอยู่แล้วเพิ่มปริมาณมากขึ้นหรือไม่ เช่น ถั่วเหลือง GMOs อาจจะมี isoflavone ซึ่งคล้ายสารจำพวกฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น แล้วยังไม่แน่ใจว่าการเพิ่มขึ้นของสารตัวนี้จะเป็นการเพิ่มเอสโตรเจนกับผู้บริโภค จนเป็นอันตรายหรือไม่ (โดยเฉพาะกับเด็ก)

4. พืช GMOs อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้มากขึ้นหรือไม่ เช่น ถั่ว Brazil Nut ที่ผ่าน GMOs อาจทำให้ผู้บริโภคที่ไม่เคยแพ้ถั่ว อาจเกิดอาการแพ้จากปริมาณโปรตีนที่เพิ่มมากขึ้นก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามพืช GMOs ที่วางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดขณะนี้ ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้เพิ่มอัตราความเสี่ยงต่ออาการแพ้มากขึ้นแต่อย่างใด

5. บางส่วนยังกังวลในเรื่องของเนื้อสัตว์ที่ได้รับฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้ ว่าจะทำให้เนื้อสัตว์มีสารตกค้างมาถึงผู้บริโภคหรือไม่ เพราะระบบสรีระวิทยาของสัตว์นั้นมีความซับซ้อนมากกว่าทั้งของในพืชและจุลินทรีย์

6. ผลิตภัณฑ์จาก GMOs อาจทำให้ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยาปฏิชีวนะอยู่ เกิดอาการดื้อยือ ทำการรักษาไม่สำเร็จ เนื่องจากการใช้วิธีสร้างสารต้านยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ จึงทำให้อาจมีสารต้านยาปฏิชีวนะอยู่ในนั้น แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ออกมาอธิบายว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีน้อย และสามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้

7. อาจมีส่วนของยีนที่มีอยู่ในเซลล์ GMOs ซึ่งไม่สามารถย่อยในกระเพาะอาหารได้ และอาจมีส่วนทำให้ยีนส์ของมนุษย์มีความผิดปกติในภายหลัง แต่หลังจากการทดลองหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา พบว่าเป็นไปได้น้อยมาก

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ยังทำการทดลอง และยังหาข้อสรุปที่ตรงกันไม่ได้ ดังนั้นบางประเทศจึงยังไม่สนับสนุน หรือเปิดโอกาสให้ประชากรบริโภคอาหารที่มาจาก GMOs นั่นเอง และนอกจากปัญหากับผู้บริโภคยังมีปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมอีกด้วย ดังนั้นเราควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และอัพเดตอยู่เรื่อยๆ แน่นอนว่าสักวันเราต้องพบกับทางออกที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น ปลอดภัย และให้ผลที่แน่นอนชัดเจนในไม่ช้าค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก thaibiotech.info
ภาพประกอบ istockphoto

เนื้อหาโดย : Sanook!

варианты укладки ламината

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : สรุปเลย! GMOs พืชและสัตว์ดัดแปลงพันธุกรรม ดีหรือไม่ดีกันแน่?