ปิดเมนู
หน้าแรก
ข่าวสาร

รู้จักข้อดีข้อเสียของแสงสีฟ้า อันตรายต่อดวงตา และฟิล์มตัดแสง Blue Light Cut

เปิดอ่าน 632 views

รู้จักข้อดีข้อเสียของแสงสีฟ้า อันตรายต่อดวงตา และฟิล์มตัดแสง Blue Light Cut

หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินเรื่องของ “แสงสีฟ้า” จากหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ว่ามันมีความรุนแรงสูง และถึงขั้นที่จะทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้ ผมเองก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน แรกๆ ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เลยลองหาข้อมูลดู ก็พบว่ามีรายงานจากหลายๆ งานวิจัยและหลายๆ สถาบันเกี่ยวกับอันตรายของแสงสีฟ้าและจอประสาทตาอยู่เหมือนกัน

แต่ก่อนที่เราจะไปชี้ว่า แสงสีฟ้า หรือ Blue Light นี่มันอันตรายหรือไม่ดีอย่างไรนั้น เราก็ต้องมาทำความรู้จักกับแสงสีฟ้าก่อน ว่ามันมาจากไหน และมันมีแต่ข้อเสียหรือเปล่า อันนี้บอกได้เลยว่าไม่ใช่อย่างนั้นครับ เพราะแสงสีฟ้าเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเองเช่นกัน

 

blue-light-protection

 

แสงถือเป็นคลื่นแม่เหล็กชนิดหนึ่ง ซึ่งก็มีไล่เรียงกันไปตามสีสัน ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง หรือสายรุ้งที่เราเห็นนั่นก็คือสเปคตรัมของแสง โดยช่วงของแสงสีฟ้านั้นจะอยู่ที่ 400-500 นาโนเมตร และอย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่าแสงสีฟ้านั้นมีทั้งแบบดีและไม่ดี ช่วงแสงสีฟ้าที่ดีเราจะเรียกว่า blue-turquoise lightซึ่งอยู่ในช่วง 465-495 นาโนเมตร ส่วนแสงสีฟ้าที่ไม่ดีนั้นเรียกว่า blue-velvet light อยู่ในช่วง 415-455 นาโนเมตร

Blue-Turquoise Light แสงสีฟ้าฝ่ายธรรมะ หรือแสงสีฟ้าช่วงนี้ มีข้อดีคือมันจะทำงานร่วมกับ bio clock หรือนาฬิกาชีวภาพของเรา เช่นบางทีในตอนเช้าพระอาทิตย์เริ่มขึ้น แสงยังไม่ทันสว่างแต่ทำไมเราตื่นนอน นั่นเพราะแสงสีฟ้าชนิดนี้ที่มาปลุกให้เราตื่นนอน กระตุ้นให้อวัยวะส่วนต่างๆ ของเราทำงาน

Blue-Velvet Light แสงสีฟ้าฝ่ายอธรรมซึ่งมีพลังแฝง มาพร้อมกับความรุนแรงในการทะลุทะลวงสูง ซึ่งผ่านการพิสูจน์แล้วว่าที่จอประสาทตามีการเสื่อมนั้นมาจากช่วงแสงระยะนี้นี่เอง เพราะเราก็ใช้สายตาในการมองอยู่ตลอดเวลา

แน่นอนว่าเราไม่สามารถหลบ “แสงสีฟ้า” ได้พ้นอยู่แล้ว เพราะมันมีมากับทุกๆ แหล่งกำเนิดแสง ไม่ว่าจะดวงอาทิตย์ หลอดไฟต่างๆ ก็มีมาทั้งนั้น

 

blue-light-protection2

ภาพข้างบนนี้แสดงคำตอบได้อย่างดี หลอดไฟ Cool White LED นั้นปล่อยแสงสีฟ้าในปริมาณที่สูง รวมถึงหลอด Fluorescent ชนิดกลมด้วย

ส่วนหน้าจอมือถือกับแท็บเล็ตที่เราใช้งานกันอยู่ ก็มีการปล่อยแสงสีฟ้าออกมาเช่นกันครับ ในภาพจะเห็นการเปรียบเทียบของมือถือทั้ง 3 รุ่น จะเห็นว่าช่วงคลื่นแสง 400-500 นาโนเมตรนั้นถูกปล่อยออกมาสูงที่สุด

 

blue-light-protection3

เปรียบเทียบหน้าจอแสดงผลโดยใช้สมการเชิงเส้นระหว่างความสว่างและการใช้พลังงานแบตเตอรี่

และนี่คือที่มาที่ไปของการผลิตฟิล์มชนิด Blue Light Cut หรือฟิล์มที่ใช้ตัดแสงสีฟ้านั่นเองครับ โดยแต่ละยี่ห้อแต่ละแบรนด์ก็จะมีความสามารถในการตัดแสงไม่เท่ากัน เห็นได้จากคลิปที่เราได้ทำการทดสอบไปในข้างต้น

สรุปสุดท้ายตรงนี้เชื่อว่าเราน่าจะได้รู้จักและได้ความรู้เกี่ยวกับแสงสีฟ้ามากขึ้น หลายคนอาจจะยังลังเลอยู่ว่าตกลง แสงสีฟ้า มันอันตรายจริงแค่ไหน แล้วแสงจากจอมือถือมันแรงพอที่จะทำลายจอประสาทตาเราเลยหรือเปล่า ใช้เวลาแค่ไหน อันนี้ผมเองก็คงไม่สามารถตอบได้ เพราะจะว่าไปแล้วเราก็เพิ่งจะมีอุปกรณ์พกพาที่มีขนาดหน้าจอใหญ่ๆ ให้เราถือใช้งานได้ทั้งวันกันเมือไม่กี่ปีนี้เอง แต่ก็อยากจะให้เก็บเอาไปคิดนิดนึงว่า

เราไม่เคยมองตรงๆ ไปที่แหล่งกำเนิดแสง คือเราไม่เคยต้องมองไปที่ดวงอาทิตย์ หรือหลอดไฟในบ้านตรงๆ อย่างมากก็แค่ใช้แสงของมันในการมองไปรอบๆ แต่ในปัจจุบัน เราจ้องไปยังหน้าจอมือถือและแท็บเล็ตซึ่งมันเป้นแหล่งกำเนิดแสง หน้าจอมันปล่อยแสงออกมาตรงๆ ซึ่งมันอยู่ใกล้กับดวงตาของเรามากๆ ห่างจากดวงตาเราประมาณแค่ 30 เซนติเมตรเท่านั้นเอง

แต่ไม่ว่าคุณจะติดฟิล์มป้องกันแสงสีฟ้าหรือไม่ติดก็ตามแต่ วิธีที่จะถนอมสายตาของเราง่ายๆ ก็คือการหยุดพักสายตาบ้าง รู้ว่าจ้องหรือเพ่งอะไรนานๆ ก็ให้หลับตาพักสัก 2-3 นาที หรือผ่อนคลายสายตาด้วยการมองไปไกลๆ สลับกับการมองใกล้ อันนี้ก็ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อดวงตาได้ครับ

Credit: droidsans.com

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : รู้จักข้อดีข้อเสียของแสงสีฟ้า อันตรายต่อดวงตา และฟิล์มตัดแสง Blue Light Cut