ปิดเมนู
หน้าแรก

Laptimer Michael Schumacher นาฬิกาจับเวลาที่เอาชนะ F1 ได้สำเร็จ

เปิดอ่าน 778 views

Laptimer Michael Schumacher นาฬิกาจับเวลาที่เอาชนะ F1 ได้สำเร็จ

“เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างนาฬิกาที่มีระบบกลไกสำหรับมอเตอร์สปอร์ต โดยเฉพาะให้สามารถจับและบันทึกเวลาความเร็วของรอบการแข่งรถที่วิ่งต่อเนื่องกันหลายๆ รอบ?”

นี่คือโจทย์ที่ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ อดีตแชมป์เปี้ยนฟอร์มูล่าวัน 7 สมัยผู้ยิ่งใหญ่และแบรนด์แอมบาสเดอร์ของAudemars Piguet มีให้กับทีมวิศวกรของแบรนด์นาฬิการะดับไฮเอนด์สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์เจ้านี้เมื่อปลายปี 2010 ซึ่งAudemars Piguet ก็แก้โจทย์อันแสนท้าทายนี้สำเร็จในเกือบอีกห้าปีต่อมา ด้วยการประกาศเปิดตัวเรือนเวลารุ่น Royal Oak concept Laptimer Michael Schumacher ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง

ความร่วมมือระหว่างตำนานนักแข่ง F1 ผู้นี้และ Audemars Piguet เป็นมากกว่าสัญญาทางธุรกิจในการจ้างเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ในปี 2012 ทั้งสองได้จับมือกันเปิดตัวรุ่น Royal Oak Offshore Chronograph Michael Schumacher นาฬิการุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น ที่ชูมัคเกอร์ร่วมออกแบบขึ้นมาซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สำหรับ Audemars Piguet แล้ว ชูมัคเกอร์เป็นทั้งแบรนด์แอมบาสเดอร์และสหายสนิทของแบรนด์ และความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้นหลังจากที่ชูมัคเกอร์ต้องพักรักษาตัวเนื่องจากอาการบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะหลังอุบัติเหตุขณะเล่นสกีเมื่อปลายปี 2013 ซึ่งส่งผลให้สปอนเซอร์จากแบรนด์ต่างๆ หดหายไปหมด จะมีก็เพียงแต่ Audemars Piguet เท่านั้นที่ยังยืนหยัดให้การสนับสนุนเขาอยู่ ครอบครัวของชูมัคเกอร์จึงเปิดไฟเขียวอย่างเต็มที่ให้แบรนด์ใช้ชื่อของชูมัคเกอร์ในการเปิดตัว Laptimer Michael Schumacher ที่อดีตแชมป์โลกผู้นี้มีส่วนร่วมในการสรรสร้างขึ้นมาด้วย ซึ่งผลงานชิ้นนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นมาสเตอร์พีซของนาฬิกาโครโนกราฟสำหรับกีฬามอเตอร์สปอร์ตเลยทีเดียว

 

แนวคิด


Audemars Piguet เล่าถึงแนวคิดในการพัฒนานาฬิการุ่นนี้ว่า “มิชาเอลอธิบายกับเราว่าเขาไม่ได้ต้องการทำนาฬิกาสำหรับใช้ในที่นั่งคนขับ แต่เขาอยากได้นาฬิกาที่สามารถจับเวลารอบการวิ่งของรถ F1 ได้อย่างแม่นยำจากขอบสนามแข่งสำหรับการสอนและแนะนำนักแข่งรุ่นใหม่ๆ หรือให้คำแนะนำกับทีมเรื่องการปรับปรุงสมรรถนะของรถที่ใช้ในการแข่งขัน” ซึ่งการสร้างนาฬิกาที่สามารถจับและเปรียบเทียบรอบเวลาของรถแข่งที่วิ่งต่อเนื่องกันหลายๆ รอบได้ในเรือนเดียวไม่ใช่งานง่ายๆ โดยที่ทำกันมาก็ใช้การตั้งนาฬิกาจับเวลาสองเรือนขึ้นไปในการจับเวลาและเปรียบเทียบรอบความเร็วในการฝึกซ้อม แต่ Audemars Piguet ก็เอาชนะความท้าทายนี้ได้สำเร็จ

แล้วนาฬิการุ่นนี้ทำงานอย่างไร?

Audemars Piguet Royal Oak Concept Laptimer Michael Schumacher เป็นนาฬิกากลไกโครโนกราฟที่มีเข็มวินาทีสองเข็ม ซึ่งทำงานแยกจากกันภายใต้ปุ่มควบคุม 3 อัน ซึ่ง 2 ใน 3 นี้เป็นปุ่มกดที่มีในนาฬิกาโครโนกราฟแบบดั้งเดิม โดยปุ่มกดอันแรกอยู่ตรงตำแหน่ง 2 นาฬิกาทำหน้าที่เริ่มและพักการทำงานของระบบโครโนกราฟ ในขณะที่ปุ่มที่ 2 ตรง 4 นาฬิกาเป็นตัวรีเซ็ตโครโนกราฟให้เริ่มต้นใหม่ที่ศูนย์ ที่เพิ่มเข้ามาและสร้างความโดดเด่นให้กับเรือนเวลารุ่นนี้คือปุ่มที่ 3 บนอีกด้านของตัวเรือนตรงตำแหน่ง 9 นาฬิกา

อ่านแล้วเหมือนจะซับซ้อน แต่ที่จริงมันก็เป็นความซับซ้อนในทางเทคนิคที่ทำให้การจับเวลาของเหตุการณ์หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาที่ทับซ้อนกันเป็นไปได้อย่างสะดวก ขออธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเป็น 3 สเต็ปครับ

สเต็ป 1:

เริ่มการทำงานของฟังก์ชั่นโครโนกราฟด้วยปุ่มกดที่ตำแหน่ง 2 นาฬิกา เข็มบอกเวลาเป็นวินาที 2 เข็มเริ่มเดิน (ทั้งสองเข็มถูกตรึงด้วยกันอยู่บนแกนกลางและเดินพร้อมๆ กันโดยมีเข็มหนึ่งซ้อนอยู่บนเข็มอีกอัน)

สเต็ป 2:

เมื่อกดที่ปุ่มตรงตำแหน่ง 9 นาฬิกา จะหยุดการทำงานของหนึ่งในเข็มวินาทีทั้งสองที่กำลังเดินอยู่และรีเซ็ตค่ากลับไปตั้งต้นที่ศูนย์ในทันที จากนั้นก็จะเริ่มทำงานจับเวลาใหม่

สเต็ป 3:

คุณสามารถดูเวลาของรอบการแข่งที่เพิ่งจับเวลาไปได้อย่างสบายๆ ในขณะเดียวกับที่จับเวลาของการแข่งอีกรอบหนึ่งไปด้วยพร้อมๆ กัน เนื่องจากเข็มวินาทีอันหนึ่งหยุดเดินอยู่นิ่งๆ และบันทึกเวลาในการแข่งที่คุณที่เพิ่งทำการจับเวลาไป

จะเห็นได้ว่ามันเป็นส่วนผสมระหว่างระบบโครโนกราฟแบบ Split second (จับเวลาของสองเหตุการณ์หรือมากกว่าที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้) และโครโนกราฟแบบ flyback (หยุดการทำงานและตั้งค่าเองใหม่โดยอัตโนมัติ) พร้อมกับจักรกลที่มีความจำพิเศษเพิ่มขึ้นมา สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดของ Laptimer Michael Schumacher รุ่นนี้ก็คือความเรียบง่ายในการใช้งานที่ใช้เพียงแค่ปุ่มกดเพียงปุ่มเดียว แต่กว่าจะสำเร็จออกมาเป็นความเรียบง่ายขนาดนี้ได้นั้นต้องอาศัยกลไกอันแสนซับซ้อนของเครื่องคาลิเบอร์ระบบโครโนกราฟที่ใช้กลไกการจับเวลาแบบเฟือง column wheel ถึง 3 ตัว

เฟือง column wheel ตัวแรกที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาเป็นแบบคลาสสิกที่ควบคุมการทำงานของโครโนกราฟให้เป็นไปตามลำดับ เริ่ม หยุด และรีเซ็ต เฟืองอีก 2 ตัวที่เหลือ (วางซ้อนกันอยู่) ตรง 12 นาฬิกาทำหน้าที่ควบคุมลำดับการจับเวลาของรอบที่แข่ง คล้ายคลึงกันกับฟังก์ชั่นโครโนกราฟแบบ split second ตัวเครื่องคาลิเบอร์ 2923 ที่ผลิตขึ้นโดย APRP (Audemars Piguet Renaud Papi) บริษัทผู้ผลิตเครื่องกลไกนาฬิการะดับสูงของ Audemars Piguet เองนั้นถือเป็นงานชิ้นมาสเตอร์พีซ ประกอบด้วยชิ้นส่วน 413 ชิ้น ขนาด 34.6 มม.x 12.7 มม. มีตลับลานสปริงแบบคู่ที่ทำให้สามารถสำรองพลังงานในตัวเองได้ 80 ชั่วโมง เครื่องกลที่ใช้การสั่นของเฟืองคู่แบบใหม่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันระบบโครโนกราฟไม่ให้เกิดการกระชากเมื่อหยุดหรือเริ่มทำงาน

ทั้งรูปลักษณ์และฟินิชชิ่งของตัวเครื่องเปี่ยมด้วยความเป็นโมเดิร์นอยู่ในทุกอณู (เช่นเดียวกันกับกลไกส่วนใหญ่ที่ผลิตโดย APRP) ประกอบขึ้นจากฐานตัวเรือนหลักและกระดูกงูรมดำ กระดูกงูชิ้นบนทำด้วยไทเทเนียมรมดำ กระดูกงูจักรกรอกสีดำ เฟือง column wheel เหล็กกล้าขัดเงาแล้วรมดำ คานเหล็กกล้าพ่นเนื้อทรายสีดำ ขดสปริงเหล็กกล้ารมดำ โมเดิร์นหมดจดตั้งแต่ดีไซน์ไปจนถึงวัสดุ รวมทั้งฟินิชชิ่งหรูหราประณีต

 ดีไซน์    

Laptimer Michael Schumacher มากับรูปลักษณ์ในสไตล์ Royal Oak Concept ซึ่ง Audemars Piguet ได้ใช้รูปทรงนี้ในคอลเล็คชั่นเรือนเวลากลไกซับซ้อนสูงมาแล้วหลายครั้งโดยมีวัตถุประสงค์หลักไว้เพื่อเป็นการโชว์คอนเซ็ปต์หรือเทคนิคมากกว่าที่จะเป็นนาฬิกาสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ดี Audemars Piguet ก็ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดของนาฬิกาสปอร์ต เพราะส่วนมากแล้วนาฬิกาสไตล์นี้ก็เป็นที่นิยมและเป็นเครื่องบอกเวลาที่แข็งแกร่ง ตัวเรือนขนาดความกว้าง 44 มม. ประกอบขึ้นด้วยชิ้นส่วนจำนวนหลากหลาย ส่วนที่เป็นตัวเรือนตรงกลางทำด้วยวัสดุ forged carbon ในขณะที่ขอบหน้าปัดรูปทรงแปดเหลี่ยมอันเป็นสัญลักษณ์ ขอบตัวเรือนด้านข้างและตัวเรือนด้านหลังนั้นทำด้วยไทเทเนียม ส่วนปุ่มกดโครโนกราฟเป็นเซรามิกสีดำและพิ้งค์โกลด์

หน้าปัดโปร่งเปิดมีรากฐานมาจากกระดูกงูรูปทรงทันสมัยหลายชิ้นที่เผยให้เห็นถึงองค์ประกอบด้านเทคนิคบางส่วน อาทิ เฟือง column wheel ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา บนหน้าปัดประกอบด้วยสัญลักษณ์บอกเวลาเป็นชั่วโมง นาที รวมทั้งเข็มวินาทีแบบคู่บนแกนกลางหน้าปัด ช่องบอกเวลา 30 นาทีตรง 3 นาฬิกาและช่องบอกเวลาเป็นวินาทีที่ 9 นาฬิกา (ซึ่งดูเหมือนจะมีไว้สำหรับตกแต่งเพื่อความสวยงามมากกว่าที่จะใช้ในการบอกเวลาแบบจริงจัง เพราะไม่มีช่องหน้าปัดย่อยที่ไหนมากับเวลาเป็นวินาทีที่เล็กขนาดนี้)

จากชื่อรุ่นก็ย่อมแน่นอนอยู่แล้วที่เราจะได้เห็นชื่อหรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับมิชาเอล ชูมัคเกอร์อยู่หลายที่บนนาฬิการุ่นนี้ อย่างเช่น ดาว 7 ดวงบนตัวเรือนด้านซ้ายเพื่อเป็นเกียรติให้กับการเป็นแชมป์เปี้ยน F1 7 สมัยของชูมัคเกอร์ หรือลายโมโนแกรม MS บนปุ่ม Laptimer ที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกาและด้านหลังตัวเรือน สายยางมีตัวล็อกแบบพับที่ทำด้วยไทเทเนียม

Audemars Piguet Royal Oak Concept Laptimer Michael Schumacher จะผลิตแบบลิมิเต็ดเอดิชั่นจำนวนเพียง 221 เรือนเท่านั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงจำนวนการแข่งขันเวิลด์แชมเปียนชิปที่ชูมัคเกอร์ลงแข่งทั้งหมดตลอดระยะเวลาในอาชีพนักแข่ง F1 ของเขา สนนราคาอยู่ที่เรือนละ 229,000 ดอลลาร์ โดยส่วนหนึ่งของรายได้จากการจำหน่ายนาฬิกาแต่ละเรือนจะนำไปมอบให้กับสถาบันวิจัยด้านสมองและกระดูกสันหลัง Institut du Cerveau et de la Moelle Epinière อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก

www.monocle.com

www.audemarspiguet.com

www.hodinkee.com

www.luxexpose.com

Lancia

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : Laptimer Michael Schumacher นาฬิกาจับเวลาที่เอาชนะ F1 ได้สำเร็จ