ปิดเมนู
หน้าแรก

ใคร ๆ ก็เป็นได้นะ “มะเร็งปอด” แม้จะไม่สูบบุหรี่!

เปิดอ่าน 11 views

ใคร ๆ ก็เป็นได้นะ “มะเร็งปอด” แม้จะไม่สูบบุหรี่!

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

จากเรื่องราวของอาจารย์แพทย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัย 28 ปี เจ้าของเพจ “สู้ดิวะ” ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแชร์เรื่องราวที่น่าตกใจที่เกิดขึ้นกับตนเอง เมื่ออาจารย์แพทย์ท่านนี้ตรวจพบว่าตนเองป่วยเป็น “มะเร็งปอดระยะสุดท้าย” ระยะที่เจ้าตัวบอกว่าไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกแล้วจะหายขาดได้อย่างแน่นอน นอกจากอาการป่วยที่รักษาไม่หาย ยังมีอีกสิ่งที่น่าประหลาดใจไม่แพ้กัน ซึ่งนั่นก็คืออาจารย์แพทย์ท่านนี้ไม่ใช่คนสูบบุหรี่ อีกทั้งที่ผ่านมาก็ดูแลร่างกายตัวเองมาโดยตลอด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารคลีน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยมาก ๆ สภาพแวดล้อมในการทำงานก็ไม่เครียด พักผ่อนปกติ แถมอายุก็ยังน้อยมาก ๆ แต่ท้ายที่สุดกลับตรวจเจอมะเร็งระยะสุดท้าย

จากเรื่องราวที่คุณหมอท่านนี้ได้แชร์ไว้เพื่อเตือนใจในเรื่องของ “สุขภาพ” ที่ขนาดดูแลตัวเองดีมาก ๆ ขนาดนี้ แต่สุดท้ายก็ยังเจอเข้ากับโรคร้ายในระยะสุดท้าย กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ใครหลายคนสงสัยว่าแล้วอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้คุณหมอป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายได้ ทั้งที่ตัวคุณหมอเองไม่ได้สูบบุหรี่และดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี แต่เมื่อมีการค้นหาข้อมูลประวัติของคุณหมอท่านนี้ พบว่าเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ไปเรียนหมอที่เชียงใหม่ และจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ต่างก็เป็นเมืองที่มีปัญหาเรื่องมลพิษทั้งสองเมือง ติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่เคยฮือฮากันหนักมากเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่จะมีโควิด-19

นั่นทำให้คนที่ได้อ่านเรื่องราวนี้และบรรดางานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 กลับมาตื่นตัวกันอีกครั้ง ว่าถ้าหากยังไม่มีการจัดการหรือแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันและมลพิษกันอย่างจริงจัง สักวันก็อาจจะเป็นตัวเราเองก็ได้ที่ต้องเจอเข้ากับเรื่องเซอร์ไพรส์แบบนี้ เพราะเรื่องราวของคุณหมอท่านนี้ไม่ใช่กรณีแรกและกรณีเดียว หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีตำรวจนายหนึ่งที่แชร์ประสบการณ์การป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่ตนเองไม่ได้สูบบุหรี่เช่นเดียวกัน และที่บ้านไม่มีใครสูบ รักการออกกำลังกายเป็นชีวิตจิตใจ แล้วอะไรที่ทำให้คนหนุ่มสุขภาพดีทั้ง 2 คนกลายเป็นโรคร้ายได้

ขึ้นชื่อว่า “มะเร็ง” ใคร ๆ ก็กลัว

โรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายที่ใคร ๆ ก็หวาดกลัว ตามรายงานแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ (พ.ศ. 2561-2565) ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคมะเร็งในโลก ระบุว่า โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี จึงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศ

ซึ่งหากดูข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็งจากองค์การอนามัยโลกในปีพ.ศ. 2561 จะพบว่าในปีนั้น ทั่วโลกพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวนกว่า 18.1 ล้านคน มีการระบุสถิติของโรคมะเร็งที่พบ 5 อันดับแรกในโลก ได้แก่ มะเร็งปอด 2.1 ล้านราย มะเร็งเต้านม 2.1 ล้านราย มะเร็งลำไส้ใหญ่ 1.8 ล้านราย มะเร็งต่อมลูกหมาก 1.3 ล้านราย และมะเร็งกระเพาะอาหาร 1.0 ล้านราย ในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตถึง 9.6 ล้านคน โดยพบว่าเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดถึง 1.8 ล้านรายเลยทีเดียว จากตัวเลขเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ตื่นกลัวกับโรคมะเร็ง เพราะมะเร็งถือเป็นโรคที่คุกคามสุขภาพคนทั้งโลก ซึ่งน่ากลัวไม่น้อยเลย

เนื่องจากมะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 1 ของโลก เราต้องเข้าใจก่อนว่า “ปอด” เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายและทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นอวัยวะของระบบหายใจที่ทำหน้าที่ในการหายใจ เพื่อนำแก๊สออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย และถ่ายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ปกติแล้วคนเราจะมีการแลกเปลี่ยนแก๊สในปอดประมาณวันละ 20 ลูกบาศก์ฟุต เท่ากับการหายใจเข้าออกประมาณ 17 ครั้งต่อนาที แต่ในกรณีที่กล้ามเนื้อทำงานหนัก จะหายใจได้ถี่ถึง 70-80 ครั้งต่อนาที

ทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าปอดจะขยายออก เมื่อหายใจออกปอดจะหดลง เมื่อหายใจเข้าเต็มที่ กล้ามเนื้อกะบังลมคลายตัว ทำให้กะบังลมถูกดันสูงขึ้นในขณะที่กระดูกซี่โครงก็ยุบตัว เป็นผลให้ทรวงอกแฟบลงบีบปอดให้ปล่อยอากาศออกไป ดังนั้น จึงควรฝึกหายใจให้ลึก ๆ เพื่อให้ได้ออกซิเจนเข้าไปให้ร่างกายได้ใช้แต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก ๆ เมื่อปอดมีความสำคัญต่อร่างกายจึงควรให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงต่อโรคร้ายต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำลายปอดได้มากที่สุด และนำมาซึ่งโรคต่าง ๆ

“มะเร็งปอด” ใคร ๆ ก็เป็นได้ ไม่จำเป็นต้องสูบบุหรี่

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกข้างต้น จะเห็นว่า “มะเร็งปอด” เป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตชาวโลกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มมะเร็งด้วยกัน โดยพบในผู้ชายเป็นอันดับ 1 และผู้หญิงเป็นอันดับ 3 ส่วนสถานการณ์มะเร็งปอดในไทย เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับ ซึ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองจะทำในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีประวัติเคยสูบบุหรี่ รวมถึงบุคคลที่ใกล้ชิดกับคนในครอบครัวที่สูบบุหรี่ รวมถึงการได้รับสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งทางอากาศ

จากข้อมูลงานวิจัยยังคงยืนยันว่าปัจจัยเสี่ยงของการป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดนั้น เกิดจากการสูบบุหรี่มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ไม่สูบ 10 เท่า และคนที่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ โดยตนเองไม่ได้สูบที่เรียกว่า Passive Smoker (ควันบุหรี่มือสอง) ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ยังเหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ ที่มาจากปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น ดังนั้น ในกรณีของอาจารย์แพทย์และนายตำรวจที่ไม่เคยสูบบุหรี่ จึงอาจจะเกิดจากการที่ปอดได้รับสารเคมีที่เป็นพิษหรือเป็นสารก่อมะเร็งจากการหายใจ

สำหรับสารเคมีหรือสารก่อมะเร็งที่สามารถเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้นั้น เช่น แร่ใยหิน ที่ถูกนํามาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าที่จะป่วยเป็นมะเร็งปอด แต่ถ้าคนที่สัมผัสแร่ใยหินด้วยแล้วสูบบุหรี่ด้วย โอกาสเป็นมะเร็งจะเพิ่มมากกว่าคนปกติ 90 เท่าเลยทีเดียว

หรืออีกปัจจัยเสี่ยงที่กำลังเป็นที่พูดถึงก็คือ ก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีอย่างหนึ่ง ที่ถ้าหากได้รับเข้าสู่ร่างกายจนสะสมมาก ๆ เข้า ก็มีโอกาสที่จะป่วยเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน สิ่งที่น่ากังวลก็คือ พื้นที่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย เป็นแหล่งก๊าซเรดอนจากใต้ดิน โอกาสที่ก๊าซนี้จะขึ้นมาสู่ผิวดินได้ง่ายขึ้น มีเรื่องของความรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

โดยก๊าซเรดอนนี้ละลายน้ำได้ มันจึงสามารถปนเปื้อนมากับน้ำที่เราใช้ทุกวันได้เช่นกัน ยิ่งตามพื้นที่ต่างจังหวัดที่มักมีการสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ ก็มีโอกาสที่เรดอนจะปนเปื้อนมากับน้ำบาดาลได้ ด้วยความที่ก๊าซนี้ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และมนุษย์ไม่อาจรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส ทำให้เราสามารถรับเอาเรดอนเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังมีสารอื่น ๆ อีกที่สามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งปอด เช่น สารหนู นิเกิล โครเมียม ตลอดจนมลพิษในอากาศ ไม่เว้นแม้แต่ PM2.5

PM2.5 เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการเป็นป่วยเป็นมะเร็งปอด เนื่องจากฝุ่น PM2.5 มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอนเท่านั้น มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เราสามารถหายใจเอาฝุ่น PM2.5 ลงปอดไปโดยไม่รู้ตัวและยากที่จะป้องกัน ยกเว้นหน้ากากอนามัยมาตรฐาน N95 ซึ่งในช่วงหนึ่งเคยมีการรณรงค์ให้สวมใส่หน้ากากชนิดนี้เพื่อป้องกันการหายใจเอาฝุ่น PM2.5 ลงปอด เพราะถ้าหากฝุ่นอนุภาคนี้เข้าไปอยู่ในปอดเราเป็นจำนวนมากและรับมาอย่างยาวนาน ก็จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ และอาจกลายเป็นมะเร็งปอดในที่สุด สำหรับคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว เมื่อรับ PM2.5 เข้าไปอีก ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดก็จะยิ่งทวีคูณขึ้นไปเป็น 2 เท่าเลยทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีสถิติเก่าที่ระบุชัดเจนในงานวิจัยของของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าคนที่อยู่อาศัยในภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดและเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ มีความกดอากาศสูง ทำให้ฝุ่น PM2.5 กระจายอยู่ในพื้นที่ราบแอ่งก้นกระทะ รวมถึงการสูดดมก๊าซเรดอน อันเกิดจากการสลายตัวของเรเดียมหรือยูเรเนียม ก๊าซนี้มีอยู่มากผิดปกติกระจายตัวใต้พื้นดินสู่ผิวดิน

สัญญาณเตือนของมะเร็งปอด

เนื่องจาก “มะเร็งปอด” เป็นหนึ่งในมะเร็ง ที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง และติดอันดับโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรกทั้งในผู้ป่วยเพศชายและเพศหญิง โดยส่วนใหญ่ มะเร็งปอดมักจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกโรคได้เมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น ซึ่งอาการก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ตำแหน่งของก้อนที่เกิดขึ้น โดยอาการทั่วไปที่พบได้ ได้แก่

  • ไอเรื้อรัง
  • ไอมีเสมหะปนเลือด ไอมีเลือดสด
  • เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอก
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้
  • หายใจมีเสียงดังผิดปกติ
  • เสียงแหบ
  • มีการบวมที่หน้า คอ แขน และหน้าอก
  • กลืนลำบาก
  • มีตุ่มหรือก้อนที่ผิวหนัง

อย่างไรก็ดี การตรวจสุขภาพประจำปี เราไม่อาจเจอ “มะเร็งปอด” ได้จากตรวจ x-ray ปอด เพราะกว่าจะตรวจพบความผิดปกติ ก็มักจะเจอตอนที่เป็นก้อนที่ค่อนข้างใหญ่ หรือลุกลามไปทั่วแล้ว ทำให้ไม่สามารถทำการรักษาโดยการผ่าตัดให้หายขาดได้ กรณีเดียวกันกับที่อาจารย์แพทย์ท่านนี้ ที่เจอเมื่ออาการเริ่มหนักจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย และภาพจากการ x-ray ปอด พบว่าปอดถูกกัดกินจนหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง

มะเร็งปอด อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เพราะเราหายใจอยู่ทุกวันโดยที่ไม่รู้ว่าเอาอะไรลงไปสู่ปอดบ้าง ดังนั้น แค่การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอาจไม่เพียงพออีกแล้ว เราควรรู้ว่าปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ มีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้หาทางหลีกเลี่ยงจากปัจจัยเหล่านั้นได้ไม่มากก็น้อย แม้ว่าโควิด-19 อาจหมดไปในอนาคตจนเราไม่จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอีกต่อไป แต่ถ้าสถานการณ์เช่นนี้การสวมใส่หน้ากากไว้จึงอาจช่วยให้เราปลอดภัยได้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นเราก็อาจจะเป็นเหมือนกับอาจารย์แพทย์หนุ่มที่อนาคตไกล กลายเป็นคนที่มีเวลาชีวิตจำกัดขึ้นมาทันที จำกัดที่ไม่รู้ว่าอยู่ได้นานแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ คุณหมอพิมพ์ไว้ในโพสต์ว่า “ไม่ได้แก่ตายแน่นอน”

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ใคร ๆ ก็เป็นได้นะ “มะเร็งปอด” แม้จะไม่สูบบุหรี่!