ปิดเมนู
หน้าแรก

7 สัญญาณเตือน ที่สายฟิตควรพาตัวเองไป “ตรวจร่างกาย” เสียที!!

เปิดอ่าน 262 views

7 สัญญาณเตือน ที่สายฟิตควรพาตัวเองไป “ตรวจร่างกาย” เสียที!!

ขนาดงานที่ว่ายุ่ง คนรักสุขภาพอย่างเรายังสามารถพาร่างตัวเองไปฟิตที่ยิมได้ นับประสาอะไรกับการตรวจร่างกายแค่ปีละครั้ง ทำไมเราจะหาเหตุผลดีๆ เพื่อพาร่างกายตัวเองไปเช็คก่อนสายไม่ได้ ? แต่หากคุณไม่รู้เหตุผลดีๆ ที่จะหวงแหนสุขภาพตัวเอง เอาเป็นว่ามาดูแล้วกันว่ามีสัญญาณอะไรบ้างที่จะกระตุ้นให้คุณไปหาหมอเพื่อตรวจร่างกายก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้ตรวจ เพราะสายเกินไป…

1. ครบกำหนดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งแล้ว

สัญญาณเตือนแรกเอาง่ายๆ เลยแล้วกัน ก็ถ้าคุณจะเคยตรวจสุขภาพมาก่อนแล้ว เมื่อครบกำหนด 1 ปี คุณก็ควรกลับไปตรวจอีกครั้ง แม้คุณอาจคิดว่ายังไม่มีอาการผิดปกติใดเลยก็ตาม โดยให้เตรียมตัวโดยการงดอาหาร (แต่ดื่มน้ำเปล่าได้) การตรวจเช็คอัพประจำปีเหมาะกับผู้รักสุขภาพทั้งนักกีฬาและไม่ใช่นักกีฬาครับ เพราะการตรวจสุขภาพทั่วไปจะมีเรื่องของน้ำตาล ไขมัน ปัสสาวะ ฯลฯ ซึ่งช่วยให้คุณรู้สถานะตัวเอง ณ ปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้างในเรื่องของการดูแลสุขภาพทั่วไป อย่างน้อยจะได้รู้ว่าต้นทุนเดิมของตัวเองเป็นอย่างไรเพื่อจะได้ตั้งเป้าได้หลังออกกำลังกาย

2. ออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก

นอกจากคอยดูตาชั่งแล้ว ต้องหมั่นตรวจการทำงานของอวัยวะต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะตับ ไต และหัวใจ ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปได้ เป็นต้นว่าถ้าเดิมมีน้ำหนักตัวเกินอีกทั้งไขมันจุกตับ เมื่อออกกำลังกายไปได้ระยะหนึ่งแล้วควรตรวจตับซ้ำด้วยการเจาะเลือดและอัลตราซาวนด์ดูเรื่องไขมันที่พอกอยู่ด้วย นอกจากนั้นคนที่มีปัญหาไขข้อควรตรวจความเสื่อมกระดูกภายหลังน้ำหนักตัวลดว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

3. กินยาลดไขมัน

ยาลดไขมันกลุ่มสแตตินเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกล้ามเนื้อ เพราะทำให้มีอาการ “ปวด” ตามตัวได้ ซึ่งในผู้ที่เล่นกีฬาหลายอย่างจะทำให้เบื่อไม่อยากออกกำลังกาย หรืออย่างที่ผมเคยเจอว่าเลิกไปเลยก็มี เพราะคิดว่าเป็นความปวดซึ่งมาจากตัวเอง “อายุมากขึ้น” จึงทำให้นึกถึงคนยุคนี้ที่กินยาลดไขมันตั้งแต่อายุยังน้อย ก็มีสิ่งที่ควรตรวจเช็คอยู่เสมอคือ “ตับ” กับ “กล้ามเนื้อ” นั่นเอง

4. เหนื่อยง่ายผิดปกติ

ถ้าคุณออกกำลังกายมาตลอดไม่เคยขาด แล้วจู่ๆ รู้สึกเปลี่ยนไป เป็นต้นว่าเหนื่อยง่ายขึ้น ใจสั่น โดยเฉพาะมีอาการแน่นหน้าอก เหงื่อออก หรือคล้ายจะหายใจไม่ทัน ถ้ามีอาการอย่างนี้ขออย่าคิดว่าร่างกายอ่อนแอเสมอไป จนต้องฝืนออกกำลังต่อเพื่อให้ “ทนขึ้น” เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่ตรวจพบได้จากเลือด อาทิ โลหิตจาง หลอดเลือดหัวใจตีบ หอบหืดกำเริบ อาการขาดเกลือแร่บางชนิด หรือโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถ “ตรวจเลือด” และเช็คอัพร่างกายเพื่อหาต้นตอที่ก่อเรื่องได้

5. มีอาการวูบหน้ามืด

ออกกำลังแล้วเหมือนกับจะวูบไป ใจเต้นเร็วผิดปกติ อ่อนเพลียเวลาออกแรงคล้ายจะเป็นลม ขอให้หาเวลาตรวจสุขภาพดูสักครั้งโดยจุดที่ควรตรวจเจาะจงลงไป ได้แก่ ความดันโลหิต หัวใจ และระบบประสาท ซึ่งคนที่มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแบบนักกีฬา (Dilated Cardiomyopathy) ก็มีความเสี่ยงที่จะ “วูบคาสนาม” หรือคาเครื่องวิ่งเทรดมิลล์ได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรระวังอาการเตือนทั้งหลายไว้ให้ดี

6. ออกกำลังแล้วยังคุมน้ำหนักไม่ได้

สาเหตุที่น้ำหนักตัวไม่ลด หรือยิ่งออกยิ่งเพิ่ม (โดยไม่ได้แวบกินชาบูหรือปิ้งย่างหลังจากออกกำลังเสร็จ) ต้องตรวจดูว่ามีความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ด้วยหรือไม่ ทว่าคนที่มีปัญหาโรคต่อมไร้ท่ออื่นๆ ก็มีสิทธิ์น้ำหนักขึ้นแบบผิดปกติได้ เช่น ต่อมหมวกไตมีปัญหาโรค “คุชชิ่ง” ก็ทำให้อ้วนลงพุงแบบป่องกลางได้ เพราะฮอร์โมนคอร์ติซอลที่มากเกินไป เช่นเดียวกับคนที่ใช้ “สเตียรอยด์” ไม่ว่าจะเพื่อรักษาโรคแพ้ภูมิหรืออื่นๆ ก็ทำให้เกิดภาวะคล้ายกับคุชชิ่งได้ ถ้าไปตรวจเลือดก็ขอให้เน้นตรวจฮอร์โมนต่อมไร้ท่อที่ว่านี้ด้วย

7.  น้ำหนักตัวลดผิดปกติ

แม้การออกกำลังช่วยให้น้ำหนักตัวลงได้ แต่ถ้ายิ่งออกกำลังแล้วยิ่งผอมเอาผอมเอา ไขมันละลายแถมกล้ามเนื้อหายไปด้วย ดูผ่ายผอมจนเพื่อนทัก ถ้าเป็นอย่างนี้คงต้อง “ตรวจละเอียด” เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น ตัวการที่ขโมยน้ำหนักตัวของคุณคืออะไรกันแน่ ทั้งนี้มีโรคที่ฉุดน้ำหนักตัวให้ลดอย่างเอาเป็นเอาตายอย่างเช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวานที่ไม่รู้ตัว เนื้องอกโดยเฉพาะมะเร็งทางเดินอาหาร วัณโรค หรือแม้แต่โรคต่อมหมวกไตทำงานน้อยผิดปกติ (Addison’s Disease) จึงควรรีบไปเช็คอัพอย่ารอช้าเพราะว่ามันอาจดึงโปรตีนจากกล้ามเนื้อไปจนสลายเสียหมด

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาการผิดปกติของนักเข้ายิม ซึ่งไม่ควรทิ้งไว้นานและขออย่าคิดว่าเป็นการเสียฟอร์มที่จะแจ้งอาการป่วยของคุณกับเทรนเนอร์ เพราะเมื่อไรที่เกิดอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา มันอาจทิ้งเวลาให้เราเร่งแก้ไขไม่นานนัก จึงไม่อยากให้คุณต้องเสียโอกาสทองของการดูแลทั้งภายในและภายนอกให้แกร่งอยู่เสมอ เพราะการเช็คอัพถือเป็นเรื่องดีเหมือนกับที่เราต้องพาพาหนะคู่ใจไปเช็คเครื่องให้ทรงพลังอยู่เป็นระยะนั่นแหละ

       

credits:    

เรื่อง นพ.กฤษดา ศิรามพุช

Men’sHealth Thailand

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : 7 สัญญาณเตือน ที่สายฟิตควรพาตัวเองไป “ตรวจร่างกาย” เสียที!!