ปิดเมนู
หน้าแรก

ไขปัญหาข้องใจ “ไซนัสอักเสบ” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เปิดอ่าน 283 views

ไขปัญหาข้องใจ “ไซนัสอักเสบ” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ไขปัญหาข้องใจ “ไซนัสอักเสบ” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ไซนัส คืออะไร ? 

ไซนัส ก็คือ โพรงอากาศเล็กๆ ที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะบริเวณรอบๆ จมูก โดยจะมีทางเชื่อมสำหรับเปิดโพรงจมูกอยู่หลายจุดทั้งด้านซ้ายและด้านขวา มีหน้าที่ให้ความอบอุ่นและความชื้นแก่อากาศที่เราสูดเข้าไปในทางเดินหายใจ อีกทั้งยังช่วยในการปรับเสียงพูด ช่วยในเรื่องของการรับรู้กลิ่น รวมถึงสร้างเมือกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก 

ภายในเยื่อบุโพรงไซนัส (โพรงอากาศ) จะมีขนอ่อน หรือที่เรียกกันว่า Cilia ทำหน้าที่โบกพัดเพื่อระบายเอาเมือกที่เป็นเสมหะ หรือน้ำมูกออกมา ซึ่งในภาวะปกติจะมีการระบายของเมือกที่สร้างขึ้นในโพรงไซนัสลงมาที่รูเปิดในโพรงจมูกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก แต่ถ้าหากรูนั้นถูกปิดกั้นจากอาการต่างๆ อาทิ อาการเป็นหวัด ที่เยื่อบุจมูกและไซนัสจะมีลักษณะที่อักเสบบม อาการติดเชื้อ หรือภูมิแพ้ ผนังกั้นจมูกคด หรือมีริดสีดวงจมูก ก็จะทำให้เมือกในโพรงไซนัสไม่สามารถระบายเมือกออกมาได้ ทำให้เกิดการสะสมหมักหมมจนกลายเป็นแหล่งอาหารสำหรับเชื้อโรคที่ใช้ในการเจริญเติบโตลุกลามจากโพรงจมูกเข้าไปในโพรงไซนัส ส่งผลให้เยื่อบุไซนัสอักเสบบวม ขนอ่อนในโพรงไซนัสสูญเสียหน้าที่ในการขับเมือก อีกทั้งการสะสมของเมือกก็จะมีมากขึ้นกลายเป็นหนองขังอยู่ในโพรงไซนัส เป็นเหตุให้เกิดอาการของโรคไซนัสอักเสบได้

ประเภทของอาการไซนัสอักเส 

อาการของไซนัสอักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็นดังนี้ 

  • ชนิดเฉียบพลัน มีอาการน้อยกว่า 30 วัน
  • ชนิดกึ่งเฉียบพลัน มีอาการอยู่ระหว่าง 30 – 90 วัน
  • ชนิดเรื้อรัง มีอาการมากกว่า 90 วัน

อาการอักเสบอาจเกิดขึ้นกับไซนัสได้ทุกตำแหน่ง ได้แก่ 

  • ไซนัสข้างตา (Ethmoid sinus)
  • ไซนัสหน้าผาก (Frontal sinus)
  • ไซนัสโหนกแก้ม (Maxillary sinus) เป็นไซนัสประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด
  • ไซนัสที่อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ (Sphenoidal sinus)

ไซนัสอักเสบ นับเป็นโรคติดต่อหรือไม่ ? 

ไซนัสอักเสบ นั้นไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคเฉพาะที่เกิดขึ้นกับบุคคลซึ่งสามารถพบได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศชื้น อีกทั้งยังสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ประมาณ 3 – 5% ของผู้ป่วยที่มาตรวจที่คลินิกหู คอ จมูก ส่วนใหญ่มักตรวจพบว่าอาการไซนัสอักเสบนั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัด ยิ่งในเด็กยิ่งพบมาก เพราะมีโอกาสเป็นหวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่

นอกจากนี้ อาการไซนัสอักเสบที่พบในผู้ป่วยยังพบว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคจมูกอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้ , โรคเยื่อจมูกอักเสบ (Purulent rhinitis), ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps), ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated nasal septum), รากฟันเป็นหนอง เป็นต้น อีกทั้งผู้ป่วยอาจจะมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว อาทิ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ , โรคหืด , โรคผิวหนัวอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) 

โดยทั่วไปกว่า 0.5% ของผู้ป่วยที่เป็นหวัดจะมีโอกาสเกิดไซนัสอักเสบตามมา ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) ก็จะมีอาการไซนัสอักเสบร่วมด้วยประมาณ 40 – 50%

ลักษณะอาการเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ 

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน 

ในผู้ใหญ่มักมีอาการปวดที่บริเวณใบหน้าเมื่อเกิดการอักเสบ เช่น ปวดที่บริเวณหัวตา , หน้าผาก โหนกแก้ม , รอบๆ กระบอกตา , หลังกระบอกตา ในบางรายอาจรู้สึกคล้ายกับปวดฟันตรงซี่บน ซึ่งอาจปวดเพียงข้างเดียว หรือปวดทั้งสองข้าง โดยอาการปวดจะเป็นแบบตื้อๆ หรือหน่วงๆ ในบางครั้งจะมีอาการมึนศีรษะร่วมกับการปวด อีกทั้งอาการปวดมักจะเกิดขึ้นในตอนเช้า หรือบ่ายเวลาที่ก้มศีรษะ หรือเปลี่ยนท่า 

ผู้ป่วยที่มีเป็นไซนัสเฉียบพลันจะมีอาการคัดแน่นจมูกอยู่ตลอดเวลา พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลือง หรือเขียว หรืออาจมีเสมหะข้นเหลือง หรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ ทำให้ต้องคอยสูด หรือขากออก ในบางรายอาจมีไข้สูงจนหนาวสั่น ซึ่งในขณะที่มีไข้นั้นก็จะมีอาการปวดศีรษะและปวดบริเวณใบหน้าร่วมด้วย รวมถึงยังมีอาการอ่อนเพลีย ไอเรื้อรังเป็นเวลานาน เจ็บคอ ระคายคอ เสียแหบ ปวดหู หูอื้อ หายใจมีกลิ่นเหม็น อีกทั้งความรู้สึกในการรับรู้กลิ่น หรือลดชาติก็ลดลงไปด้วย

ผู้ป่วยไซนัสเรื้องรังที่เป็นเด็ก

ในป่วยเด็กที่มีอาการไซนัสเรื้อรังนั้นมักมีอาการที่ไม่ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่ แต่เมื่อเป็นหวัดก็มักมีระยะเวลานานกว่าปกติกว่าจะหาย ยกตัวอย่าง เมื่อเป็นหวัดทำให้มีน้ำมูก แต่น้ำนั้นอาจใส หรือข้นเป็นหนอง มีอาการไอติดต่อกันนานกว่า 10 วัน ซึ่งมักจะไอในช่วงกลางวันและกลางคืน รวมถึงมีไขต่ำและหายใจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย ในเด็กบางราย อาจแสดงอาการเป็นหวัดที่รุนแรงกว่าปกติ เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส มีน้ำมูกข้นเป็นหนอง มีอาการปวดที่บริเวณใบหน้า หลังตื่นนอนก็จะสังเกตเห็นได้ว่าจะมีอาการบวมรอบๆ ดวงตา นอกจากนี้ ในเด็กที่มีอาการของหูอักเสบเรื้อรังและหอบหืด ก็ควรนึกถึงว่าอาจมีความเสียงที่จะเป็นไซนัสอักเสบเผื่อไว้ด้วย อีกทั้งในเด็กบางรายที่ป่วยเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการกำเริบมากกว่าปีละ 6 ครั้ง แต่ละครั้งจะนานกว่า 10 วัน 

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง 

ผู้ป่วยที่มีอาการไซนัสอักเสบเรื้อรังมักมีอาการต่อเนื่องทุกวันนานเกิน 90 วัน ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ มักจะมีอาการคัดแน่นจมูก มีเสมหะข้นเหลือง หรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ เมื่อหายใจก็จะมีกลิ่นเหม็น มีความรู้สึกในการรับรู้กลิ่น หรือรสชาติลดลง แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้แบบที่พบในไซนัสอักเสบเฉียบพลัน 

ผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรังที่เป็นเด็กมักมีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อหายใจจะมีกลิ่นเหม็น มีโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน หรือหูชั้นกลางอักเสบซ้ำซาก

วิธีป้องกันไซนัสอักเสบ 

เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดอาการไซนัสอักเสบ หรือลดอาการรุนแรงที่เกิดขึ้น ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ 

    1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ขั้นแรกให้ออกกำลังกายเป็นประจำแบบไม่ต้องหักโหม เพื่อเป็นการเสริมสร้างให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค ต่อมาให้พักให้เพียงพอ อย่าอดนอน หรือนอนดึกบ่อยๆ เพราะหากร่างกายอ่อนแอก็จะมีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย และสุดท้าย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทุกวัน โดยให้ลด หรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ด้วย
    2. ให้หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ อย่าง มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ และกลิ่นที่ผิดปกติ โดยแนะนำให้อยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีเกสรดอกไม้ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
    3. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือกระโดดน้ำ เมื่อมีอาการคล้ายกับหวัดกำเริบ
    4. หลีกเลี่ยงภาวะที่อุณหภูมิมีการแปรเปลี่ยนฉับพลัน อาทิ การเข้าๆ ออกๆ ห้องปรับอากาศ หรือการอยู่ในรถยนต์ที่ตากแดดร้อนๆ เป็นเวลานานๆ เป็นต้น
    5. ไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกโดยที่ไม่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ 
    6. ควรเดินทางไปรับการตรวจโพรงจมูก จาก แพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก ปีละครั้ง
    7. พยายามดูแลตัวเองไม่ให้เป็นหวัด เพราะหากเราเป็นหวัดก็สามารถทำให้เป็นไซนัสอักเสบได้
    8. การป้องกันไซนัสไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก สามารถทำได้โดยพยายามแก้ไขและป้องกันไม่ให้มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาซ้ำได้อีก เช่น การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และหากมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ว่าจะเป็น โรคหวัด โรคคออักเสบ หรือฟันผุ จะต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว แต่ถ้าหากเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นช่องจมูกคด เหล่านี้ก็ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม
    9. สำหรับผู้ที่เป็นหวัด มีน้ำมูก หรือมีเสมหะในคอในลักษณะข้นเหลือง หรือเขียว เป็นหวัดต่อเนื่องติดต่อกันนานกว่าปกติ (นานเกิน 10 วัน) หรือเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แนะนำว่าควรจะไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะเป็นผลที่เกิดจากไซนัสอักเสบ

ใครจะคิดว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ หรือใบหน้านั้นจะมีผลมาจากการที่เราไม่สบาย หรือเกิดความเครียดเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นอาการที่บอกถึงความไม่แข็งแรงและการมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ต่ำกว่าปกติ ฉะนั้น เราจึงควรหันมาเริ่มต้นออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงดูแลตัวเองให้ดีในทุกๆ ด้าน เราจะได้เอาเวลาที่มีอยู่ไปทำสิ่งต่างๆ ที่มีประโยชน์ หรือสิ่งที่เราอยากทำ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเข้าโรงพยาบาล หรือรักษาอาการไซนัสให้เปลืองเวลา เพราะชีวิตเรายังต้องอยู่เพื่อตัวเองและเพื่อคนอื่นๆ ไปอีกนาน

credit: health.sanook.com

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ไขปัญหาข้องใจ “ไซนัสอักเสบ” เกิดขึ้นได้อย่างไร?