ปิดเมนู
หน้าแรก

“เมลาโทนิน” ช่วยให้หลับสบาย แต่ปลอดภัยต่อร่างกายจริงหรือ

เปิดอ่าน 16 views

“เมลาโทนิน” ช่วยให้หลับสบาย แต่ปลอดภัยต่อร่างกายจริงหรือ

ใครที่มีปัญหานอนไม่หลับ อาจจะคุ้นเคยกับ “เมลาโทนิน” เป็นอย่างดี แม้จะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่หากกินเป็นประจำ จะส่งผลไม่ดีต่อร่างกายในอนาคตหรือไม่ ปลอดภัยมากแค่ไหน

เมลาโทนิน ตัวช่วยของคนนอนไม่หลับ

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย จากเฟซบุ๊กเพจ PleaseHealth Books ระบุว่า เมลาโทนิน (Melatonin) ในบางประเทศจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่หาซื้อได้ง่ายตามอินเตอร์เน็ต และยังมีการทำเป็นรูปแบบเยลลี่รสหวานรับประทานง่ายเหมือนขนม

เมลาโทนิน คืออะไร

เมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ต่อมไพเนียลในสมองของเราหลั่งออกมาตามธรรมชาติในยามค่ำคืน เพื่อให้เรารู้สึกง่วงและนอนหลับพักผ่อน ร่างกายได้มีเวลาซ่อมแซมตัวเอง แต่ในบางสถานการณ์ เช่น การเดินทางเปลี่ยนไทม์โซน การทำงานเป็นกะ รวมถึงอายุที่มากขึ้น อาจส่งผลรบกวนการหลั่งของเมลาโทนิน ทำให้มีอาการนอนไม่หลับได้

เมลาโทนิน ใช้ได้กับใครบ้าง?

บางประเทศจัดให้เมลาโทนินเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ในบางประเทศรวมถึงไทยเรา จัดเมลาโทนินเป็นยา ที่ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ โดยมีข้อบ่งชี้เช่น นอนไม่หลับจากการทำงานเป็นกะ นอนไม่หลับจากการเดินทาง (jet lag) หรือโรคของความผิดปกติจากการนอนอื่นๆ

การใช้เมลาโทนินในคนทั่วไป

จากข้อมูลในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีเทรนด์การใช้เมลาโทนินเพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 4-17 ปี มีการใช้เมลาโทนินเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า และยังพบการใช้เมลาโทนินในโดสที่สูงคือ มากกว่า 5 มิลลิกรัม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว โดสที่ใช้เริ่มต้นโดยทั่วไปคือ 2-5 มิลลิกรัม และบางงานวิจัยพบว่า สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการปรับนาฬิกาชีวภาพ โดสเพียง 0.5 มิลลิกรัมก็เพียงพอแล้ว

เทรนด์การซื้อเมลาโทนินกินเองในปริมาณที่จัดว่าสูงนี้ จึงนำมาสู่ความวิตกกังวลถึงผลข้างเคียงต่างๆ และผลในระยะยาวที่ยังไม่มีการศึกษาเพียงพอที่จะสรุป

ผลข้างเคียงและความเสี่ยงต่างๆ จากการกินอาหารเสริม หรือยาเมลาโทนิน

การซื้อเมลาโทนินหรือเยลลี่ง่วงนอนที่มีส่วนผสมของเมลาโทนินมารับประทานเองนั้น จัดเป็นความเสี่ยง โดยมีผลข้างเคียงที่พบได้คือ 

  • ปวดศีรษะ 
  • อ่อนเพลีย 
  • ง่วงระหว่างวัน 
  • ฝันร้าย 
  • การศึกษาในผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันโลหิตว่าอาจส่งผลเพิ่มความดันโลหิตได้ หากรับประทานยาร่วมกับเมลาโทนิน 

ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาวนั้น ยังไม่มีงานวิจัยที่จะสรุปได้ว่ามีความปลอดภัย 100% ในการใช้ระยะยาวในปริมาณสูงสำหรับผู้ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

สรุปว่า แม้เมลาโทนินจะเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายเราผลิตเองโดยธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าการนำมารับประทานเสริมจะปลอดภัยไร้ผลข้างเคียง 

วิธีลดปัญหานอนไม่หลับ โดยไม่ต้องพึ่งเมลาโทนิน

สำหรับผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ควรใช้วิธีปรับพฤติกรรมโดย

  1. เลี่ยงการทำงานที่เครียด การใช้มือถือหรือแท็บเล็ตช่วง 2 ชั่วโมงก่อนนอน
  2. เลี่ยงการใช้แสงสว่างมากในห้องนอน เช่น ไฟนีออน
  3. ห้องนอนควรเงียบ เย็น และมืดสนิท ไม่ควรใช้ห้องนอนทำกิจกรรมอื่นนอกจากการนอน
  4. เลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม หลังเที่ยงวัน
  5. เลี่ยงการออกกำลังหนักในช่วงก่อนนอน
  6. พยายามเข้านอนและตื่นให้เป็นเวลาสม่ำเสมอในแต่ละวัน
  7. ตอนเช้าพยายามออกกำลังกลางแจ้ง ให้ร่างกายได้เจอแสงแดดตามธรรมชาติ

ถ้าอาการนอนไม่หลับยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และหากจำเป็นต้องใช้เมลาโทนิน ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : “เมลาโทนิน” ช่วยให้หลับสบาย แต่ปลอดภัยต่อร่างกายจริงหรือ