ปิดเมนู
หน้าแรก

ผู้ป่วยโรค “หัวใจ” ผ่าตัดได้ไหม ในช่วง “โควิด-19”

เปิดอ่าน 33 views

ผู้ป่วยโรค “หัวใจ” ผ่าตัดได้ไหม ในช่วง “โควิด-19”

สิ่งที่ผู้ป่วยหัวใจควรรู้ เมื่อต้องผ่าตัดรักษาช่วงโควิด-19

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจส่งผลกระทบกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายโรคที่ต้องติดตามผลหรือเช็กสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยที่ต้องได้รับการรักษาหรือเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ แต่ด้วยสภาวะไม่ปกติขณะนี้ผู้ป่วยและครอบครัวอาจเกิดความกังวลใจในความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19

ผู้ป่วยโรค “หัวใจ” ผ่าตัดได้ไหม ในช่วง “โควิด-19”

นพ.วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหัวใจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การผ่าตัดรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ต้องเป็นการผ่าตัดในภาวะฉุกเฉินหรือภาวะเร่งด่วน และเป็นการผ่าตัดที่พิจารณาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเท่านั้น โดยผู้ป่วยและผู้ดูแลจะต้องตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ภายใน 72 ชม. ก่อนผ่าตัด หากต้องเข้ารับการผ่าตัดทันทีโดยไม่สามารถรอผลตรวจหาเชื้อได้ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจติดเชื้อโควิด-19 แล้วต้องผ่าตัดทันที แพทย์สามารถทำการผ่าตัดรักษาได้ทันทีภายใต้มาตรการป้องกันการติดเชื้อในทุกกระบวนการเพื่อความปลอดภัยที่สูงที่สุด 

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์จะพิจารณาเลื่อนผ่าตัดออกไปก่อนประมาณ 3-6 เดือน เพื่อให้สถานการณ์โควิด-19 เป็นที่ไว้วางใจและลดความกังวลใจให้กับผู้ป่วยในการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์เป็นสำคัญ

ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ได้รับเชื้อโควิด-19 มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 20% และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในการรักษา อาจตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน และใช้เวลาในการรักษาที่นานขึ้นกว่าปกติ ฉะนั้นการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโควิด-19 จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด 

ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรปฏิบัติตนอย่างไร เพื่อลดเสี่ยงโควิด-19

  1. เลี่ยงการออกนอกบ้าน โดยเฉพาะการไปที่ชุมชนหรือพบเจอผู้คนจำนวนมาก
  2. ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาหรือทุกครั้งที่ออกจากบ้าน และหากอยู่ในบ้านกับผู้มาจากที่อื่นควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยเช่นเดียวกัน
  3. ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งต่าง โดยเฉพาะเวลาสั่งอาหารหรือสั่งของไม่ควรรับโดยตรง เมื่อได้รับของแล้วควรฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ทันที หลังจากแกะของแล้วควรทำความสะอาดก่อนนำไปใช้งาน นอกจากนี้การชำระเงินควรเป็นการจ่ายแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ควรใช้เงินสดเพราะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
  4. แยกกันรับประทานอาหาร เว้นระยะห่างและรับประทานในจานของตัวเองเท่านั้น หากจำเป็นจะต้องรับประทานอาหารร่วมกันต้องมีช้อนส้อมส่วนตัวและช้อนกลางแยกของแต่ละคน 
  5. ไม่ควรใช้ห้องน้ำร่วมกัน หากมีความจำเป็นควรให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำใช้ห้องน้ำก่อนแล้วตามด้วยผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ควรทำความสะอาดห้องน้ำและใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดอีกครั้งก่อนออกจากห้องน้ำ
  6. ผู้ที่ดูแลหรือใกล้ชิดผู้ป่วยโรคหัวใจต้องดูแลตัวเองให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อเช่นเดียวกัน 
  7. รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อตรวจปัจจัยเสี่ยงและการควบคุมโรคว่าเป็นไปด้วยดีหรือไม่ เพื่อที่แพทย์จะได้ปรับการรักษาและการรับประทานยาให้เหมาะสมและป้องกันการเกิดความรุนแรงของโรค 

เมื่อจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือให้บ่อย และรีบกลับทันทีเมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ผู้ป่วยโรค “หัวใจ” ผ่าตัดได้ไหม ในช่วง “โควิด-19”