ปิดเมนู
หน้าแรก

“น้ำแร่” มีประโยชน์มากกว่า “น้ำเปล่า” จริงหรือ

เปิดอ่าน 23 views

“น้ำแร่” มีประโยชน์มากกว่า “น้ำเปล่า” จริงหรือ

Hello Khun Mor

สนับสนุนเนื้อหา

เราอาจจะเคยเห็นโฆษณาเกี่ยวกับการ ดื่มน้ำแร่ ตามธรรมชาติ ผ่านทางสื่อกันมาบ้างไม่มากก็น้อย น้ำแร่เหล่านี้มักจะโฆษณากันว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย และเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าธรรมดา แต่ความจริงแล้ว การดื่มน้ำแร่ ดีต่อสุขภาพจริงอย่างที่เขาว่ากันหรือเปล่า น้ำแร่มีประโยชน์มากกว่าน้ำเปล่าจริงหรือ หาคำตอบได้จากบทความนี้ของ Hello คุณหมอ ค่ะ

น้ำแร่ คืออะไร

น้ำแร่ (Mineral water) หมายถึงน้ำที่ได้จากแหล่งน้ำพุตามธรรมชาติ น้ำเหล่านี้เป็นน้ำที่สะสมอยู่ใต้พื้นดิน และผุดขึ้นมาในบริเวณตาน้ำ ซึ่งจะหลายเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ คลอง บึง หรือทะเลสาบ ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำและสภาพภูมิศาสตร์โดยรอบ

เช่นเดียวกันกับชื่อ น้ำแร่นั้นเป็นน้ำที่มีแร่ธาตุผสมอยู่ ซึ่งชนิดและปริมาณของแร่ธาตุที่อยู่ในน้ำแร่นั้น อาจจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าเป็นน้ำที่ได้จากแหล่งใด แต่โดยปกติแล้ว แร่ธาตุที่สามารถพบได้บ่อยๆ ในน้ำแร่ มักจะเป็นแร่ธาตุดังต่อไปนี้

  • แคลเซียม (Calcium)
  • แมกนีเซียม (Magnesium)
  • ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate)
  • โซเดียม (Sodium)
  • โพแทสเซียม (Potassium)
  • คลอไรด์ (Chloride)
  • ฟลูออไรด์ (Fluoride)

นอกจากนี้ ในน้ำแร่ก็อาจจะมีส่วนผสมของคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้มีลักษณะซ่าคล้ายกับน้ำอัดลม แต่คาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้มักจะถูกกำจัดออกไปในระหว่างกระบวนการบรรจุขวด ทำให้ได้น้ำแร่ที่ไม่ซ่า และมีรสสัมผัสเหมือนกับน้ำเปล่าทั่วไปนั่นเอง

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ตั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับน้ำแร่ว่า จะต้องเป็นน้ำที่มีแร่ธาตุอยู่ไม่ต่ำกว่า 250 ส่วนต่อล้าน และไม่อนุญาตให้เติมแต่งแร่ธาตุเพิ่มเติมในระหว่างการบรรจุขวด จึงจะสามารถเรียกได้ว่าเป็นน้ำแร่ธรรมชาติ

ข้อดีของการดื่มน้ำแร่

  • ดีต่อสุขภาพกระดูกและฟัน

ภายในน้ำแร่นั้นมักจะมีแร่แคลเซียมในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ซึ่งแคลเซียมนี้ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญในการดูแลรักษาความแข็งแรงของกระดูกและฟัน การดื่มน้ำแร่จึงทำให้ร่างกายของเราได้รับแคลเซียมมากขึ้น แตกต่างจากการดื่มน้ำเปล่าที่ไม่มีแคลเซียมนั่นเอง ฟลูออไรด์ที่มีอยู่ในน้ำแร่ยังสามารถช่วยปกป้องฟันได้อีกด้วย

  • ดีต่อสุขภาพหัวใจ

มีงานวิจัยที่พบว่า การดื่มน้ำแร่อาจสามารถช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ภายในเลือด เพิ่มปริมาณของไขมันดี (HDL) นอกจากนี้ โพแทสเซียมที่สามารถพบได้ในน้ำแร่ ก็ยังอาจสามารถช่วยลดความดันโลหิต ซึ่งล้วนแล้วแต่ก็ดีต่อสุขภาพหัวใจด้วยกันทั้งสิ้น

  • ช่วยแก้อาการท้องผูก

น้ำแร่ที่มีแมกนีเซียมสูง อาจสามารถช่วยป้องกันและรักษาอาการท้องผูกได้ โดยการช่วยดูดซึมน้ำมาสู่ลำไส้ และช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อของลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่ม และขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

ข้อเสียของการดื่มน้ำแร่

  • อาจมีอาการท้องไส้ปั่นป่วน

บางคนที่ดื่มน้ำแร่อาจจะมีอาการท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากในน้ำแร่นั้นมักจะมีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่มีคาร์บอนไดออกไซด์

  • อาจมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก

น้ำแร่ตามธรรมชาติที่หาซื้อได้ส่วนใหญ่นั้น มักจะบรรจุอยู่ในขวดน้ำพลาสติก ขึ้นทำให้อาจมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก (Microplastics) หรือพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ดื่มน้ำแร่ ดีกว่าดื่มน้ำเปล่า จริงเหรอ

หลายคนเชื่อว่า การดื่มน้ำแร่ นั้นได้ประโยชน์ มากกว่าการดื่มน้ำเปล่าธรรมดา เนื่องจากในน้ำแร่นั้นมีสารอาหารและแร่ธาตุต่างๆ มากมาย จึงน่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่า ซึ่งเป็นน้ำบริสุทธิ์ที่ไม่มีแร่ธาตุและสารอาหารใดๆ อยู่เลย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าการดื่มน้ำแร่อาจจะให้สารอาหารที่มากกว่าการดื่มน้ำเปล่าก็จริง แต่ปริมาณของแร่ธาตุที่สามารถพบได้ในน้ำแร่นั้น ก็ไม่ได้มากมายหรือแตกต่างไปจากแร่ธาตุที่เราอาจจะได้รับจากการรับประทานอาหารตามปกติเลย การดื่มน้ำแร่อาจจะแค่มีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณของแร่ธาตุเหล่านั้น แต่ก็ไม่ได้มีปริมาณมากเป็นพิเศษพอที่จะส่งผลอะไรต่อร่างกาย

ในทางกลับกัน บางคนที่เชื่อว่าการดื่มน้ำแร่ดีกว่าน้ำเปล่า ก็อาจจะดื่มน้ำแร่ในปริมาณที่มากเกินไป จนส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ ซึ่งอาจกลายเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สุดท้ายนี้ น้ำแร่ก็เป็นเพียงแค่อีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมสารอาหารที่ร่างกายต้องการ หากคุณอยากเลือกที่จะดื่มน้ำแร่แทนการดื่มน้ำเปล่า ก็ควรเลือกดื่มแต่พอดี และรับประทานอาหารอื่นๆ ให้ครบหลักห้าหมู่เสียด้วย ร่างกายของเราจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั่นเอง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : “น้ำแร่” มีประโยชน์มากกว่า “น้ำเปล่า” จริงหรือ