ปิดเมนู
หน้าแรก

Workaholic และกับดักที่ทำให้คุณหยุดทำงานไม่ได้!

เปิดอ่าน 6 views

Workaholic และกับดักที่ทำให้คุณหยุดทำงานไม่ได้!

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

แม้ว่าใครหลายคนจะบ่นไม่หยุดปากว่า “เบื่อ” และ “เหนื่อย” กับการทำงานหนักชนิดที่แบ่งเวลาทำงานกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัวไม่ได้ ส่วนในใจก็คิดเรื่องลาออกอยู่ทุกวัน วันละ 24 ครั้ง แต่ในขณะที่ปากบ่นและใจก็เกเรอยากลาออกนั้น มือและสมองของพวกเขาที่ว่าก็ยังคงทำงานของตัวเองต่อไปแบบไม่หยุด ปากที่บ่นก็เหมือนกับบ่นแค่ให้ตัวเองสบายใจที่ได้ระบายความอัดอั้นออกมา ส่วนที่คิดเรื่องลาออกก็ยังไม่กล้าลงมือทำจริง ๆ จัง ๆ เหตุผลหนึ่งก็คือสภาพเศรษฐกิจแบบนี้อย่าได้หาตกงานและอีกเหตุผลก็คือเป็นห่วงงาน กลัวคนที่จะมาสานต่อทำได้ไม่ดีเท่ากับที่ตัวเองทำ ท้ายที่สุดก็เลยได้แต่กลับมานั่งรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองต่อไป

ถูกต้องแล้ว! คนประเภทที่ทำได้แค่บ่นเป็นหมีกินผึ้งแต่ก็ยังก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองต่อไปนั้นมีอยู่จริง และส่วนมากมักจะเครียดและกดดันมากด้วยหากทำงานออกมาได้ไม่ดีตามมาตรฐานของตัวเอง อย่างที่บอกนั่นแหละว่าการบ่นเป็นเพียงการระบายความรู้สึกที่มันบีบคั้นอยู่ในใจออกมา เพื่อที่พอรู้สึกดีขึ้นแล้วจะได้ทำงานของตัวเองต่อไปได้ เพราะสุดท้ายแล้วคนกลุ่มนี้ก็ยังมีความคิดที่อยากจะก้าวหน้ากับหน้าที่การงานให้มากที่สุดอยู่ดี และเพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกในด้านลบต่าง ๆ หากคุณมีพฤติกรรมแบบนี้ คุณอาจจะเข้าข่ายเป็นพวกบ้างาน หรือ Workaholic ซึ่งกับดักเหล่านี้เองที่ทำให้คุณหยุดทำงานไม่ได้

ความคิดที่ว่า “ไม่มีใครแทนฉันได้”

ส่วนใหญ่แล้ว คนทำงานหลายคนจะมีความคิดแบบนี้โดยไม่รู้ตัว ถึงปากจะบ่น ใจจะอยากลาออก แต่ท้ายที่สุดก็ยอมทำงานแบบแทบจะพลีชีพ เช่น คนทำงาน Gen Y หากงานมีความชัดเจน สมเหตุสมผล คนเจนนี้จะเข้าขั้นบ้างานได้ แม้ว่าธรรมชาติของคน Gen นี้จะถูกมองว่ามีความเป็นตัวเองสูง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ความอดทนต่ำ มีความมั่นอกมั่นใจ (อาจมีมั่นหน้าบ้างบางที) เกินไป และไม่ชอบอยู่ในกรอบ ไม่ชอบเงื่อนไข จึงไม่ค่อยคิดที่ จะทำงานที่ไหนนาน แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าคน Gen Y นี้มีแนวโน้มต่ำที่จะใช้วันหยุดไปกับการพักผ่อน คือทำเหมือนกับกำลังหาเวลาว่างเพื่อพักผ่อนก็จริง แต่ก็ยังคงเคลียร์งานไปด้วย อีกทั้งยังมีความคิดในเชิงที่ว่า “ตัวเองเป็นคนสำคัญ” ขององค์กร

สังเกตได้ง่าย ๆ จากการที่ไม่กล้าลาพักร้อนยาว ๆ หรือจะพยายามวางแผนให้การลากระทบงานน้อยที่สุด เพราะรู้สึกว่าถ้าตัวเองไม่อยู่ ใครจะทำงานตรงนี้แทนได้ดีเท่ากับที่ตัวเองทำ กังวลว่างานที่ฝากให้คนอื่นช่วยดูให้ระหว่างที่ตัวเองไม่อยู่จะไม่สมบูรณ์ (ทั้งที่ตัวเองเคลียร์เรื่องสำคัญไว้หมดแล้ว) ไม่ต้องการถูกมองว่าหน้าที่ของตัวเองนั้นมีคนอื่นสามารถทำแทนได้ อยากที่จะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนเองทุ่มเทกับงานมากแค่ไหน และจะเป็นพวกที่รู้สึกผิดถ้าจะต้องลางาน เพราะในใจลึก ๆ รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังทิ้งงานนั่นเอง ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่มองว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง เลยรู้สึกว่าตัวเองสำคัญที่สุด หน้าที่ที่ทำอยู่ใครก็มาทำแทนไม่ได้ และไม่มีใครสามารถทำสิ่งที่ตัวเองทำได้อีกด้วย

ไม่ไว้ใจให้ใครทำงานแทน

ถ้าคุณรู้สึกว่างานทุกงานมันมากองทับถมอยู่ที่ตัวเองมากเกินไป บางทีคุณต้องตั้งคำถามกับตัวเองและตอบคำถามให้ได้ว่าที่งานมันเยอะจนล้น เพราะหัวหน้า (ไว้ใจ) โยนงานให้คุณเยอะ คุณบริหารจัดการเวลาไม่เป็น หรือตัวคุณเป็นคนกั๊กงานไว้กับตัวโดยไม่กล้าปล่อยให้ใครทำแทนกันแน่ พวกบ้างานจะมีความรู้สึกผิดหรือกระอักกระอ่วนใจเมื่อต้องร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้ช่วยงานในส่วนที่เป็นหน้าที่ของตัวเอง หรือต้องจ่ายงานให้คนอื่น ๆ ช่วยทำ เพราะรู้สึกไม่มั่นใจว่าคนอื่นจะทำงานได้ตามมาตรฐานของตัวเองไหม บางทีปล่อยงานไปแล้วก็พยายามติดตามผลอยู่เรื่อย ๆ ว่าผลลัพธ์เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ หรือไม่ก็ต้องเอากลับมาตรวจเช็กอีกทีว่างานนั้นได้ตรงตามมาตรฐานตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ คนวัยทำงานหลายคนที่อยู่ในภาวะ Workaholic โดยไม่รู้ตัว จึงมักจะนึกถึงงานอยู่ตลอดเวลา หยุดคิดเรื่องที่เกี่ยวกับงานไม่ได้ แม้แต่นัดกินข้าวกับแก๊งเพื่อนยังต้องแอบเอาเรื่องงานขึ้นมาบ่นเล็ก ๆ น้อย ๆ เสมอ แม้ว่าในแก๊งของคุณจะตั้งกฎเหล็กไว้ว่าห้ามเอาเรื่องงานขึ้นมาพูดในขณะที่กำลังสนุกสนานกันก็ตาม ไม่ว่าจะทำอะไร เรื่องของงานจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวกับกิจกรรมนั้น ๆ ตลอด (แต่ตัวเองก็บ่นว่าไม่ได้พักจากงาน) ผลเสียที่ตามมาคือ คุณจะเครียดเกินลิมิตโดยไม่รู้ตัว การที่คุณนึกถึงงานอยู่ตลอดคุณเองก็ควบคุมความคิดตัวเองไม่ได้เช่นกัน ไปเที่ยวยังคิดจะหอบงานไปทำเลย ทั้งที่รู้ว่าไม่ควรจะทำแบบนั้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเริ่มมีปัญหาด้วย

ยึดติดคุณค่าของตัวเองเอาไว้กับงานมากเกินไป

แน่นอนว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” แต่คนกลุ่มที่อยู่ในภาวะ Workaholic จะยึดติดกับคุณค่าตรงนี้มากเป็นพิเศษ จะรู้สึกว่าตัวเองจะมีคุณค่ามากก็ต่อเมื่อทำงานได้ประสบความสำเร็จและสมบูรณ์แบบอย่างที่จินตนาการไว้ เลยมีความทะเยอทะยานที่อยากจะทำให้ทุกอย่างมันสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อที่จะได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ซึ่งนั่นจะทำให้คุณเครียดและกดดันกับตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ กว่าจะรู้ตัว งานก็ทำร้ายตัวคุณมากกว่าที่คิด โดยที่คุณไม่รู้เลยว่าร่างกายและจิตใจของคุณกำลังแบกรับงานหนักมากเกินไป แรก ๆ มันอาจจะส่งสัญญาณเตือนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แค่พักให้มากขึ้นก็หาย แต่พอนานวันเข้า ร่างกายคุณอาจจะน็อกกลางอากาศเอา

การรักงาน ทุ่มเทรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองเป็นเรื่องที่ดี แต่คุณไม่ควรวางคุณค่าของตัวเองเอาไว้แค่กับงานเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณจะทำได้เพื่อพิสูจน์คุณค่าในตัวเอง ไม่เช่นนั้นคุณจะมีพฤติกรรมที่ทำร้ายร่างกายตัวเองอย่างต่อเนื่องโดยไม่ตั้งใจ เช่น ทำงานจนกินข้าวไม่ตรงเวลาเป็นประจำ รู้สึกว่างานเร่งงานเยอะ เวลากินข้าวก็ต้องรีบกินจนเคี้ยวไม่ละเอียด หรือต้องกินไปทำงานไป ขยับเขยื้อนร่างกายน้อยลงมาก ๆ เพราะกลัวว่างานจะไม่เสร็จ คืน ๆ หนึ่งนอนไม่เพียงพอ ทั้งยังมีอาการวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องงานจนทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทด้วย คุณจึงต้องเริ่มควบคุมให้งานมีความสำคัญอยู่ในเฉพาะเวลางาน ส่วนเวลาส่วนตัวต้องไม่คิดเรื่องงาน คุณต้องทำเพื่อตัวเอง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : Workaholic และกับดักที่ทำให้คุณหยุดทำงานไม่ได้!