ปิดเมนู
หน้าแรก

กะเพรา ทำไมภาษาอังกฤษถึงเรียก Holy Basil เหตุใดถึงเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์

เปิดอ่าน 127 views

กะเพรา ทำไมภาษาอังกฤษถึงเรียก Holy Basil เหตุใดถึงเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์

รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

กะเพรา, โหระพา และแมงลัก นั้นคล้ายๆ กันเมื่อผู้เขียนยังเป็นเด็กอยู่ (นานเต็มที) มักถูกคุณแม่ใช้ให้ไปซื้อโหระพาบ่อยๆ เพราะที่บ้านมักทำ ผัดมะเขือยาวโหระพาหมูสับ เป็นเมนูประจำ

แรกๆ ผู้เขียนมักจะซื้อผิดมาเป็นแมงลักบ้าง กะเพราบ้าง พอเอากลับมาบ้านคุณแม่ก็ได้แต่หัวเราะแล้วก็เปลี่ยนเมนูเป็นขนมจีนน้ำยา หรือผัดกะเพราหมูสับไปเลย จนกระทั่งผู้เขียนเปิดดิกชันนารีเป็นจึงทราบว่าฝรั่งเรียกกะเพรา, โหระพา และแมงลักนั้นว่าเบซิล (basil) เหมือนกันแต่ต่างกันตรงคำคุณศัพท์ที่แตกต่างกันคือ holy basil (กะเพรา), sweet basil (โหระพา), lemon basil (แมงลัก)

โปรดสังเกตว่ากะเพราเป็นพืชประเภทเบซิลชนิดเดียวที่มีชื่อแปลจากภาษาอังกฤษว่า “เบซิลศักดิ์สิทธิ์” ในขณะที่โหระพาแปลว่าเบซิลหวานและแมงลักแปลว่าเบซิลที่มีกลิ่นมะนาว

กะเพราทำไมจึงเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ ?

โชคดีที่ผู้เขียนมีเพื่อนอาจารย์หลายคนที่ไปเรียนที่อินเดียซึ่งส่วนใหญ่เป็นเคยพระภิกษุไปเรียนต่อทางด้านปรัชญาศาสนาแล้วกลับมาสอนวิชาปรัชญาศาสนาที่มหาวิทยาลัย

เมื่อผู้เขียนบ่นเรื่องสงสัยว่ากะเพราทำไมจึงเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ขณะที่นั่งประชุมไปและรับประทานอาหารเมนูสิ้นคิดข้าวกะเพราไข่ดาวไปด้วย เขาได้ช่วยเล่าประสบการณ์ยืนยันความเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ของกะเพราในอินเดีย จนเห็นจริงเห็นจังว่าเมื่อตอนเริ่มสร้างวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ในปี 2537 ที่ตั้งอยู่บริเวณกุสินารา อยู่ห่างจากสาลวโนทยาน สถานที่ดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ประมาณ 500 เมตร มีคนงานอินเดียในพื้นที่ประท้วงคนไทยกันยกใหญ่ด้วยเหตุที่นายช่างชาวไทยไปจับกบตัวอ้วนมาผัดกับใบกะเพรา เรื่องนี้ถึงขนาดว่าจะเอาเรื่องไปขึ้นศาลอินเดียเลยนะครับ แต่พอดีสามารถไกล่เกลี่ยกันได้เลยรอดตัวไป

นอกจากนี้เพื่อนอาจารย์บางท่านถึงขนาดอ้างในคัมภีร์สกันทปุราณะกล่าวว่า การจะกำจัดบาปได้มากน้อยนั้นขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะสามารถปลูกต้นกะเพราะได้มากน้อยเพียงใด และเชื่อกันว่า ที่ใดที่มีต้นกะเพราขึ้น ที่นั้นเปรียบได้กับที่ควรแก่การแสวงบุญ พระยมราชซึ่งเป็นเทพแห่งความตายจะไม่สามารถย่างกรายเข้ามาได้ บ้านที่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่ที่มีต้นกะเพราขึ้น จะเป็นสถานที่ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

คนอินเดียฮินดูนิยมจุดเทียนบูชาต้นกะเพราในเวลาเย็น การสวดบูชาต้นกะเพรานั้นเปรียบดั่งได้กราบไหว้เทวดาทุกตน ในช่วงเดือนการธิกะ การบูชาหรือการปลูกต้นกระเพราจะทำให้สามารถล้างบาปที่สะสมมาหลายๆ ชาติได้

ผู้เขียนเห็นว่าชักไปกันใหญ่เพราะมีทั้งชื่อคัมภีร์และเดือนเป็นภาษาอินเดียจึงตัดบทถามไปว่าทำไมต้นกะเพราจึงศักดิ์สิทธิ์? เพราะอะไร? ขอสั้นๆ

ท่านอาจารย์มหาจากอินเดียท่านก็ดีใจหายท่านอธิบายว่า พระแม่ลักษมีเป็นเทวีแห่งความรักที่บริบูรณ์ ด้วยพระแม่มีชายาที่ซื่อสัตย์ของพระนารายณ์และเป็นที่รักยิ่งของพระสวามีคือพระนารายณ์ ทำให้ผู้คนต่างศรัทธาและหลั่งไหลกันมาสักการะขอพรในเรื่องความรักนั้น พระแม่ลักษมีเคยอวตารลงมาเกิดเป็นต้นกะเพราโดยคนในอินเดียเรียกว่า “ตุลสี”

ต่อมาพระนารายณ์ก็ตามมาเอาพระแม่ลักษมีกลับไปอยู่ที่เกษียรสมุทรโดยเหลือเส้นผมและกายหยาบของพระแม่ลักษมีเป็นต้นกะเพราที่ถูกเรียกว่า “ตุลสี”

ทีนี้เมื่อฝรั่งตะวันตกมาแสวงหาเครื่องเทศที่อินเดียได้พบและทราบเรื่องราวของกะเพราจากคนอินเดียก็เลยเรียกกะเพราว่า “เบซิลศักดิ์สิทธิ์” ไปเลย

สำหรับในเมืองไทยสันนิษฐานว่าผัดกะเพราไก่ราดข้าวน่าจะเกิดขึ้นในยุค “สร้างชาติ” ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เรียกว่า “โครงการส่งเสริมอาหารของชาติ พ.ศ. 2481” มีบทบาทสำคัญมากในฐานะเป็นนโยบายส่งเสริมการกินอาหารของพลเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนิสัยการกินครั้งสำคัญของคนไทยเพื่อการส่งเสริมสุขภาพประชากรไทยตามหลักวิชาการทางการแพทย์และการสาธารณสุข โดยมีการส่งเสริมให้ประชาชนกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน เพราะการกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการเป็นบันไดขั้นแรกแห่งการสร้างชาติ

ปรากฎว่า ผัดกะเพราไก่ราดข้าว มีส่วนประกอบหลักในอาหาร 5 หมู่ โดยปริมาณอาหารกะเพราไก่ราดข้าว 1 จาน มีน้ำหนักประมาณ 3 ขีด หรือ 300 กรัม ให้พลังงาน ทั้งหมด 554 กิโลแคลอรี คิดเป็น 28% ของพลังงานที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ประกอบด้วยโปรตีน 16.3 กรัม คิดเป็น 30% ของปริมาณโปรตีนที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ส่วนไขมันซึ่งมีอยู่ในปริมาณ 21.2 กรัม ก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะเช่นกัน คือ คิดเป็น 33% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน ขณะที่คาร์โบไฮเดรตมีอยู่ในปริมาณ 74.3 กรัม

ดังนั้นเมนูอาหารสิ้นคิดของคนไทยที่เป็นข้าวกะเพราไข่ดาวจึงน่าจะศักดิ์สิทธิ์เพราะคุณค่าทางอาหารของใบกะเพราคือแก้ท้องอืด ขับลม มีแคลเซียม มีเบต้า-แคโรทีนและวิตามินซีทำหน้าที่ร่วมกันเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็งได้อีกโสดหนึ่งด้วย

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : กะเพรา ทำไมภาษาอังกฤษถึงเรียก Holy Basil เหตุใดถึงเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์