ปิดเมนู
หน้าแรก

“โรคเกลียดเสียง” เมื่อเสียงทำให้คุณรู้สึกคลุ้มคลั่ง โรคนี้มีอยู่จริง

เปิดอ่าน 9 views

“โรคเกลียดเสียง” เมื่อเสียงทำให้คุณรู้สึกคลุ้มคลั่ง โรคนี้มีอยู่จริง

คุณเคยเห็นคนที่รู้สึกตื่นกลัว เมื่อได้ยินเสียงเล็บที่กรีดลงบนกระดานบ้างไหม อาการนั้นอาจเป็นอาการที่เรียกว่า โรคเกลียดเสียง หรือมิโซโฟเนีย (Misophonia) โรคเกลียดเสียงเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีเสียงบางอย่าง ซึ่งทำให้คนเรารู้สึกเกลียดอย่างรุนแรง ดังนั้น จึงรู้จักกันอีกอย่างในฐานะของกลุ่มอาการที่ไวต่อการรับรู้ของเสียงบางอย่าง

อาการของโรคเกลียดเสียงเป็นอย่างไร

อาการของโรคปกติแล้วจะเกิดจากสิ่งเร้า ซึ่งมีหลากหลายอย่าง อาจเป็นเสียงที่คนทำ หรือจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ บางอย่าง ดังนั้น แม้แต่เสียงเคี้ยว หาว ผิวปาก หายใจ ต่างก็สามารถกระตุ้นอาการโรคเกลียดเสียงได้ทั้งสิ้น อาการของโรคเกลียดเสียง ในกรณีที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจเกิดอาการดังต่อไปนี้

  • วิตกกังวล
  • อึดอัดไม่สบาย
  • อยากหลีกหนี
  • เกิดความรู้สึกรังเกียจ

ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • เกรี้ยวกราด
  • เกลียดหรือโกรธ
  • ตื่นตระหนกหรือกลัว
  • อารมณ์ตึงเครียด
  • ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะหยุดต้นตอของเสียง
  • อาการคันยุบยิบใต้ผิวหนัง
  • อยากฆ่าตัวตาย

โรคเกลียดเสียงทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมีความสุขกับชีวิตได้อย่างเต็มที่ อาจจะทำให้ไม่สามารถร่วมกินข้าวกับผู้อื่น หรือแม้แต่กับคู่ครอง เพื่อน และครอบครัว บางครั้งผู้ป่วยอาจทำร้ายผู้ที่ทำให้เกิดเสียง ไม่ว่าจะทางวาจาหรือทางร่างกาย เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบจากสิ่งเร้าทางการมองเห็น เพียงแค่การเห็นคนกำลังรับประทานอาหาร ก็อาจกระตุ้นความหงุดหงิดได้

สาเหตุของโรคเกลียดเสียง

แพทย์ยังหาสาเหตุของโรคเกลียดเสียงไม่ได้ เชื่อว่าอาจเกิดจากปัญหาทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ซึ่งเกี่ยวกับการที่เสียงส่งผลต่อสมอง และทำให้ร่างกายตอบสนองต่อเสียงที่เข้ามากระตุ้น แพทย์บางคนคิดว่า โรคเกลียดเสียงนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ โรคเกลียดเสียงเป็นภาวะที่เกิดขึ้นไปตลอดชีวิต โรคนี้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงอายุระหว่าง 9 ถึง 13 ปี โดยปกติแล้ว ผู้หญิงมีแนวโน้มในการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย การวินิจฉัยโรคเกลียดเสียงยังคงเป็นคำถาม ในบางกรณี แพทย์อาจวินิจฉัยผิดพลาด และสันนิษฐานว่าเป็นโรควิตกกังวล ไบโพล่าร์ หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ

จัดการกับชีวิตอย่างไรดี หากเป็นโรคเกลียดเสียง

การจัดการกับโรคเกลียดเสียงมีความยากลำบาก แต่ก็มีวิธีการดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยอาจเข้ารับการบำบัดทางเสียง ร่วมกับการให้คำแนะนำเชิงจิตวิทยา แพทย์อาจใช้เสียงบางอย่าง ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านเสียงที่กระตุ้นอาการของโรค คุณอาจต้องใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเหมือนกับเครื่องช่วยฟัง โดยเครื่องมือนี้จะผลิตเสียงที่เบี่ยงเบนความสนใจของคุณ จากเสียงที่กระตุ้นอาการ นอกจากเครื่องมือนี้ อาจใช้เครื่องเล่น MP3 หรือหูฟังแทนได้ นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกอื่นในการจัดการกับอาการ เช่น การบำบัดด้วยการพูดคุย และการใช้ยาต้านซึมเศร้า การใช้ชีวิตที่เคร่งครัดต่อการรักษาสุขภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ และควบคุมความเครียด นอกจากนี้แล้ว คุณอาจกำหนดขอบเขตพื้นที่ปลอดภัยของคุณ ซึ่งไม่มีใครหรืออะไรก็ตาม สามารถรบกวนคุณได้ นอกจากนี้ คุณอาจมองหาใครบางคนที่สามารถพึ่งพาได้ เพื่อพูดคุย เช่น แพทย์หรือผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่มีอาการเดียวกัน เพื่อขอคำแนะนำ ในการจัดการกับอาการของโรคเกลียดเสียง ที่คุณกำลังประสบอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :ฤทธิศักดิ์ วงศ์วุฒิพงษ์

ภาพ :iStock

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : “โรคเกลียดเสียง” เมื่อเสียงทำให้คุณรู้สึกคลุ้มคลั่ง โรคนี้มีอยู่จริง