ปิดเมนู
หน้าแรก

เล่นน้ำสงกรานต์อย่างไร ให้ปลอดภัยจากปรสิต

เปิดอ่าน 303 views

เล่นน้ำสงกรานต์อย่างไร ให้ปลอดภัยจากปรสิต

เล่นน้ำสงกรานต์อย่างไร ให้ปลอดภัยจากปรสิต เกี่ยวกับ ปรสิต

รศ.พญ.ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน
ภาควิชาปรสิตวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ขึ้นชื่อเรื่อง “เล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดภัยจากปรสิต” หลายคนอาจสงสัยว่า ปรสิตคืออะไร อันตรายจริงหรือ เรามีคําตอบค่ะ

รู้จักปรสิต       

ปรสิต หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเพื่อเป็นที่อาศัยและเป็นแหล่งอาหาร  ในบางครั้งทําอันตรายสิ่งมีชีวิตที่ปรสิตอาศัยนั้นให้เจ็บป่วยหรือถึงแก่ชีวิต ตัวอย่างของปรสิตที่พบได้ในแหล่งน้ำ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่     

           

  1. ปรสิตที่อาศัยในลําไส้ซึ่งออกมากับอุจจาระของคนหรือสัตว์ แล้วปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ปรสิตใน  กลุ่มนี้จะติดต่อสู่ร่างกายโดยการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด น้ำที่ไม่ได้ผ่านการกรองหรือน้ำที่ไม่ได้ต้มเดือด ตัวอย่างของปรสิตในกลุ่มนี้ ได้แกปรสิตจําพวกโปรโตซัว เช่น Cryptosporidium,Giardia, Entamoeba, Microsporidia, Isospora และปรสิตจําพวกหนอนพยาธิ เช่น ไข่ของพยาธิตืดหมู และไข่ของพยาธิไส้เดือน เป็นต้น       
  2. โปรโตซัวจําพวกอะมีบาที่อาศัยเป็นอิสระในธรรมชาติตามดิน โคลน และแหล่งน้ำ เมื่อคนได้รับเชื้อโดยบังเอิญจะก่อโรคในคนได้เชื้อในกลุ่มนี้ ได้แก่ Naegleria และ Acanthamoeba 

 

โรคที่เกิดจากปรสิต        

ปรสิตที่พบได้ในแหล่งน้ำ อาจทําให้เกิดโรคหรืออาการดังนี้       

           

  • คริปโตสปอริเดียม  (Cryptosporidium) เป็นสาเหตุที่สําคัญของโรคอุจจาระร่วง โดยเฉพาะในผู้ป่วยเอดส์การก่อโรคในผู้ที่ภูมิคุ้มกันปกติจะทําให้เกิดอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงและหายได้เอง  ส่วนในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะทําให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงและเรื้อรัง จนทําให้เสียชีวิตได้
  • ไกอาร์เดีย  (Giardia)  ระยะที่พบในน้ำเป็นระยะซีสต์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะออกจากซีสต์  แล้วเจริญเติบโตเป็นระยะโทรโฟซอยต์ในลำไส้เล็ก ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงเป็นน้ำหรือมีไขมันปน  ในผู้ที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังอาจจะเกิดภาวะขาดสารอาหารได้
  • เอนทะมีบา (Entamoeba) ระยะที่พบในน้ำเป็นระยะซีสต์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะออกจากซีสต์ แล้วเจริญเติบโตเป็นระยะโทรโฟซอยต์ ทําให้เกิดแผลที่ลําไส้ใหญ่ และถ่ายอุจจาระเหลวเป็นมูกปนเลือดเก่า กลิ่นเหม็นเน่า เชื้อเอนทะมีบาอาจก่อโรคนอกลําไส้ได้ทําให้เกิดบิดที่ตับ ปอด และสมอง 
  • ไมโครสปอริเดีย (microsporidia) ระยะสปอรมีขนาดเล็กมาก ทําให้เกิดอาการท้องเสียเป็นน้ำ และเป็นสาเหตุสําคัญของโรคอุจจาระร่วงเรื้อรังในผู้ป่วยเอดส         
  • ไอโสสปอรา (Isospora) ทําให้เกิดอาการท้องเสียเป็นน้ำ การติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะทําให้ เกิดโรคอุจจาระร่วงเรื้อรัง       
  • ไข่ของพยาธิตืดหมู  ที่ปนเปื้อนในน้ำดื่มหรืออาหารที่รับประทานเข้าไป ทําให้เกิดโรคซีสติเซอร์  โคสิส (cysticercosis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตืดหมูระยะตัวอ่อน (cysticercus) ไปอยู่ตามกล้ามเนื้อและผิวหนัง พยาธิระยะตัวอ่อนอาจก่อโรคที่ตาและทําให้ตาบอดได้ส่วนการก่อโรคที่สมองทําให้เกิดอาการทางสมองและชักได้รุนแรง         
  • ไข่ของพยาธิไส้เดือน เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยการดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีไข่ของพยาธิไส้เดือนปนเปื้อน พยาธิระยะตัวอ่อนที่ออกจากไข่จะเจริญเติบโตเป็นพยาธิระยะตัวเต็มวัยอาศัยที่ ลําไส้เล็ก พยาธิไส้เดือน มักไม่ทําให้เกิดอาการ แต่ในผู้ที่มีพยาธิไส้เดือนจํานวนมากอาจทําให้เกิดภาวะลําไส้อุดตัน ภาวะขาดสารอาหาร บางคนเกิดอาการไอเนื่องจากพยาธิระยะตัวอ่อนเดินทางผ่านปอด นอกจากนี้ของเสียจากพยาธิทําให้เกิดลมพิษได้      
  • นีเกลอเรีย (Naegleria) เป็นอะมีบาที่พบในแหล่งน้ำจืด รวมทั้งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ตามปกติเชื้อนี้อาศัยเป็นอิสระในธรรมชาติ คนได้รับเชื้อโดยบังเอิญโดยการสําลักน้ำทางจมูก เชื้อจะเข้าสู่โพรงจมูกแล้วผ่านเข้าสู่สมอง ทําให้เกิดโรคสมองและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข่ คัดจมูก สูญเสียการรับกลิ่น ปวดศีรษะอย่างมาก คอแข็ง หลังแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน ซึมลง ชัก  และหมดสติ ผู้ติดเชื้อนีเกลอเรียมักเสียชีวิตหลังจากเริ่มปรากฏอาการภายใน 7 วัน       
  • อะแคนทะมีบา (Acanthamoeba) เป็นอะมีบาที่พบในแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำทะเล และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ตามปกติเชื้อนี้อาศัยเป็นอิสระในธรรมชาติ คนได้รับเชื้อโดยบังเอิญ การติดเชื้ออะแคนทะมีบาที่ระบบหายใจทําให้ปอดอักเสบ การติดเชื้อทางบาดแผลทําให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ส่วนการติดเชื้อที่กระจกตาซึ่งมักพบในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนสทําให้เกิดอาการระคายเคืองตา ตาแดง ปวดตาอย่างมาก ตามัว กลัวแสง ถ้าเชื้อลุกลามมากอาจทําให้ตาบอดได้  เมื่อเชื้ออะแคนทะมีบาเข้าสู่กระแสเลือดอาจก่อโรคสมองอักเสบ ซึ่งมักทําให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

  

เรียนรู้เมื่อโดนน้ำที่ไม่สะอาดสาดเข้า      

ภายหลังการโดนสาดด้วยน้ำที่ไม่สะอาด ต้องอาบน้ำชําระร่างกายด้วยสบู่ให้สะอาด ถ้าน้ำไม่สะอาดเข้าดวงตา ต้องล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ถ้าน้ำเข้าบาดแผล ต้องล้างแผลโดยฟอกด้วยสบู่ หลาย ๆ ครั้งแล้วล้างน้ำให้สะอาด เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคให้มากที่สุด และทาแผลด้วยยาโพวิโดน-ไอโอดีน  กรณีที่โดนน้ำที่ไม่สะอาดสาดเข้าหน้า ต้องระวังการสําลักน้ำเข้าทางปากและจมูก ถ้าน้ำที่สําลักเข้าทางปาก อาจทําให้เกิดโรคอุจจาระร่วง ถ้าสําลักน้ำเข้าทางจมูกต้องสังเกตอาการ ภายใน 1 สัปดาหถ้ามีไข่คัดจมูก และปวดศีรษะจะต้องไปพบแพทย์        

 

ความปลอดภัยในการเล่นน้ำสงกรานต์        

การเล่นน้ำสงกรานต์เป็นประเพณีอันดีงามของไทย เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนานและยัง   ช่วยคลายความร้อน การใช้น้ำที่ไม่สะอาดในการเล่นสงกรานต์อาจนํามาซึ่งอันตรายที่คาดไม่ถึง ฉะนั้นควรคํานึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่นด้วย ไม่ควรเล่นสาดน้ำกันอย่างรุนแรง ควรใช้น้ำประปาหรือใช้น้ำที่สะอาดเล่นสงกรานต์ต้องระมัดระวังตนเองไม่ให้สําลักน้ำ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและปรสิตที่อาจปนเปื้อนมากับน้ำ สำหรับผู้ที่มีบาดแผลที่ผิวหนัง ต้องระมัดระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ และไม่ควรปล่อยให้เสื้อผ้าที่สวมใส่เปียกน้ำเป็นเวลานาน ๆ          

 

การเล่นน้ำสงกรานต์อย่างมีวัฒนธรรม โดยคํานึงถึงความปลอดภัยและใช้น้ำที่สะอาด เพียงเท่านี้คุณก็หยิบยื่นความสุขให้แก่ผู้คนในสังคมแล้วค่ะ

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

health.sanook.com

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : เล่นน้ำสงกรานต์อย่างไร ให้ปลอดภัยจากปรสิต