ปิดเมนู
หน้าแรก

เตือนภัย ชายรักชายมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน เสี่ยงติด HIV+ไวรัสตับอักเสบซี

เปิดอ่าน 19 views

เตือนภัย ชายรักชายมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน เสี่ยงติด HIV+ไวรัสตับอักเสบซี

ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เผยข้อมูลโอกาสและแนวโน้มของการติดเชื้อร่วมของไวรัสตับอักเสบซี (HCV) และไวรัสเอชไอวี (HIV) ในปัจจุบัน พบมากกว่า 90% มาจากกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยไม่ป้องกัน และกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยมีการใช้ยา PrEP ซึ่งเป็นยาที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบซี

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วย

3 ปัจจัย ก่อให้เกิดการติดเชื้อร่วมระหว่าง 2 ไวรัสดังกล่าวในผู้ป่วย ดังนี้

  1. การมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคู่นอนตั้งแต่ 2 ขึ้นไป
  2. การใช้ยาเสพติดแบบฉีดหรือแบบสูดดม โดยเฉพาะยาไอซ์ และโคเคน
  3. มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส 
  4. มีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

ทั้งนี้แนะแนวทางการตรวจ จำเป็นต้องตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เพื่อบ่งบอกว่าเรากำลังติดเชื้อไวรัสอยู่หรือไม่ จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ และมีการตอบสนองต่อยาต้านไวรัสที่ให้รักษาอยู่หรือไม่ เพื่อดำเนินการรักษาตนเองถัดไป

ทำไมถึงพบผู้ป่วย HIV ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มชายรักชายมากขึ้น?

พญ.อัญชลี อวิหิงสานนท์ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบซี และ HIV มีช่องทางการติดต่อเช่นเดียวกัน เราจึงพบว่าในคนไข้ HIV มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (HCV) เพิ่มขึ้น 

โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสูง คือในกลุ่มที่มีการใช้ยาเสพติดแบบฉีด และในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยเฉพาะหากมีคู่นอนหลายคนและมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันและมีการใช้ยาไอซ์ทั้งแบบสูดดมและแบบฉีดจะยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสูงมากขึ้น ดังนั้นจึงถือว่าโรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (men having sex with men : MSM) 

ปัจจุบันใน กทม. ผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่มากกว่า 90% จะเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและอายุน้อย ทำให้มีโอกาสพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มนี้ และอีกกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเพิ่มขึ้น ก็คือกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีและมีการใช้ยา tenofovir disoproxil fumarate (TDF)/emtricitabine (FTC) เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสหรือที่เรียกว่า PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) เนื่องจากยา PrEPเป็นยาที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบซี ได้ ดังนั้นในคนกลุ่มนี้ถ้ามีคู่นอนหลายคนและมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันก็จะพบการติดเชื้อซิฟิลิสและไวรัสตับอักเสบซีสูงขึ้นได้ โดยปัจจุบัน MSM ที่มีอายุ 20-30 ปี พบภาวการณ์ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แบบเฉียบพลัน (acute HCV) มากขึ้น

ผู้ป่วย HIV ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี มีความเสี่ยงแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบซีสู่ผู้อื่นได้มากกว่าผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเพียงอย่างเดียว 

ทั้งนี้ ในคนที่มีการติดเชื้อ HIV ร่วมกับไวรัสตับอักเสบซี จะทำให้การแบ่งตัวของไวรัสรับอักเสบซีสูงขึ้น 8-20 เท่า เทียบกับการแบ่งตัวในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอย่างเดียว และพบปริมาณไวรัสตับอักเสบซีในน้ำอสุจิหรือน้ำหล่อลื่นในผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับไวรัสตับอักเสบซีสูงถึง 40% ในขณะที่พบเพียง 20% ในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเพียงอย่างเดียว (37.8% vs 18.4%) จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมกลุ่มที่ติดเชื้อ HIV ร่วมกับไวรัสตับอักเสบซีจะมีโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทางเพศสัมพันธ์สูงกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งโดยปกติการกระจายเชื้อทางเพศสัมพันธ์พบได้น้อยมากถ้าผู้ติดเชื้อมีไวรัสตับอักเสบซีอย่างเดียว

อันตรายของอาการที่รุนแรงกว่าเดิมของผู้ป่วย HIV ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีด้วย

พญ.อัญชลี อธิบายต่อถึงอาการของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ร่วมกับ HIV มีความรุนแรงแตกต่างจากผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอย่างเดียว (Mono-infection) ว่า ในกรณีที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี แบบเฉียบพลัน 80% ผู้ป่วยจะไม่มีอาการทั้งผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอย่างเดียว และผู้ที่ติดเชื้อ HIV ร่วมกับไวรัสตับอักเสบซี แต่ผู้ที่ติดเชื้อ HIV จะมีโอกาสมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรังได้มากกว่าผู้ที่ไม่ติดเชื้อ HIV

โดยปกติแล้วการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปีโดยไม่ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย มีโอกาสหายจากโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสูงถึง 20-30% แต่ขณะเดียวกันผู้ที่มีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วยจะมีโอกาสหายจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีลดลง เหลือเพียง 10-15% จึงมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังสูงขึ้น และจะนำไปสู่โอกาสในการเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับเพิ่มขึ้นด้วย หากไม่ได้รับการรักษา

นอกจากนั้นในผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับไวรัสตับอักเสบซีจะมีโอกาสเกิดโรคนอกตับสูงขึ้นด้วย ประมาณ 40-70% เช่น อาการอักเสบของเส้นเลือดที่ผิวหนัง (Cryoglobulinemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เบาหวาน เยื่อผังผืดที่ตับสูงขึ้น ความจำเสื่อม และมีโอกาสเกิดไตวายสูงขึ้นด้วย 

นอกจากนั้นผู้ติดเชื้อ HIV ร่วม อาจพบเม็ดเลือดขาว CD4+ ของผู้ป่วยลดน้อยลงหรือไม่สูงขึ้นหลังให้ยาต้าน HIV ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำลงได้ด้วย 

แนวทางการรักษาผู้ป่วย HIV ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีร่วมด้วย

สำหรับแนวทางการตรวจผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับไวรัสตับอักเสบซีในปัจจุบัน จะเริ่มต้นจากการตรวจแอนติบอดีต่อไวรัสตับอักเสบซี (Anti-HCV Ab) หากพบว่ามีผลบวก จึงจะทำการตรวจปริมาณไวรัสตับอักเสบซีในเลือด หรือเรียกว่า HCV RNA viral load ซึ่งหากพบว่ามีปริมาณไวรัสตับอักเสบซีในเลือดแล้ว คนไข้ควรได้รับการรักษา 

แต่ยังมีข้อพึงระวังจากการตรวจ Anti-HCV Ab คือ ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ร่วมกับไวรัสตับอักเสบซีอาจพบว่าตรวจ Anti-HCV แล้วผลเป็นลบลวง พบได้ในกรณีที่คนไข้มีภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ (CD4+ < 100 cells/uL) โดยพบประมาณ 5-6% หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งรับเชื้อไวรัสตับอักเสบซีมาไม่เกิน 8 สัปดาห์ จะทำให้ตรวจ Anti-HCV Ab เป็นลบได้เช่นกัน และอีกกรณีที่อาจตรวจไม่พบ Anti-HCV Ab เป็นลบทั้งๆ ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีซึ่งเรียกว่าผลลบลวง เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง คนไข้เป็นโรคเส้นเลือดอักเสบที่ผิวหนัง (Cryoglobulinemia) ดังนั้นหากสงสัยจึงควรส่งคนไข้ไปตรวจหาปริมาณไวรัสตัวอักเสบซีในเลือดเพื่อยืนยัน  

กลุ่มคนที่ควรตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HIV และไวรัสตับอักเสบซี

  1. กลุ่มที่มีการใช้ยาเสพติดแบบฉีดและแบบสูดดม
  2. กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและหญิงข้ามเพศ (Transgender)
  3. กลุ่มที่มีการติดเชื้อ HIV แต่ตรวจพบการติดเชื้อซิฟิลิส รวมทั้งมีค่าเอ็นไซม์ตับสูงขึ้น
  4. กลุ่มอื่นๆ ที่ควรตรวจ เช่น กลุ่มคนที่มีประวัติการรับเลือดมาก่อนปี พ.ศ. 2535 กลุ่มผู้ต้องขัง เนื่องจากมีการตรวจพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีในผู้ต้องขังสูงถึง 3-7% 
  5. กลุ่มคนเก็บขยะ เพราะอาจถูกเข็มหรือของมีคมตำ
  6. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ก็ควรตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเช่นเดียวกัน 

วิธีดูแลตนเอง เมื่อติดเชื้อ HIV ร่วมกับไวรัสตับอักเสบซี

เมื่อติดเชื้อ HIV ร่วมกับไวรัสตับอักเสบซี แนะนำวิธีการดูแลตัวเอง ดังนี้

  1. ควบคุมพฤติกรรมที่ทำให้เกิดเยื่อพังผืดที่ตับมากขึ้น คือ งดการดื่มแอลกอฮอล์
  2. ในกลุ่มคนที่รู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ก็ควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำ
  3. ป้องกันพฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการติดเชื้อ คือ
  • การมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกัน
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่ควรมีคู่นอนหลายคน
  1. หากเป็นผู้ป่วย HIV ให้กินยาต้าน HIV สม่ำเสมอ และเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของตนเองและคู่นอนเป็นประจำ

ในด้านสิทธิ์การรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับไวรัสตับอักเสบซีนั้น ในปัจจุบัน สปสช. ให้รับสิทธิ์การตรวจและรักษาไวรัสตับอักเสบซีฟรี ใน 2 กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีด และในอนาคตกำลังจะขยายสิทธิ์การตรวจฟรีเพิ่มขึ้น เช่น ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย แต่ไม่ได้ติดเชื้อ HIV กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มพนักงานเก็บขยะ กลุ่มผู้ป่วยฟอกไต กลุ่มคนที่มีเอ็นไซม์ตับขึ้นสูงแต่หาสาเหตุไม่ได้ กลุ่มที่ได้รับการสัก กลุ่มคนที่มีประวัติรับเลือดก่อนปี 2535 

โดยสิทธิ์การรักษาในปัจจุบัน สปสช. ได้ให้สิทธิ์การรักษาฟรีทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่ต้องผ่านเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด คือ ผู้ติดเชื้อต้องมีเยื่อพังผืดสูงระดับนึง เพราะงบประมาณมีจำกัด สิทธิ์นี้จึงให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงตับแข็งก่อน ซึ่งในปัจจุบันโอกาสในการรักษาหายขาดสูงถึง 95% เนื่องจากยามีการใช้ยารักษาที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น 

แต่ทั้งนี้การรักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดแล้วจะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ดังนั้นถึงรักษาหายขาดแล้วก็ควรดูแลป้องกันตัวเองไม่ให้กลับมาติดเชื้อซ้ำอีก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดแบบฉีด มีประวัติการติดเชื้อซ้ำ สูงถึง 15% และ ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีซ้ำประมาณ 20-30% ในระยะ 2 ปี 

โดยปัจจุบัน สามารถเข้ารับการตรวจปริมาณเชื้อไวรัส HIV และไวรัสตับอักเสบซีได้เกือบทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากเครื่องตรวจวิเคราะห์ที่สามารถทำการตรวจ HIV RNA ได้ จะสามารถตรวจไวรัสตับอักเสบซีได้เช่นกัน มีความจำเป็นที่ต้องตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเพื่อจะบ่งบอกว่าเรากำลังติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีอยู่หรือไม่ จำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือไม่ และมีการตอบสนองต่อยาต้านไวรัสที่ให้รักษาอยู่หรือไม่ 

ประโยชน์ของการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีในผู้ติดเชื้อ HIV

การรักษาไวรัสตับอักเสบซีในผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น

  • ลดการเกิดโรคในตับ เช่น ตับแข็งและมะเร็งตับ
  • ลดการเกิดโรคนอกตับ เช่น ลดการเกิดเบาหวาน 
  • ลดการการเกิดไตวาย 
  • การรักษาไวรัสตับอักเสบซี เป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสู่คู่นอนอีกด้วย

ทั้งนี้ปัจจุบันการตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส HIV และไวรัสตับอักเสบซีในประเทศไทย มีการนำนวัตกรรมทางห้องปฏิบัติการเข้ามารองรับการตรวจหาปริมาณด้วย เครื่องตรวจปริมาณไวรัสที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ อะลินิตี้ เอ็ม (Alinity m) เพื่อตรวจหาปริมาณไวรัสด้วยเทคโนโลยี real-time PCR 

เทคโนโลยี อะลินิตี้ เอ็ม (Alinity m) มีความไวในการทดสอบ ที่ใช้เวลาในการทดสอบทั้ง HIV และไวรัสตับอักเสบซีไม่ถึง 2 ชั่วโมง จากรูปแบบเดิมที่ใช้เวลาในการตรวจ 6-8 ชั่วโมงต่อรอบการทดสอบ อีกทั้งยังสามารถใช้เลือดจากผู้ป่วยเพียงหลอดเดียวก็สามารถสั่งการทดสอบได้ทั้ง 2 เทสต์ 

ข้อดีของเทคโนโลยีนี้คือ ช่วยให้ผู้ป่วยลดการเดินทางลง จากเดิมต้องมาตรวจเลือด 1 วันล่วงหน้า มาพบแพทย์อีก 1 วัน เหลือเพียงวันเดียวทั้งการตรวจเลือด และรอผลแลปในการพบแพทย์วันเดียวกันได้เลย และใช้เลือดในการทดสอบเพียง 1 หลอดเท่านั้น

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : เตือนภัย ชายรักชายมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน เสี่ยงติด HIV+ไวรัสตับอักเสบซี