ปิดเมนู
หน้าแรก

อาหาร กับ ไตรกลีเซอไรด์ มีความสำคัญอย่างไรกับร่างกาย?

เปิดอ่าน 237 views

อาหาร กับ ไตรกลีเซอไรด์ มีความสำคัญอย่างไรกับร่างกาย?

มารู้จักไตรกลีเซอไรด์กันเถอะ

ไตรกลีเซอไรด์คือไขมันที่ประกอบด้วยกรดไขมัน 3 ชนิดมารวมตัวกัน ซึ่งได้รับจากอาหารที่เรารับประทานและร่างกายสร้างขึ้นเอง เมื่อเรากินอาหารประเภทนี้เข้าไป ร่างกายจะดูดซึมแล้วก็ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ ผ่านเลือดส่งไปยังเซลล์ต่างๆที่ต้องการพลังงาน ไตรกลีเซอไรด์ที่มากเกินไปจะถูกส่งไปเก็บไว้ที่เนื้อเยื่อไขมัน (body fat) แล้วพอกพูนตามส่วนต่างๆของร่างกายจนร่างกายอ้วนขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้

การวินิจฉัยโรคไตรกลีเซอไรด์สูง

โดยปกติร่างกายขจัดไตรกลีเซอไรด์ออกจากเลือดได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่สองสามชั่วโมงหลังจากการกินอาหาร ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ส่วนใหญ่ก็ถูกขจัดออกจากเลือดเข้าสู่เซลล์ได้ คนทั่วไปจึงมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดไม่สูง คือ ประมาณ 50-150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

แต่ถ้าทำการเจาะเลือดตรวจวัดระดับไตรกลีเซอไรด์หลังจากงดอาหารแล้วไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงแล้ว มีค่าเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แสดงว่าร่างกายมีปัญหาในการขจัดไตรกลีเซอไรด์

ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมีอันตรายอย่างไร

1.ปื้นเหลืองที่ผิวหนัง เป็นเม็ดพุพอง ถ้ามีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากกว่า 1,000 มก./ดล.
2.ปวดท้องและอาจรุนแรงถึงขั้นตับอ่อนอักเสบได้
3.ตับโต ม้ามโต
4.หลอดเลือดแดงแข็งและเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

ปัจจัยที่ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง

1.รับประทานอาหารไม่ถูกสัดส่วน ชอบรับประทานอาหารจำพวกข้าว-แป้ง อาหารรสหวานจัด เครื่องดื่มรสหวาน รับประทานผลไม้ปริมาณครั้งละมากๆ ทำให้ร่างกายได้รับพลังงานหรือแคลอรี่มากเกินไป จึงนำไปสร้างไตรกลีเซอไรด์แล้วขับเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณมาก
2.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในปริมาณมากเป็นประจำ จึงกระ ตุ้นตับให้ผลิตไตรกลีเซอไรด์มากขึ้น และยังทำให้การเคลื่อนย้ายไขมันออกจากเลือดช้ากว่าปกติด้วย
3.มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน
4.มีโรคประจำตัวเช่น โรคเบาหวาน โรคไต
5.มีการใช้ยาบางชนิดเช่น ยาคุมกำเนิด ยาฮอร์โมน ยาsteroid
6.พันธุกรรม
7.ไม่ออกกำลังกาย

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

1.อาหารที่ไขมันสูง เช่น หนังสัตว์ ของทอด แกงกะทิ
2.อาหารรสหวานจัด เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน เบเกอรี่ พาย คุ้กกี้ ไอศกรีม เป็นต้น
3.เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ทุกชนิด

การป้องกันและบำบัดรักษา

1.หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เนื่องจากอาหารประเภทไขมันโดยส่วนใหญ่จะมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืช ไขมันสัตว์หรือไขมันที่ซ่อนอยู่ในเนื้อ นม เป็นต้น
2.ควบคุมปริมาณอาหารประเภทข้าว-แป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง เบเกอรี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว สาคู เผือก มัน ฟักทอง เป็นต้น
3.ลดปริมาณอาหารที่มีรสหวานจัด ขนมหวาน เครื่องดื่มรสหวาน น้ำอัดลม ผลไม้รสหวาน เช่น ทุเรียน ขนุน เป็นต้น
4.ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
5.ลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ที่มาข้อมูลสุขภาพ จาก โรงพยาบาลรามคำแหง www.ram-hosp.co.th 

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : อาหาร กับ ไตรกลีเซอไรด์ มีความสำคัญอย่างไรกับร่างกาย?