ปิดเมนู
หน้าแรก

อาการมึนงง ง่วงนอน บนรถแท็กซี่ คืออะไร มาอ่านข้อเท็จจริงจาก วิสัญญีแพทย์หรือหมอดมยา

เปิดอ่าน 377 views

อาการมึนงง ง่วงนอน บนรถแท็กซี่ คืออะไร มาอ่านข้อเท็จจริงจาก วิสัญญีแพทย์หรือหมอดมยา

เรื่องเล่าประเภท ขึ้นรถแท็กซี่แล้ว มี อาการมึนงง ง่วงนอนมากๆ หลับแบบไม่รู้ตัว คืออาการ โดนแท็กซี่มอมยา นั้นเป็นไปได้หรือไม่ ในความเห็นของวิสัญญีแพทย์หรือหมอดมยานั้นบอกว่า “ไม่มีหรอก ถ้ามียาแบบนี้ก็ดี หมอคงทำงานง่ายขึ้นอีกเยอะ” จะเป็นยาอื่นที่หมอดมยาไม่รู้จัก ก็ไม่ควรจะเป็นไปได้ และถึงจะมียาลับจริง แต่ก็ต้องใช้กลไกการนำยาเข้าสู่ร่างกายแบบเดียวกับยาอื่นๆ

1. ปกติจะทำให้คนๆ หนึ่งหลับหรือสลบได้นั้น ทำอย่างไร

การออกฤทธิ์ของยานั้นออกฤทธิ์ที่สมอง ยาจำพวกนี้มีโปรตีนตัวรับของยาอยู่ที่สมอง เมื่อยาไปจับกับโปรตีนตัวรับเหล่านี้จะออกฤทธิ์ระงับความรู้สึก เช่น เสริมฤทธิ์การทำงานของ GABA receptor ทำให้เพิ่มระดับของ GABA ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสมอง หรือมีผลต่อ neurotransmitter ทำให้นำกระแสประสาทไม่ดี

anesthetic-4

2. การมอมยา โดยการรมผ่าน หน้ากากแอร์ นั้น เป็นไปได้หรือไม่

ยาสลบถ้าสูดผ่านจมูกเข้าไป จากนั้นต้องไปที่ปอด ถูกดูดซึมผ่านเส้นเลือดที่ปอด เส้นเลือดจากปอดไหลเวียนผ่านไปที่สมอง ดังนั้นต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียว ยาจึงจะไปออกฤทธิ์ที่สมองได้

ยาดมสลบที่มีในปัจจุบัน ถึงใช้ตัวที่ทำให้หลับเร็วที่สุด เปิดด้วยความเข้มข้นสูงที่สุดจากเครื่อง ยังใช้เวลาเป็นนาทีกว่าคนไข้จะสลบ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่ยาที่บอกว่าพ่นมาจากช่องแอร์แท็กซี่จะทำให้หมดสติได้ (โดยที่คนขับไม่เป็นอะไรไปเสียก่อน)

Taxi driver

3. การโดนมอมยา มีจริงไหม?

ถ้ามียาป้ายให้สลบได้จริง วิสัญญีแพทย์คงทำงานง่ายขึ้นอีกเยอะโดยเฉพาะในกรณีที่พบว่ามีปัญหาในการแทงเส้นเพื่อที่จะให้ยาสลบ เช่น ในคนไข้เด็ก หรือคนไข้ที่อ้วนมากๆ และถ้ายาแปะให้หลับหรือสลบมีจริง มันต้องออกฤทธิ์ซึมผ่านผิวหนังเข้ากระแสเลือด ไปออกฤทธิ์ที่สมอง และผิวหนังของเราประกอบด้วยชั้นต่างๆ ที่สำคัญ 3 ชั้นได้แก่ epidermis, dermis และ subcutaneous ชั้น epidermis เป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการนำส่งยาไปยังชั้น dermis ซึ่งมีหลอดเลือดและท่อน้ำเหลืองที่สำคัญ

สรุปสั้นๆ ได้ว่า

1. ยาพ่นให้สลบจากหน้ากากแอร์ ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากกว่าที่คนเราจะสลบด้วยวิธีนี้ได้ ต้องใช้เวลา เพราะว่าการสูดยาสลบเข้าไป จะต้องมีการดูดซึมของยาจากปอดไปสู่เส้นเลือดปอดหมุนเวียนไปที่สมอง และยาสลบจึงออกฤทธิ์ที่สมองได้ ในทางปฏิบัติทุกวัน ถ้าสูดดมยาสลบที่ความเข้มข้นสูงๆโดยตรงจากเครื่องดมยาสลบ ยังต้องใช้เวลาเป็นนาทีกว่าจะหลับหรือสลบ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่ยาที่บอกว่าพ่นมาจากช่องแอร์แท็กซี่จะทำให้หมดสติได้ โดยที่คนขับไม่เป็นอะไรไปเสียก่อน

2. ยาป้าย ถ้าออกฤทธิ์ผ่านผิวหนังทำให้สลบก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากผิวหนังมีชั้นของผิวหนังที่ทำหน้าที่เป็นปราการกั้นยาตามธรรมชาติ ยาที่จะซึมผ่านไปได้นั้นต้องมีความแรงมาก ใช้เวลานาน ในทางปฏิบัติต้องใช้แผ่นแปะยาแบบพิเศษ กว่ายาจะออกฤทธิ์ก็เป็นชั่วโมง การป้ายยาให้คนสลบจึงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากกว่าจะซึมผ่านผิวหนังไปได้ต้องใช้ยาปริมาณมาก รอระยะเวลานาน อีกทั้งยังควบคุมไม่ได้ด้วย ว่ายาจะออกฤทธิ์แค่ไหน อย่างไร

anesthetic-3

ทั้งนี้ เคยมีบทความจาก หมอแมว ได้เคยพูดถึงกรณี เกี่ยวกับ อาการมึนงง ที่เกิดขึ้นบ่อยเมื่อขึ้นรถแท็กซี่ไว้ได้น่าสนใจ มาลองอ่านกัน

ขึ้น TAXI แล้วเกิดอาการมึนงง เกิดจากยาป้ายยาในแท็กซี่หรือเปล่า ??

มีคำถามเกี่ยวยาป้ายในรถแท็กซี่ หรือยาป้ายยาสั่งที่ทำให้คนหลับนั้นมีจริงหรือเปล่า จากประสบการณ์ของบางคนที่เกิดมึนงงหรือมีแม้แต่หลับแบบไม่รู้ตัวในรถแท็กซี่ อาการแปลกๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างนั่งรถแท็กซี่นั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง

1. Carbon monoxide Poisoning

อาการที่พบได้บ่อยเวลาหลายๆ คนขึ้นรถแท็กซี่คือ เมื่อขึ้นไปแล้วเกิดอาการเวียนหัวมึนงง อยากจะหลับ พยายามฝืนลืมตาให้ตื่นขึ้นก็แล้ว แต่ว่าก็จะไม่ไหว หลังจากลงจากรถมาแล้วก็มึนๆ งงๆ จำเหตุการณ์ไม่ค่อยชัดเจน ไม่ว่าอาการ เวียนหัว งง ง่วง คลื่นไส้อาเจียน จำเหตุการณ์ไม่ได้ จำหน้าตาคนขับหรือทะเบียนรถไม่ได้ และ หลับไปเป็นวันๆ

อาการเหล่านี้เข้าได้กับอาการ “ถูกพิษของก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์” ซึ่งก๊าซตัวนี้เกิดได้จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์รถคันนั้นและเกิดการรั่วซึมเข้ามาทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อก๊าซตัวนี้เข้าไปจับกับเม็ดเลือดแดงจะก่อให้เกิดสารที่เรียกว่า COHb (carboxyhemoglobin) ทำให้เม็ดเลือดนั้นขนส่งออกซิเจนไม่ได้ ร่างกายจะเกิดอาการของการขาดออกซิเจนขึ้นโดยอาการจะไปเกิดที่สมองเป็นอาการดังที่กล่าวมา

ในคนปกติในสังคมทั่วไปมีค่า COHb ได้ที่ 1-2% ส่วนในคนที่สัมผัสกับคาร์บอนมอนออกไซด์บ่อยๆเช่น คนที่สูบบุหรี่ ตำรวจจราจร หรือ คนขับรถที่มีรูรั่ว อาจจะมีค่า COHbได้สูงถึง 10%

ข้อสงสัยแรก : รถแท็กซี่ก็ดูดี ไม่น่ามีรั่ว คำตอบ : ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์นี้ไม่มีกลิ่นไม่มีสี ถ้ามีรูรั่วเยอะๆ นั่งรถแป๊บเดียวได้กลิ่นควันเสีย คนขับรถคงรู้ตัวและเอาไปซ่อมแล้ว แต่ถ้าหากการรั่วเกิดขึ้นช้าๆ น้อยๆ ในระดับที่เราไม่ได้กลิ่นไอเสียตัวอื่นๆ ร่วมกับเรานั่งรถเป็นระยะทางไกลๆ จะทำให้เกิดอาการได้

ข้อสงสัยสอง : ทำไมคนขับไม่เป็น แต่เราเป็น คำตอบ : คนขับแท็กซี่ขับรถทุกๆ วัน ดังนั้นหากคนขับได้รับคาร์บอนมอนออกไซด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่างกายก็จะมีการปรับตัวช้าๆ โดยการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากเราเอาเลือดคนขับรถที่มีการรั่วของก๊าซนี้ไปตรวจ ก็จะพบว่ามีระดับของ COHb สูงร่วมกับมีความเข้มข้นของเลือดสูงกว่าปกติ

2. เมารถ : กลิ่น อาหาร นอนไม่พอ
อาการเมารถหรือ Motion Sickness เป็นอาการที่เกิดจากการที่ระบบประสาทที่ควบคุมการทรงตัวทำงานไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งระบบการทรงตัวของคนเราจะประกอบไปด้วย “ดวงตา – เส้นประสาทที่กล้ามเนื้อ – ระบบประสาทในหู – สมอง” ในการนั่งรถ เรารับรู้ว่ารถเคลื่อนตัวโดยตาเรามองเห็นว่าเราเคลื่อนไปในทิศทางไหน ระบบประสาทกล้ามเนื้อเรารับรู้ว่าเรานั่งยังไงเอนซ้ายขวาแบบไหน ระบบประสาทในหูบอกว่าเรานั่งในมุมใดองศาใด สุดท้าย สมองของเราจะบอกประมวลผลว่าเราไปในทิศแบบไหน
กรณีที่เราจะมึนงงเมารถได้ง่ายขึ้นคือ เมื่อเราไม่ใช่คนขับ จะทำให้เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเราจะเคลื่อนต่อไปอย่างไร กล้ามเนื้อและดวงตาจึงปรับตัวไม่ทัน ส่วนคนขับจะรู้ตัวล่วงหน้าก่อนว่ารถจะวิ่งไปมาแบบไหน ดังนั้นจึงไม่งง / เมื่อคนขับขับเร่งและเบรกไม่ดี เบรกกระตุก ออกตัวแรง เล่นคลัตช์ วิ่งฉวัดเฉวียน ทำให้ดวงตาซึ่งกำลังมองไปทางด้านหน้าปรับไม่ทัน รถกระชากไปทางซ้าย กล้ามเนื้อและหูบอกว่าไปทางซ้ายแต่ตายังมองตรง พอส่งสัญญาณไปสมอง สมองก็แปลผลผิด เกิดอาการงง / ถ้ากระจกรถฝ้าหมอกมัว จะทำให้ตาของเราโฟกัสตำแหน่งการมองไม่ได้ ดังนั้นสัญญาณจากตาที่ไปสมองก็จะผิดปกติไป / ถ้ามีสิ่งรบกวนหรือสิ่งที่ทำให้อาเจียนเวียนหัวง่ายขึ้น ไม่ว่ากลิ่นในรถที่เหม็น เสียงรบกวนของเครื่องยนต์ อาหารที่กินก่อนขึ้นรถ (กินมากไปหรือกินอาหารมันๆ) รายการวิทยุเสียงดังๆ จะทำให้เราอาเจียนเวียนหัวได้ง่ายขึ้น / และบางคนอดนอนมาหลายๆวัน พอมาขึ้นรถเบาะนุ่มๆก็หลับ

3. เจอแก๊สทำให้มึน
บางคนมีความรู้สึกว่างุนงงง่วงนอนจริงๆ และสงสัยว่าเกิดจากแก๊สทำให้มึน ถ้าเป็นแก๊สแบบฟุ้งกระจายหรือระเหยจริง คนจะใช้คงต้องระวังเพราะว่าถ้าวางไว้ในรถแล้วตัวเองย่อมโดนไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีที่บอกว่าเปิดกระจก/หันแอร์ไปทางคนนั่ง/หรือว่าออกจากรถไปฉี่ ของพวกนี้ไม่แน่นอนและมีการพูดในเชิงวิทยาศาสตร์มานานแล้วว่าเป็นไปไม่ได้

 

credits:

เรียบเรียงโดย Health.mthai.com

ที่มาบทความจากกระทู้ http://pantip.com/topic/30208405 และ http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2008/12/X7328809/X7328809.html

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : อาการมึนงง ง่วงนอน บนรถแท็กซี่ คืออะไร มาอ่านข้อเท็จจริงจาก วิสัญญีแพทย์หรือหมอดมยา