ปิดเมนู
หน้าแรก

ทำไมถึง “ปวดเข่า” เสี่ยงโรคอะไร พร้อมวิธีรักษา

เปิดอ่าน 21 views

ทำไมถึง “ปวดเข่า” เสี่ยงโรคอะไร พร้อมวิธีรักษา

PR News

สนับสนุนเนื้อหา

อาการปวดเข่า เข่าบวม เข่าอักเสบ เดินแล้วมีเสียงกรอบแกรบในข้อเข่า ไม่สามารถยืดหรือเหยียดขาได้สุด รวมทั้งการเดินขึ้นลงบันไดที่ลำบาก อาจเป็นอาการเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Arthritis) ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ อายุที่เพิ่มมากขึ้น เพศหญิง การที่มีน้ำหนักตัวเกิน การได้รับแรงกระแทกซ้ำๆ ที่ข้อเข่า การเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณข้อเข่าและพันธุกรรม ถ้าผิวของข้อเข่าได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการอักเสบของข้อเข่าหรืออุบัติเหตุ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได ถ้ามีความเสียหายรุนแรงขึ้นจะรู้สึกปวดแม้ขณะนั่งหรือนอน

การรักษาอาจเริ่มจากเปลี่ยนวิธีการใช้งานของเข่า การรับประทานยาลดการอักเสบ หรือการใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดิน ถ้าการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผลและคุณภาพชีวิตแย่ลง อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement) ซึ่งเป็นการผ่าตัดตัดผิวที่เสียหายออกแล้วใส่ผิวใหม่ที่เรียบมันซึ่งทำจากโลหะและพลาสติกเข้าไปแทน เพื่อให้เข่ากลับไปใช้งานได้ตามเดิมอีกครั้ง โดยมีการพัฒนาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ทั้งในด้านเทคนิคการผ่าตัด และวัสดุข้อเทียมที่ใช้ ทำให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพสูง ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวไว พร้อมกลับไปใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ

ทำความรู้จักข้อเข่า

นพ.วัลลภ สำราญเวทย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ (เฉพาะทางด้านข้อสะโพกและข้อเข่า) ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า เข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ประกอบด้วยส่วนกระดูก 3 ชิ้น คือ

  1. ส่วนปลายของกระดูกต้นขา (Femur)
  2. ส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia)
  3. กระดูกสะบ้าหัวเข่า (Patella)

โดยมีเอ็นยึดกระดูกทั้ง 3 ให้มั่นคงและมีกล้ามเนื้อเกาะตามกระดูกเพื่อเคลื่อนไหว บริเวณผิวของกระดูกทั้ง 3 ชิ้นคลุมด้วยกระดูกอ่อน (Articular Cartilage) ซึ่งมีลักษณะสีขาวมันเรียบ กระดูกอ่อนจะทำหน้าที่เป็นเบาะกันการกระแทกกันของกระดูก และผิวที่เรียบทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ส่วนที่เหลือของข้อเข่าที่ไม่ได้คลุมด้วยกระดูกอ่อนจะถูกคลุมด้วยเยื่อหุ้มข้อ (Synovial Membrane) ซึ่งมีลักษณะบางและเรียบ ทำหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อ ซึ่งน้ำหล่อเลี้ยงข้อจะช่วยหล่อลื่นบริเวณผิว

ทำไมจึงปวดเข่า

สาเหตุของการปวดเข่าที่พบบ่อยที่สุด คือ ภาวะข้อเข่าอักเสบ (Arthritis) ที่อาจเกิดจากภาวะข้อเข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น รูมาตอยด์ (Rheumatoid) และการอักเสบจากอุบัติเหตุ

  1. ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis) มักเกิดในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี เกิดจากการเสื่อมของผิวกระดูกอ่อนและหมอนรองกระดูก ทำให้กระดูกที่แข็งและไม่เรียบถูเสียดสีกัน ทำให้เกิดเสียงเวลาขยับเข่า มีอาการปวด และติดขัดเวลางอเข่า
  2. ข้ออักเสบเรื้อรัง ที่พบบ่อย คือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยข้ออักเสบเรื้อรังทำให้เยื่อหุ้มข้ออักเสบหนาตัวขึ้น มีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อมากขึ้น ทำให้เข่าบวมแดง เมื่อมีการอักเสบนานจะทำให้ส่วนกระดูกถูกทำลายไป
  3. ข้ออักเสบจากอุบัติเหตุ กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากอุบัติเหตุ จากแรงกระแทกที่รุนแรง หรือจากการแตกร้าวของกระดูกและกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นผลทำให้ผิวข้อเสียไม่เรียบ

วิธีตรวจวินิจฉัยข้อเข่าเสื่อม

  1. ซักประวัติสุขภาพทั้งหมด รวมทั้งอาการ ลักษณะการปวดเข่า และความสามารถในการใช้งานของเข่า
  2. ตรวจร่างกาย ตรวจการทำงานของเข่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ เข่า ความแข็งแรงของเอ็นรอบๆ   เข่า
  3. ตรวจเลือด ในกรณีโรคข้ออักเสบอื่นๆ เช่น เกาต์, รูมาตอยด์
  4. การตรวจทางรังสี เช่น X-ray เพื่อดูพยาธิสภาพ ความเสียหายของเข่าที่เสื่อม
  5. การตรวจทางรังสีเพิ่มเติมอื่นๆ ในบางกรณี เช่น การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูสภาพของกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆ   รอบกระดูก

วิธีรักษาข้อเข่าเสื่อม

การรักษาข้อเข่าอักเสบเริ่มจากเปลี่ยนวิธีใช้งาน ลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดและกระแทกที่เข่า เช่น การนั่งยองๆ คุกเข่า ขึ้นลงบันได วิ่ง ยกของหนัก รับประทานยาเพื่อลดการอักเสบในเข่า การบริหารกล้ามเนื้อเพื่อให้เข่ามีการเคลื่อนไหวที่มั่นคง ถ้าการรักษาเหล่านี้ไม่ได้ผลอาจพิจารณาฉีดยาเข่าในข้อเข่าเพื่อลดการอักเสบและเพิ่มการหล่อลื่นในเข่า เช่น
ยาสเตียรอยด์ (Steroid) หรือน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมสังเคราะห์ หากยังไม่ได้ผลแพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งช่วยกำจัดอาการเจ็บปวด ทำให้เคลื่อนไหวข้อเข่าได้ดีขึ้น สามารถเดินลงน้ำหนักได้ตั้งแต่วันแรก โดยมีเครื่องช่วยฝึกเดินพยุงกันล้ม (Walker)  และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement)

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะรู้สึกเจ็บปวดลดลงและสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงกับปกติ ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยจะนอนโรงพยาบาลตอนเช้าของวันผ่าตัดหรือช่วงเย็นก่อนวันผ่าตัด หลังจากนั้นวิสัญญีแพทย์จะมาเยี่ยมผู้ป่วยและแนะนำวิธีการระงับความรู้สึกระหว่างการผ่าตัด ซึ่งมี 2 วิธี คือ การดมยาสลบ และการฉีดยาเข้าไขสันหลัง ซึ่งวิธีที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของวิสัญญีแพทย์

การผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยการผ่าตัดจะตัดเอาผิวข้อที่เสียออกและใช้ผิวข้อเทียมที่ทำด้วยโลหะและมีส่วนพลาสติกกันระหว่างผิวโลหะ เพื่อกันกระแทกและลดแรงเสียดสีระหว่างผิวข้อ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะอยู่ในห้องพักฟื้นเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง เมื่อผู้ป่วยฟื้นตัวจากยาสลบแล้วจะย้ายกลับไปห้องพักผู้ป่วย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะอยู่โรงพยาบาล 4-5 วันหลังผ่าตัด เจ้าหน้าที่กายภาพจะมาช่วยฝึกเดินในวันผ่าตัดและในวันต่อๆ มา รวมถึงการเข้าห้องน้ำ การช่วยเหลือตัวเอง การขึ้นลงบันได หลังจากนั้นสามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ผ่าตัดเข่า เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว เดินได้ภายใน 24 ชั่วโมง

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่าที่มีการใช้ Digital Template Program เพื่อวางแผนการผ่าตัดได้ตรงตามตำแหน่ง ร่วมกับเทคนิคระงับปวด (Pain Intervention Technique) เช่น การบล็อกเส้นประสาท (Adductor Canal Block) และการใช้คลื่นไฟฟ้าความถี่สูง (เป็นกรณีทางเลือกเสริมสำหรับการระงับอาการปวดหลังผ่าตัด) จะส่งผลให้เจ็บน้อยหรือไม่เจ็บเลย ลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียง ผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ฟื้นตัวไว สามารถเดินได้ภายใน 24 ชั่วโมง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ทำไมถึง “ปวดเข่า” เสี่ยงโรคอะไร พร้อมวิธีรักษา