ธุรกิจแต่ละประเภททั้ง Family Business SME  และ Startup ก็มีจุดเริ่มต้นและรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกันไป และธุรกิจที่แตกต่างย่อมมีอุปสรรค์ในการทำธุรกิจที่แตกต่างเช่นกัน

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) มองธุรกิจทั้ง 3 ประเภทพร้อมข้อคิดอุปสรรค์ของแต่ละธุรกิจอย่างน่าสนใจ

Family Business

รูปแบบธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดและมีความซับซ้อนน้อยที่สุด มีทิศทางการดำเนินงานขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนในครอบครัว เป็นกิจการแบบส่งต่อรุ่นต่อรุ่น บริหารงานแบบเรียบง่ายไม่ได้มีระบบที่ซับซ้อน สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว

Family Business เริ่มต้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปิดประเทศ และเกิดการค้าขายแบบ “ซื้อมา – ขายไป” การเป็นนายหน้าขายสินค้า และต่อมามีธุรกิจประเภทบริการเพิ่มเติมเข้ามา

อุปสรรค

Family Business มี อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ “ปัจจัยภายใน” ที่อาจทำให้ Family Business ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในยุคปัจจุบัน เพราะตลาดในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง และสถานการณ์ของคู่แข่งที่รุนแรงและเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันมักมีเรื่องของนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อันอาจนำไปสู่ความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างผู้ทำธุรกิจรุ่นก่อน และผู้สืบทอดธุรกิจ การบริหารจัดการความสำคัญภายใน จึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา Family Business อย่างมั่นคง โดยทางฝั่งผู้ทำธุรกิจรุ่นก่อนที่เป็นผู้ใหญ่อาจต้องเปิดรับนวัตกรรม เทคโนโลยี และแนวคิดของคนรุ่นใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนตัวธุรกิจให้มีสีสัน เข้ากับยุคสมัย และทางด้านทายาทรุ่นใหม่ที่สืบทอดก็ต้องพยายามสร้างความเข้าใจ ในเรื่องแนวคิดต่างๆ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด

SME

รูปแบบธุรกิจแบบ “ซื้อมาเพื่อทำการผลิต แล้วจึงจำหน่าย” โดยตัวแปรสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประเภทเอสเอ็มอีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นคือ การพัฒนาของอุตสาหกรรมและเครื่องจักรต่างๆ โดยในประเทศไทย

SME ได้เริ่มมีบทบาทในภาคเศรษฐกิจมากขึ้นตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2530 ที่ต่างประเทศได้เข้ามาลงทุนกับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปัจจุบันที่มีธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 200,000 รายทั่วประเทศ

อุปสรรค

อุปสรรคสำหรับ SME คือ ความชะล่าใจ  ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกคนต้องพึงระวัง เพราะในภาวการณ์แข่งขันสูงของตลาดปัจจุบัน และการได้รับความนิยมของสตาร์ทอัพ ที่หมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ฉะนั้นผู้ประกอบการ SMEต้องหยุดชะล่าใจและหันมาคิดค้นสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ พร้อมกับมองหานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจให้มีสีสันอยู่ตลอด

Startup

รูปแบบธุรกิจเกิดใหม่ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนประกอบหลักของสินค้าและบริการ เป็นธุรกิจที่เริ่มต้นได้ง่ายเพราะใช้ต้นทุนต่ำ ใช้จุดเด่นในด้านความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนมาร่วมลงทุนด้วย ธุรกิจสตาร์ทอัพจึงสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด และสร้างมูลค่าได้สูงด้วยการใช้ต้นทุนเริ่มต้นต่ำ

สตาร์ทอัพเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2555 และในปัจจุบันมีจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จอยู่ประมาณ 500 – 1,000 ราย เนื่องจากโอกาสประสบความสำเร็จของสตาร์ทอัพที่จะได้รับการลงทุนมีเพียงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์

อุปสรรค

อุปสรรคStartup คือ การพัฒนาแนวคิดให้เกิดขึ้น และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงความต้องการ พร้อมกับสามารถประยุกต์เข้าการทำธุรกิจ (Commercialization) ได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยการมองหาความต้องการของตลาด (Pain Point) ที่ยังขาดการตอบสนองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องคิดค้นหาวิธีการทำซ้ำ (Repeat) และปรับเปลี่ยนขนาด (Scale) ที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมด้านการประกอบการ

ที่มา : วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)