ปิดเมนู
หน้าแรก

The Mask Singer บอกอะไรวงการไอทีและทีวีดิจิทัลไทย

เปิดอ่าน 518 views

The Mask Singer บอกอะไรวงการไอทีและทีวีดิจิทัลไทย

The Mask Singer บอกอะไรวงการไอทีและทีวีดิจิทัลไทย

 

ในรอบเดือนที่ผ่านมา “หน้ากากนักร้อง” ที่นำโดยหน้ากากทุเรียน และหน้ากากอีกาดำ ทำให้เกิดปรากฎการณ์หลายสิ่งหลายอย่าง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ล้มล้างความเชื่ออะไรหลายๆ อย่างลงไปอย่างสิ้นเชิง และจุดเริ่มต้นใหม่นี้กำลังนำเราไปสู่อะไรบ้าง ผมลองสรุปให้อ่านกันครับ

Facebook Live ทรงพลังพอที่จะถ่ายทอดสดที่มียอดคนดูหลักหลายล้านในเวลาเดียวกัน ก่อนหน้านั้น Youtube ที่เคยถ่ายทอดสดให้กับคนทั่วโลกเคยแสดงพลังระบบไอทีที่สุดยอดด้วยการมียอดวิวพร้อมกัน 20 กว่าล้านวิวมาแล้ว แต่ที่ผ่านมาการถ่ายทอดผ่าน Youtube มันให้ความรู้สึกว่าไกลเกินเอื้อมสำหรับคนทั่วไปไปซะหน่อย ไม่เหมือนกับการถ่ายทอดผ่าน Facebook Live ที่คนจำนวนมากเคยถ่ายทอดสดเรื่องราวของตัวเองมาบ้างแล้ว และที่สำคัญคนไทยนี่เป็นตัวพ่อ ตัวแม่ในการเล่น Facebook ระดับโลก จนได้รับการขนานนามว่า ไทยคือเมืองหลวงของผู้ใช้ Facebook

เมื่อ “หน้ากากนักร้อง” ของเวิร์คพ้อยท์ตัดสินใจถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ตามคำเชิญของ Fcaebook เมืองไทยที่พยายามเหลือเกินในช่วงที่ผ่านมาในการดึงรายการดังๆ เชิญแม่เหล็กตัวพ่อ ตัวแม่ต่างๆ มา Live สด โดยมีกลยุทธ์การจัดสรรแบ่งปันรายได้ ความท้าทายของวงการไอทีก็เกิดขึ้น หลายคนตั้งคำถามว่าสภาพเน็ตเวิร์ค คุณภาพของมัน รวมถึงปริมาณการเข้าชมในเวลาเดียวกันสำหรับการ Live ในเมืองไทยจะทำได้แค่ไหน เพราะเอาแค่การถ่ายทอดสดมีผู้ชมหลักหมื่นในเวลาพร้อมๆ กัน ก็ทำให้เน็ตเวิร์คล่ม เว็บไซต์พังกันมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว

แต่หลังจากคู่ชิงชนะเลิศซีซั่นแรกระหว่าง หน้ากากทุเรียน และหน้ากากอีกาดำ ที่ยอดการชมนั้นแตะหลักล้านก็ทำให้ข้อกังวานี้หมดไป เพียงแต่ตั้งคำถามตามมาว่า “มันทำได้ไงวะ?” แปลว่า Facebook ต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่างแน่นอน การตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่สิงคโปร์น่าจะไม่เพียงพอต่อการรองรับแบนด์วิชมากมายมหาศาลจากประเทศไทย

ผมจะรอดูวันแห่งประวัติศาสตร์หากมีการทำ Facebook Live ครั้งต่อไป ที่มียอดการเข้าชม 5-10 ล้านในเวลาเดียวกัน นี่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงในเรื่องการถ่ายทอดสดเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงระบบการจัดสรร จัดแบ่งรายได้ของ Facebook กับเจ้าของ Content ก็จะเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือไปสู่หลังเท้า เช่นกัน

ระบบผังรายการทีวีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงอย่างกู่ไม่กลับ ผมเคยเขียนบทวิเคราะห์ว่าทีวีไทยรายไหนที่หวง content หวงผังรายการไว้เฉพาะตัวทีวี ช่องนั้นเตรียมตัวพัง คนไทยไม่ได้ติดทีวีเหมือนช่วงที่ผ่านมาแล้ว เน็ตเวิร์คของประเทศไทยนั้นดีเพียงพอที่จะดูอะไรก็ได้ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่แนวโน้มจะห่างทีวีมากขึ้นทุกวัน คนพวกนี้อยากดูอะไรก็ได้ที่ฉันอยากดูในเวลาที่ต้องการ การที่ช่องทีวียังยึดติดว่า content ของทีวีต้องออกที่ทีวีก่อน แล้วค่อยมาปล่อยในโลกอินเทอร์เน็ตเป็นแนวคิดที่โบราณที่สุด

ปรากฎการณ์ “หน้ากากนักร้อง” ถือเป็นการขยี้แนวคิดนี้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด แม้วันนี้ยังไม่ถึงขนาดหลุดจากผังออกมาได้จริงๆ นั่นคือ ถ่ายทอดสดโดยไม่อิงกับเวลาของผังทีวี แต่ตอนนี้ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง เริ่มตั้งแต่ทันทีที่ออกอากาศเสร็จก็นำมาลงใน Social Media ทันที ไม่ต้องรอให้เพจอื่นๆ เอามาออกหารายได้เข้าตัวเองไป นอกจากคลิปเต็ม มีการตัดคลิปย่อยมากมาย เปลี่ยนแปลง content ใส่ลูกเล่นอย่างไม่จำกัด

วิวัฒนาการล่าสุดก็คือ การแยกสปอนเซอร์หรือโฆษณาออกจากกันระหว่างทีวีและออนไลน์ ทีวีก็มีโฆษณาของตัวเอง ออนไลน์ก็มีของตัวเองเช่นกัน ดังนั้นจึงนำไปสู่การถ่ายทอดสดครั้งเดียว แต่เนื้อหาและการเอาใจสปอนเซอร์ทั้งสองสื่อกลับแตกต่างกันไป รูปแบบรายการก็แตกต่างกันอีก ทันทีที่ตัดเข้าโฆษณาทางทีวี แต่ออนไลน์ไม่ตัดกลับมีรายการพิเศษที่เติมมาจากทีวีเสริมเข้ามา

การพัฒนาที่เห็นก็คือ รายการ “หน้ากากนักร้อง” เมื่อดัง ก็ต้องเล่นกับกระแส มีรายการพิเศษเกิดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ มีทั้งเทปและสดให้ชมกันตลอดทั้งอาทิตย์ก่อนจะเข้ารายการจริง ซึ่งผังรายการทีวีปกติไม่สามารถทำได้ เท่ากับ “หน้ากากนักร้อง” แทบจะมีช่องของตนเองขึ้นมาต่างหาก นั่นจึงบอกให้กับทีวีดิจิทัลทั่วไปได้รู้ว่า อย่ายึดคิดกับผังรายการปกติเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นเตรียมตัวตาย

พฤติกรรมของ Social Media เปลี่ยนไปแล้ว ดังได้ก็ฆ่าตัวตายได้ ทันทีที่รายการ “หน้ากากนักร้อง” จบลงเสียงชื่นชมก่อนรายการกลับกลายเป็นเสียงด่า ความตั้งใจยืดเวลา ความตั้งใจขายของเกินเหตุ ความตั้งใจจะดึงเรตติ้งเหมือนกับละครน้ำเน่าสมัยก่อนทำให้เสียงสะท้อนกลับมาเต็มโลกออนไลน์อย่างที่เวิร์คพ้อยท์ไม่ได้คาดคิด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่เวิร์คพ้อยท์ไม่ได้วางแผนจะรับมือ โลกออนไลน์ไม่รับรู้เบื้องหลังการผลิตของเวิร์คพ้อยท์หรอกครับว่าคุณเผชิญกับอะไรบ้าง พวกเขาแค่ไม่รู้สึกสนุกกับการกระทำของคุณ รู้สึกถูกหลอก รู้สึกว่าพวกคุณรู้จักแต่จะกอบโกยผลประโยชน์

ต่อไปนี้รายการทั้งหลายที่จะอยู่ได้ต้องมี Commitment หรือคำมั่นสัญญากับผู้ชม เป็นคำสัญญาที่มีตัวตนและมีคนรับคำสัญญาอย่างชัดเจน ถ้าเกิดผิดสัญญาขึ้นมา คนเหล่านี้จะออกมาทวงสัญญา พวกเขาจะแสดงตัวตนจะไม่อยู่เป็นอีแอบเหมือนที่ผ่านมา และผลของการแสดงตัวตนจะส่งผลให้เพื่อนที่อยู่ในเครือข่ายของพวกเขารับรู้แม้ว่าเพื่อนเหล่านั้นจะไม่เคยได้ดูรายการของคุณมาก่อน

การวัดเรตติ้ง วัดแบบไหนให้สะท้อนความจริง การวัดเรตติ้งทีวีบ้านเรานั้นมีการถกเถียงกันมาเป็นชาติ จนวันนึงโลกสังคมโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น การวัดด้วยฟีดที่เต็มหน้า wall ของคนเล่น ว่ากำลังพูดถึงข่าวไหน ละครเรื่องใด ดาราคนไหน กลายเป็นคำตอบว่ามหาชนกำลังสนใจเรื่องอะไร เรตติ้งเรื่องไหนแรงสุด แต่แล้วมันก็เปลี่ยนไปอีกครั้ง เริ่มจากรายการข่าวปกติที่นำ Facebook Live มาใช้ในทุกรายการข่าวทุกช่วงเวลา นี่สิตัววัดเรตติ้งที่แท้จริง เพราะยอดชมรายการข่าวผ่านรายการสดทางออนไลน์มันขึ้นโชว์หราว่ายอดชมเท่าไหร่ในปัจจุบัน เห็นกันจะจะไปเลยว่ารายการข่าวไหนได้ยอดชมสูงสุดเท่าไหร่

แต่ๆๆๆๆๆๆ รายการข่าวหาใช่รายการที่คนตั้งใจจะดูเป็นเรื่องเป็นราว รายการข่าวส่วนใหญ่ก็เปิดดูแช่เอาไว้ สนใจข่าวไหนก็เงยหน้าขึ้นมาดู ไม่เหมือนรายการบันเทิง รายการถ่ายทอดสด ต่อไปนี้จะกลายเป็นธรรมเนียมแล้วว่ารายการบันเทิงประกวดร้องเพลง รายการละครที่เวลาตรงกัน ออกอากาศทางทีวี ก็ Live สดออนไลน์ไปพร้อมกัน มันจะบอกว่ายอดชมของใครมากกว่ากันโดยทันที เวลานั้นกันไปเลย วัดกันเวลาต่อเวลา รายการต่อรายการ ไ่ม่ต้องรอผลเรตติ้งที่จะออกมาช้ากว่าเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน และไม่ต้องมาบวกลบคูณหารตามช่อง แต่วัดกันหมัดต่อหมัดดังกล่าว ซึ่ง “หน้ากากนักร้อง” ได้ทำตรงนี้ออกมาแล้วว่า วันที่ออกอากาศนี่คือรายการหยุดประเทศไทย ไม่มีรายการไหนจะมีผู้ชมเยอะไปกว่านี้อีกแล้ว

บทสรุปของ “หน้ากากนักร้อง” วันนี้แม้จะเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ทั้งวงการบันเทิง วงการทีวี วงการออนไลน์ และอีกสารพัด แต่นี่เพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เราจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนของวงการในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งสามวงการถูกรวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ต่อจากนี้ใครยังคิดแยกเตรียมตัวตายครับทั่นผู้ชม

ขอขอบคุณ

ภาพ : workpoint

hitech.sanook.com

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : The Mask Singer บอกอะไรวงการไอทีและทีวีดิจิทัลไทย