ปิดเมนู
หน้าแรก

7 อันตรายต่อสุขภาพหากติด “มือถือ” มากเกินไป

เปิดอ่าน 16 views

7 อันตรายต่อสุขภาพหากติด “มือถือ” มากเกินไป

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่เทคโนโลยี นวัตกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และโลกดิจิทัลเฟื่องฟูมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย เพราะมันช่วยอำนวยความสะดวกให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายและสบายขึ้น ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องปฏิเสธประโยชน์ของมันที่มีต่อชีวิตเรา

แต่ ณ เวลานี้ เทคโนโลยีบางอย่างดูเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของเราจนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำเนินชีวิตเลยก็ว่าได้ กลายเป็นภัยใกล้ตัวที่ “แฝงอันตรายต่อสุขภาพ” โดยเฉพาะคนที่ “ติดจอ” ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอสมาร์ทโฟน จอแท็บเล็ต หรือจอคอมพิวเตอร์ก็ตาม เมื่อเราใช้มันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยไม่พัก ใช้เป็นประจำทุกวัน จึงอาจกลายเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บจากการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยไม่รู้ตัว มีผลกระทบต่อสุขภาพกาย จิตใจ และสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม

Tonkit360 จึงอยากให้ทุกคนที่ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ ระวังโรคภัยไข้เจ็บและปัญหาสุขภาพที่มาในยุคเทคโนโลยีเช่นทุกวันนี้กันให้มากขึ้น มีโรคภัยอะไรบ้าง มาดูกันเลย

  1. อาการที่เกี่ยวกับดวงตา

แสงที่มนุษย์ทุกคนสามารถมองเห็นได้ในช่วงแสงสีขาว ซึ่งแสงขาวแบ่งได้ 7 สี (สีแดง ม่วง ส้ม เหลือง น้ำเงิน/ฟ้า คราม และเขียว) ถูกพบได้ทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด หลอดไฟ แต่ที่ส่งผลกระทบถึงคนส่วนใหญ่มากที่สุด คือ แสงสีฟ้า โดยแสงสีฟ้าผสมอยู่ในช่วงสีน้ำเงินกับคราม และยังเป็นแสงที่มีพลังงานสูงใกล้เคียงรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) อีกด้วย ทำให้เป็นหนึ่งในแสงที่สามารถเข้าไปสู่จอประสาทตาได้อย่างง่าย

เวลาที่เราใช้พวกหน้าจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เราจำเป็นต้องเพ่งสายตาจ้องหน้าจอที่มีแสงจ้าเหล่านั้น หากจ้องนานเกินไป ก็อาจเกิดผลเสียต่อดวงตาได้หลายทาง เช่น อาการสายตาล้า ปวดตา ตาแห้ง ตามัว สำหรับเด็กเล็กอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสายตาสั้นได้ และอาจจะทำให้เซลล์ในดวงตาตายได้ ซึ่งหนักถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นเลยทีเดียว ถ้าเราไม่ดูแลรักษาและป้องกันดวงตาของเราให้ดี

โดยอันตรายจากการมองแสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์นั้น สามารถทำลายจอประสาทตา (เรติน่า) อาจเริ่มส่งสัญญาณบางอย่างมาเตือน อย่างอาการเจ็บตา ระคายเคือง ตาแห้ง บางครั้งสายตาพร่ามัว ปวดกระบอกตาอยู่บ่อยๆ และอาจมีอาการไมเกรนพ่วงมาด้วย อาจทำให้เกิดโรคทางสายตา เช่น Computer Vision Syndrome โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก โรควุ้นสายตาเสื่อม หรือโรคสายตาสั้นเทียม

  1. อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อส่วนต่างๆ

ลักษณะก็จะเหมือนกับคนทำงานออฟฟิศที่โดนออฟฟิศซินโดรมเล่นงาน ซึ่งในกรณีนั้นมันเลี่ยงยากเพราะเป็นการทำงาน แต่การติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือเทคโนโลยีอื่นใดแบบที่หมกมุ่นอยู่ได้ทั้งวันโดยไม่ทำอะไรอื่น ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่ใกล้เคียงออฟฟิศซินโดรมได้เหมือนกัน เกิดปัญหากับกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ โรคทางกล้ามเนื้อกระดูก ที่เกิดจากการนั่งท่าที่ไม่เหมาะสมก็ได้เช่นกัน

ที่มักจะพบประจำก็เช่น นิ้วล็อก ปวดคอ ปวดหลัง ปวดบ่า ปวดไหล่ อาจจะรวมไปถึงความเสื่อมกระดูก ข้อต่อกระดูก หรือหมอนรองกระดูกบริเวณคอ อาการ Cellphone Elbow คือ อาการปวดชา หรือเหน็บชาบริเวณปลายแขนและมือ เนื่องจากการถือสมาร์ทโฟนด้วยท่าทางที่งอแขนเป็นมุมแคบกว่า 90 องศานานเกินไป

หรืออาจจะเป็นโรค RSI (Repetitive Strain Injury) ที่ทำให้เรามีอาการตึงหรือเจ็บข้อต่างๆ ได้แก่ เจ็บปวดบริเวณข้อมือ นิ้วมือ มือ แขน ข้อศอก มีอาการมือชาหรืออ่อนแรง มือไม่สามารถทำงานประสานกัน ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการที่เราใช้งานข้อมือนานๆ ซ้ำๆ และเป็นประจำ

  1. โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร/ระบบขับถ่าย

หลายคนน่าจะรู้แล้ว เพราะมีคอนเทนต์ที่นำเสนอความรู้ว่าโทรศัพท์มือถือที่เราใช้กันทุกวัน อาจจะสกปรกกว่าโถส้วมเสียอีก โดยสถาบันวิจัยที่มีชื่อว่า Which? จากประเทศอังกฤษ มีงานวิจัยที่พบว่า หน้าจอทัชสกรีนของแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน รวมถึงและคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์มีเชื้อแบคทีเรียมากกว่าโถชักโครกถึง 20 เท่า แบคทีเรียชนิดนี้มีชื่อว่า สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสารพิษและทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนและท้องร่วง หากเราจับอุปกรณ์พวกนั้นแล้วไม่ล้างมือ เชื้อโรคก็ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

นอกจากนี้พฤติกรรมการติดโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ยังอาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและการขับถ่าย เช่น การกินอาหารไม่ตรงเวลา กินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ขยับเขยื้อนร่างกายน้อย และพวกที่ชอบนั่งแช่เล่นโทรศัพท์ในห้องน้ำนานๆ อาจทำให้มีอาการท้องผูก ท้องร่วง หรือริดสีดวงทวาร

  1. โรคอ้วน/โรคขาดสารอาหาร

แม้ว่าพฤติกรรมการติดมือถือจะไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้เกิดโรคอ้วน แต่สำหรับผู้ที่จดจ่ออยู่แต่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยการนั่งทั้งวันไม่ยอมลุกเดินหรือขยับเขยื้อนร่างกายไปทำอย่างอื่นเลย คือปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคเรื่อรังอื่นๆ มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยซิมอน โบลิวาร์ (SBU) ประเทศโคลอมเบีย ระบุว่าคนวัยหนุ่มสาวที่มีพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟน มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามมา เช่น เบาหวาน ความดัน และโรคเกี่ยวกับหัวใจ

การศึกษานี้ได้ศึกษาพฤติกรรมของนักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพในมหาวิทยาลัย SBU จำนวน 1,060 คน แบ่งเป็นหญิง 700 คน และชาย 360 คน ผู้เข้าร่วมการทดลองจะมีอายุ 19-20 ปี พบว่านักศึกษาที่ติดสมาร์ทโฟน โดยเล่นสมาร์ทโฟนมากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มที่จะดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล กินอาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมหวาน และของว่าง มากกว่าคนที่ไม่ได้ติดถึง 2 เท่า และยังทำให้พวกเขาออกกำลังกายน้อยลง นำไปสู่การเป็นโรคอ้วน และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น 43 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

หรือในอีกมุมหนึ่ง การเสพติดโทรศัพท์มือถือ และมีพฤติกรรมที่นั่งเล่นหรือจดจ่ออยู่กับหน้าจอทั้งวัน ยังอาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ในกลุ่มคนที่กำลังเจริญเติบโต เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาจะเล่นโทรศัพท์ทั้งวันโดยไม่สนใจวันเวลาและมื้ออาหาร หรือถ้าหิวขึ้นมาก็หันไปกินอาหารประเภทสำเร็จรูป อาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์กับร่างกาย จึงทำให้เป็นโรคขาดสารอาหาร ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย (อ้วนก็ขาดสารอาหารได้เช่นกัน)

  1. เกี่ยวกับสภาพจิตใจ

มันคือความผิดปกติทางด้านอารมณ์และสภาพจิตใจ ที่เกิดขึ้นจากการติดโทรศัพท์ ติดโซเชียลมีเดีย ติดเกม เทคโนโลยีมีประโยชน์มากก็จริง แต่ถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ขาดการควบคุม ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม มันก็มีโทษเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือทางด้านอารมณ์ของคนที่ติดมือถือจนขาดไม่ได้ ความรู้สึกที่จะเกิดจขึ้นเมื่อพวกเขาไม่มีโทรศัพท์ จะทำให้พวกเขากระวนกระวาย โกรธ โดดเดี่ยว ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย หงุดหงิด ก้าวร้าว ฯลฯ บางคนมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์และควบคุมตนเอง รวมถึงความเครียดจากการเสพข่าวสารด้านลบ อยู่ตลอดเวลา

บางคนอาจอาการหนักจนเรียกได้ว่าเป็นอาการป่วย เช่น โรคอดทนรอไม่ได้ คนที่จะหงุดหงิด กระวนกระวาย ใจร้อนเวลาที่อินเทอร์เน็ตช้า จนติดมาเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์กับชีวิตจริง การเชื่อทฤษฎีสมคบคิด หลงเชื่อข่าวปลอมได้ง่าย และติดอยู่ในห้องเสียงสะท้อน ไม่ยอมเปิดใจรับฟังในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ อาการซึมเศร้า วิตกกังวล มาจากการรอคอยหรือคาดหวังเสียงโทรศัพท์ หรือการตอบกลับข้อความต่างๆ คลั่งการกดไลก์ คอมเมนต์ หรือแชร์ข้อความต่างๆ โรคกลัวตกกระแสหรือ FOMO และโรคขาดมือถือไม่ได้ หรือโนโมโฟเปีย หมกมุ่นกับการใช้โทรศัพท์มากเกินไป

  1. ปัญหาการเข้าสังคม

เพราะอาการติดหน้าจอ ทำให้ปฏิสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างน้อยลง แม้ว่าเราและเพื่อนจะนั่งอยู่ด้วยกัน แต่มีเรื่องคุยกันน้อยมาก เพราะต่างฝ่ายก็มัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ของตนเอง แทนที่จะพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนตรงหน้า จึงมีแนวโน้มว่าผู้ที่ติดโทรศัพท์มือถือ ติดโซเชียลมีเดีย จะแยกตัวออกจากสังคม แล้วไปมีโลกส่วนตัวบนออนไลน์มากกว่า พวกเขาคิดว่าไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับใครอื่น ตราบใดที่พวกเขามีโทรศัพท์อยู่กับมือ

Pew Research Center สถาบันวิจัยจากวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ทำการศึกษาข้อมูลของผู้ใช้สมาร์ทโฟน พบว่าคนกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาการสนทนาในชีวิตจริง เนื่องจากเลือกพิมพ์ข้อความสนทนากันมากขึ้น รูปแบบการปฏิสัมพันธ์ที่ควรจะมีจากการสื่อสารพูดคุย ที่มีการแสดงความรู้สึกผ่านสีหน้าท่าทางและแววตาจะหายไป สมาธิสั้น รวมถึงอ่านหนังสือน้อยลง ทำให้ประสิทธิภาพในการพูดคุยกันกับคนอื่นๆ ลดลงตามไปด้วย ขาดการเรียนรู้การใช้ภาษาในรูปแบบอื่น เพราะการสื่อสารในโลกออนไลน์มักจะใช้แค่คำสั้นๆ จึงมีปัญหาเวลาที่ต้องพูดคุยกับคนอื่นจริงๆ

  1. เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งสมองและโรคเกี่ยวกับสมอง

ย้ำว่ามันเป็นการ “เพิ่มความเสี่ยง” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการใช้สมาร์ทโฟนจะทำให้เป็นโรคมะเร็งเสมอไป ซึ่งต้นเรื่องนั้นมาจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกส่งเข้ามาที่อุปกรณ์สื่อสารโดยตรงระหว่างที่เราใช้งาน ซึ่งการใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งสมองได้ถึง 2 เท่า โดยมะเร็งจะเกิดกับสมองด้านที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นประจำ

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือ ส่งผลต่อการทำงานของสมอง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ของสหรัฐอเมริกาได้ทดสอบแล้ว ว่า ไม่ว่าจะปิดหรือเปิดโทรศัพท์, วางคว่ำหน้าหรือหงายไว้บนโต๊ะ (แล้ววางไว้ใกล้ๆ ตัว) ล้วนบั่นทอนประสิทธิภาพของสมองลงได้ การวางสมาร์ทโฟนไว้ใกล้ตัว ทำให้สมองส่วนหนึ่งพะวงหรือคิดถึงมือถือตลอดเวลา จุดนี้บั่นทอนพลังสมอง มีผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองลดลง อาจส่งผลต่อเรื่องความจำ

นอกจากนี้งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังมีผลการศึกษาการใช้โทรศัพท์มือถือ ว่ามันสามารถส่งผลให้เซลล์ของมนุษย์เปลี่ยนแปลง และอาจก่อให้เกิดมะเร็งหรือเนื้องอกในสมองได้ด้วย พวกเขามีคำแนะนำที่ควรปฏิบัติตามคือ ให้กดรับโทรศัพท์ให้ห่างตัวก่อนพูดคุยตามปกติ

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : 7 อันตรายต่อสุขภาพหากติด “มือถือ” มากเกินไป