ปิดเมนู
หน้าแรก

7 อันตรายจากการกิน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” มากเกินไป

เปิดอ่าน 20 views

7 อันตรายจากการกิน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” มากเกินไป

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

ในยุคข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ เวลาไปเดินหาซื้อกับข้าวที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตจะพบว่าอาหารสดหลายอย่างมีราคาสูงขึ้น ที่ปรับขึ้น 5-10 บาทอาจยังพอกัดฟันทน แต่บางอย่างที่แพงขึ้นแบบส่วนต่างก่อน-หลังสูงกว่านั้น ประชาชนอย่างเราๆ ก็เริ่มที่จะแบกรับไม่ไหว ยังไม่นับรวมสิ่งอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภคอื่นๆ ที่หลายๆ อย่างเริ่มขยับราคาขึ้นตาม อย่างที่กลายเป็นข่าวใหญ่ “แพงทั้งแผ่นดิน” ตั้งแต่เข้าปีใหม่ได้ไม่กี่วัน

ถึงอย่างนั้น ก็มีสินค้าชนิดหนึ่งที่ผู้ผลิตออกมายืนยันว่าจะยังไม่ปรับราคาขึ้น ถึงขั้นที่มีสื่อหลายสำนักพาดหัวข่าวในลักษณะที่ว่าเป็น “ข่าวดี” หรือ “คนไทยเฮ” นั่นคือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” แน่นอนว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดีที่อย่างน้อยๆ สินค้าก็ไม่ได้แพงขึ้นทุกอย่าง แต่การใช้คำว่าเป็น “ข่าวดี” หรือ “คนไทยเฮ” นั้น ฟังดูเหมือนกับว่าปกติเราบริโภคมันเป็นอาหารหลัก แบบที่กินได้ทุกวัน วันละ 3 มื้อ จึงเป็นข่าวดีที่ต้องเฮดังๆ เพราะมันไม่ขึ้นราคา หรือคนไทยควรหลีกเลี่ยงอาหารอื่นๆ ที่ขึ้นราคาเหล่านั้นแล้วหันมากินบะหมี่สำเร็จรูปกันถ้วนหน้า

ไม่เลย! ถึงอาหารชนิดอื่นจะแพง แต่จะหันมากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทนเพราะราคามันถูกนั้นไม่ได้! แม้ว่าหลายๆ คนอาจจะชอบกินเป็นทุนเดิม เพราะรสชาติอร่อย กินง่าย หรือหลายๆ คนกินจำเป็นต้องกินเฉพาะช่วง โดยเฉพาะช่วงที่เงินเดือนยังไม่ออก แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ใช่อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซ้ำร้ายยังให้โทษมากเสียด้วย การกินบะหมี่สำเร็จรูปจึงไม่ใช่ทางออกสำหรับปัญหาสินค้าแพง มันไม่ใช่อาหารที่ควรจะกินทุกวันด้วยซ้ำไป

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นอันตรายต่อร่างกายมากกว่าที่เราคิด กับคนที่นานๆ กินทีนั้นไม่เป็นไร แต่กับคนที่กินบ่อยๆ หรือคิดจะกินมันเป็นอาหารหลักเพราะอาหารชนิดอื่นราคาแพงนั้น ต้องคิดใหม่ เพราะผลลัพธ์ที่ได้ต่อสุขภาพร่างกายนั้นไม่คุ้มเสีย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงไม่ใช่ทางเลือกการกินในยุคที่ข้าวยากหมากแพงเท่าไรนัก

  1. ขาดสารอาหาร

ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นมีส่วนประกอบอยู่ไม่กี่ชนิด ส่วนประกอบหลักราวๆ 60-70 เปอร์เซ็นต์คือแป้งสาลี อีก 15-20 เปอร์เซ็นต์เป็นไขมัน ทั้งในเครื่องปรุงและจากการทอดเส้นบะหมี่ พวกผักแห้งและเนื้อสัตว์แห้งที่มาพร้อมในซองเครื่องปรุงก็แทบจะไม่มีสารอาหารอะไรหลงเหลืออยู่ (จริงๆ ไม่ควรคาดหวังอะไรจากของที่ใส่มาเป็นวิญญาณเหล่านั้น) จึงจัดได้ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่ด้อยคุณค่าทางสารอาหาร การกินบ่อยๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร เนื่องจากในแต่ละวันได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในเด็กที่ร่างกายยังต้องพัฒนา การเติมผักหรือเนื้อสัตว์อาจช่วยได้ ซึ่งก็ต้องซื้อมากินอยู่ดี

  1. ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ

อาจบอกได้ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ สิ่งที่เราได้เต็มๆ จากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีแค่แป้ง ไขมัน และโซเดียม ในนั้นจึงแทบไม่มีสารอาหารอะไรที่จำเป็นต่อร่างกายเลย การกินบ่อยๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงอาจก่อให้เกิดโทษต่อสุขภาพ ผลเสียอาจไม่เกิดขึ้นในทันที แต่จะค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ เหมือนกับการตายผ่อนส่ง มีข้อมูลจากสมาคมผู้บริโภคออสเตรเลียที่สำรวจพบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง มีไขมันมากพอๆ กับอาหารประเภทอาหารขยะ ให้คาร์โบไฮเดรตสูง โซเดียมสูง ทั้งน้ำมันที่ใช้ในกระบวนการทอดเส้นมักจะเป็นน้ำมันพืชราคาถูก เมื่อแตกตัวจะได้เป็นกรดไขมันชนิดทรานส์ ซึ่งเป็นไขมันเลว

  1. โซเดียมสูง

ยิ่งรสชาติเข้มข้น โซเดียมก็ยิ่งสูง ในเครื่องปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นอุดมไปด้วยโซเดียมและผงชูรส รวมถึงการปรุงรสในเส้นบะหมี่ที่จะมีรสชาติเค็ม ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นอาหารที่มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูงมากเมื่อเทียบกับปริมาณอาหารต่อ 1 หน่วย โดยตามหลักโภชนาการ คนไทยควรบริโภคจะโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพียงซองเดียวก็มีโซเดียมราวๆ 1,600 มิลลิกรัม ซึ่งมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวันเสียอีก บางคนยังปรุงรสเพิ่มจากซอส น้ำปลา หรืออาหารแปรรูปอย่างอื่นอีก เท่ากับว่าในวันที่กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราอาจจะได้โซเดียมในวันนั้นมากเกินกว่าปกติ หากไม่มีการปรับสมดุลกับอาหารอื่น

  1. อ้วน

ก็เพราะว่าส่วนประกอบหลักๆ ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือ “แป้ง” แบบที่เราๆ ก็รู้กันอยู่แล้วนั่นเอง ซึ่งแป้งหลังจากผ่านกระบวนการย่อยแล้วก็จะกลายเป็นน้ำตาล เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานในร่างกาย ส่วนหนึ่งจะถูกลำเลียงไปที่ตับและกล้ามเนื้อ ซึ่งหากพลังงานที่ว่านี้ใช้ไม่หมด ก็จะเปลี่ยนไปเก็บเป็นพลังงานสำรอง โดยจะอยู่ในรูปของไขมัน อันที่จริงไม่ต้องคิดมาไกลถึงขั้นไล่กระบวนการทำงานในระบบย่อยอาหารหรอก แค่พลิกหลังซองขึ้นมาดูปริมาณแคลอรี่ก็น่าจะพอรู้แล้วว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่ทำให้อ้วนได้ โดยพลังงานจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองเล็กซองเดียว ก็ให้พลังงานเหมือนกับเรากินข้าวเข้าไปประมาณ 3 ทัพพี โซเดียมก็ทำให้ตัวบวม แต่ถามว่าอิ่มไหม? ไม่เลย!

  1. โรคภัยไข้เจ็บถามหา

เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้คาร์โบไฮเดรตสูง ไขมันสูง โซเดียมสูง การกินเข้าไปมากๆ จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะโรคภัยไข้เจ็บถามหา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคอ้วนลงพุง และโรคขาดสารอาหาร นั่นหมายความว่าการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เราป่วยเป็นโรคเรื้อรังพวกนี้สูงมาก สำหรับเด็กๆ วัยกำลังโตและวัยรุ่นที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากๆ อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรหลีกเลี่ยงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไม่ควรจะกินบ่อยๆ (มากสุดคือวันละ 1 ซอง) และควรเติมพวกผักหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ลงไปเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ

  1. รบกวนระบบย่อยอาหาร

นี่อาจไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรงอะไรเมื่อเทียบกับข้อที่ผ่านๆ มา แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้เหมือนกัน เพราะหลายๆ ครั้ง หลังจากการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราอาจรู้สึกแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย อาจเป็นเพราะเราเคี้ยวไม่ละเอียด อีกทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นหลักๆ คือแป้ง ที่ให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ปกติคาร์โบไฮเดรตจะใช้เวลาย่อยค่อนข้างนานและย่อยยากอยู่แล้ว บางทีจึงส่งผลต่อระบบย่อยอาหารได้ นอกเหนือจากนั้น การที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่มีใยอาหารเลย (และเราก็ไม่ใส่ผักลงไปเพิ่ม) ก็อาจทำให้เกิดภาวะท้องผูกได้เช่นเดียวกัน มันอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก แต่มันก็คงรู้สึกรำคาญตัวไม่น้อยเลย

  1. ไม่อิ่ม เติมนู่นเติมนี่ก็ราคาสูงอยู่ดี

การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นไม่คุ้ม แม้ว่าราคาต่อซองมันจะไม่ถึง 10 บาท เพราะขนาดซองแค่นั้นไม่ได้ช่วยให้อิ่มท้อง จริงๆ แล้วหากเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขนาดซอง 6 บาท หลายๆ คนบอกว่าต้องกิน 1 ซองครึ่งถึงจะอิ่มพอดี (1 ซองไม่อิ่ม 2 ซองก็เยอะไป ส่วนขนาดบิ๊กแพ็กถึงจะอิ่มพอดีแต่กินแล้วไม่ฟิน) แต่มันก็ต้องแกะอีกซองทิ้งไว้ค้างเติ่งอีก จึงตัดปัญหาทำ 2 ซองไปเลยทีเดียว นอกจากนี้การเติมผักหรือเนื้อสัตว์เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการตามที่เขียนไว้หน้าซองก็ต้องซื้อมาใส่เพิ่มอยู่ดี คำนวณไปคำนวณมาราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชามนั้นก็ไม่ต่างจากข้าวหรือก๋วยเตี๋ยวเท่าไรนัก โดยที่อาจเป็นโทษต่อร่างกายมากกว่าด้วย แบบนี้กินข้าวหรือก๋วยเตี๋ยวให้อิ่มๆ ไปเลยน่าจะคุ้มกว่า

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเราจะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ได้เลย หรือจะมองว่ามันเป็นอาหารยาพิษอันตรายขนาดนั้น ทุกอย่างอยู่ที่วิธีการกินของเรา ถ้าเราไม่ได้กินบ่อย กินถี่ นานกินที หรือมีวิธีกินแบบที่ลดโทษของมันลงมา มันก็เป็นอาหารที่อร่อยดี กินง่าย ราคาถูก และกินได้อย่างปลอดภัย วิธีแนะนำง่ายๆ คือ ควรกินแบบต้มสุก โดยเลือกกินแบบน้ำ ใส่เครื่องปรุงให้น้อย ไม่จำเป็นต้องหมดซอง เติมผัก ไข่ เนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์แปรรูปลงไปด้วยเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน คำนวณสมดุลสารอาหารให้ดีหากมื้อหนึ่งของวันเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพื่อควบคุมแป้ง โซเดียม และไขมันและไม่ควรกินเกินวันละ 1 ซอง (ถ้วย) ดีที่สุดคือไม่เกินสัปดาห์ละ 2 ซอง (ถ้วย)

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : 7 อันตรายจากการกิน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” มากเกินไป