ปิดเมนู
หน้าแรก

7 ปัจจัยกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน ที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง

เปิดอ่าน 43 views

7 ปัจจัยกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน ที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง

Hello Khun Mor

สนับสนุนเนื้อหา

โรคผิวหนังอย่างโรคสะเก็ดเงินนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสภาพผิวของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยต้องทรมานกับอาการผื่นสีแดงหนา และอาการคันที่คอยรบกวนแล้ว ยังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาหายได้ ทำได้แค่เพียงกดอาการของโรค ไม่ให้แสดงอาการ หากมีสิ่งใดมากระตุ้น ก็จะทำให้อาการของโรคนั้นกลับมาได้เสมอ Hello คุณหมอ จะให้ทุกคนทำความรู้จักกับ 7 ปัจจัยกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน ที่พบได้บ่อย เพื่อให้ผู้ป่วยรับทราบ และสามารถหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นเหล่านี้ได้ มาฝากทุกคนกัน

โรคสะเก็ดเงิน คืออะไร

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) นั้นคือโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เกิดอาการผื่นแดงหนา เป็นรอยขุยสีขาวๆ คล้ายกับรังแค เป็นสะเก็ด เกิดขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย

โรคสะเก็ดเงินนั้นเกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม และเชื้อโรคต่างๆ โจมตีเซลล์ของตัวเองเพราะเข้าใจว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และส่งผลให้เกิดอาการที่ผิวหนัง เป็นโรคสะเก็ดเงินอย่างที่เห็น

โรคสะเก็ดเงินนี้สามารถพบได้ในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคผิวหนัง อีกทั้งยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ทำให้เพียงแค่ให้ยาเพื่อกดอาการของโรค ทำให้อาการของโรคหายไปชั่วคราว รอการปะทุขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หากผู้ป่วยเจอตัวกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน

ปัจจัยกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน ที่ควรหลีกเลี่ยง

ปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกลับมาปะทุอีกครั้งได้ อาจมีดังต่อไปนี้

  • ความเครียด

ความเครียดเป็นปัญหาสำคัญ ที่อาจกระตุ้นทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินนั้นกลับคืนมาได้ เมื่อเราเกิดความเครียด ร่างกายของเราอ่อนแอลง ระบบภูมิคุ้มกันก็ทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ ส่งผลให้เรามีโอกาสป่วยได้ง่าย และทำให้โรคแฝงที่เราเคยเป็น เช่น โรคเริม หรือโรคสะเก็ดเงิน มีโอกาสกลับมาออกอาการได้อีกครั้ง

ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินนั้นควรระมัดระวังเรื่องความเครียดสะสม พยายามหาทางผ่อนคลายอารมณ์ ไม่ให้ตัวเองเครียดมากเกินไป เช่น ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย หรือลองฝึกสมาธิด้วยการนั่งสมาธิ ก็เป็นหนทางที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับความเครียดได้เป็นอย่างดี

  • อากาศแห้งและเย็น

สภาพอากาศหนาวและแห้ง สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพผิว ทำให้ผิวของเราขาดความชุ่มชื้น ผิวแห้ง หยาบกร้าน และอาจกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้

ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินควรคอยรักษาความชุ่มชื้นของผิวอยู่เสมอ เช่น ทาโลชั่นหลังจากอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำนาน ใช้สบู่และครีมบำรุงผิวที่ปราศจากน้ำหอม เพื่อช่วยลดอาการระคายเคืองผิว และหากอาจใช้เครื่องทำความชื้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันที่ผิวหนังเนื่องจากอากาศแห้งได้เช่นกัน

  • การติดเชื้อ

การติดเชื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหวัด เจ็บคอ จากเชื้อไวรัส การติดเชื้อรา หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย ล้วนแล้วแต่ก็สามารถกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกลับมากำเริบได้ทั้งสิ้น ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินควรระมัดระวัง และคอยสังเกตสัญญาณของการติดเชื้อเหล่านี้ให้ดี และรีบติดต่อแพทย์เพื่อทำการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจมาพร้อมกับการติดเชื้อนั้น

  • ยาบางชนิด

ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (beta-blockers) ที่ใช้เพื่อรักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคไข้มาลาเรีย ยาสเตียรอยด์ (steroid) หรือยาแก้อักเสบในกลุ่ม NSAIDs อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และส่งผลให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้

  • แผลที่ผิวหนัง

บาดแผลที่ผิวหนังต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดจากการโดนแมลงกัด รอยถลอก มีดบาด หรือการเกา ที่สร้างความเสียหายให้ผิวหนัง ก็มีโอกาสที่จะกระตุ้นให้อาการของโรคสะเก็ดเงินกำเริบได้เช่นกัน นอกจากนี้ กิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน เช่น การโกนหนวด ก็อาจทำให้เกิดแผลบนผิวหนัง และกลายเป็นตัวกระตุ้นโรคสะเก็ดเงินได้อีกด้วย

  • การสัก

การสักนั้นจะทำให้ผิวหนังเสียหาย และเกิดแผลจากการโดนเข็มจิ้ม ทำให้อาจกระตุ้นการกำเริบของโรคสะเก็ดเงินได้ สีที่ใช้ในการสักก็อาจจะทำให้ผิวเกิดความระคายเคือง หรืออาจนำไปสู่การติดเชื้อ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถกระตุ้นโรคสะเก็ดเงินได้เช่นกัน

  • ยาคุมกำเนิด

มีงานวิจัยที่พบว่า การคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือแผ่นแปะคุมกำเนิด อาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย และกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : 7 ปัจจัยกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน ที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง