ปิดเมนู
หน้าแรก

5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการ “ดีท็อกซ์ลำไส้”

เปิดอ่าน 67 views

5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการ “ดีท็อกซ์ลำไส้”

  • การทำดีท็อกซ์ ด้วยการถ่ายอุจจาระ ทำให้รู้สึกตัวเบา แต่การขับถ่ายมีเพียงอุจจาระและน้ำเท่านั้น ร่างกายไม่ได้เผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไป

  • การดื่มน้ำหมักมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคและแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ง่าย ส่งผลให้ท้องเสีย หรือมีผลต่อระบบทางเดินอาหารในระยะยาวได้

  • การทำดีท็อกซ์ด้วยยาระบายไม่สามารถชะล้างสารพิษหรือคราบตะกรันที่สะสมตามผนังลำไส้ ในกรณีที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์

 

 ปัจจุบันการแชร์และส่งต่อข่าวสารสุขภาพเกิดขึ้นมากมายทุกวัน  หลายเรื่องเป็นความจริงที่ผ่านการวิจัย พิสูจน์และรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ แต่หลายครั้ง ข่าวสารกลับเผยแพร่อย่างบิดเบือนจนน่าตกใจ

เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามคือความเข้าใจผิดของการดีท็อกซ์ลำไส้ ทั้งเครื่องดื่มดีท็อกซ์สำเร็จรูป สูตรดีท็อกซ์ธรรมชาติ และการสวนดีท็อกซ์อีกหลายรูปแบบ มาดูกันว่า 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดีท็อกซ์ลำไส้ มีอะไรกันบ้าง

 

  1. ดีท็อกซ์ช่วยลดไขมัน

หลายสูตรหลายวิธีเน้นการทำดีท็อกซ์ด้วยการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย โดยเฉพาะการถ่ายอุจจาระ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกตัวเบา  แต่ในความจริงแล้ว การขับถ่ายมีเพียงอุจจาระและน้ำเท่านั้น แต่ร่างกายไม่ได้เผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไปเลย  บางกรณีผู้ขับถ่ายอาจเสียเกลือแร่และวิตามินจากการขับถ่ายจำนวนมากจนเกิดปัญหาสุขภาพตามมา

  1. เครื่องดื่มยอดฮิตคือทางลัดของการทำดีท็อกซ์ 

สุขภาพดีไม่มีทางลัด การทำดีท็อกซ์ก็เช่นกัน การซื้ออาหารเสริมหรือเครื่องดื่มดีท็อกซ์ที่ขายตามท้องตลาดหรือในโลกออนไลน์ ควรอ่านข้อมูลให้ครบ ดูส่วนผสม และดูว่ามีอย.หรือไม่ ทางที่ดีไม่ควรซื้อหามารับประทานเอง โดยไม่ได้ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์อย่างเด็ดขาด

 

  1. น้ำหมักช่วยขับของเสีย 

การนำผักและผลไม้มาหมักเพื่อให้เกิดน้ำหมักใช้ดื่มเพื่อล้างพิษ อาจเสี่ยงสารพิษตกค้างในกรณีที่ล้างทำความสะอาดไม่ทั่วถึง   โดยเฉพาะเมื่อนำไปหมักด้วยวิธีต่างๆ ที่ไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อการปนเปื้อนระหว่างการหมัก ทั้งจากภาชนะและวัตถุดิบ รวมถึงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคและแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ง่าย ส่งผลให้ท้องเสีย หรือมีผลต่อระบบทางเดินอาหารในระยะยาวได้

 

  1. ยาระบาย ทดแทนดีท็อกซ์ 

ยาระบาย มีฤทธิ์ช่วยดึงน้ำออกจากผนังลำไส้ ส่งผลให้เนื้ออุจจาระนิ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย โดยที่ยาระบายไม่สามารถชะล้างสารพิษหรือคราบตะกรันที่สะสมตามผนังลำไส้ ในกรณีที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์

  1. ดีท็อกซ์เองที่บ้านก็ได้ 

การสวนลำไส้เองที่บ้านอาจเสี่ยงต่อเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อน เสี่ยงต่อความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำดีท้อกซ์ 

ตามธรรมชาติ ร่างกายมนุษย์มีกลไกกำจัดสารพิษโดยผ่านการทำลายที่ตับและการขับออกที่ไต  ดังนั้นการดีท็อกซ์ล้างลำไส้จึงไม่มีความจำเป็น ทั้งนี้หากอาหารที่รับประทานเข้าไปมีสารพิษปนเปื้อนร่างกายจะดูดซึมไปยังลำไส้เล็กพร้อมกับสารอาหารและวิตามินอื่นๆ ส่วนที่ตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเพียงกากอาหารที่ไม่ถูกย่อยหรือดูดซึมแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม หากกลัวว่าร่างกายจะมีสารพิษตกค้าง  ควรเริ่มใส่ใจการลดสารพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ และลดการนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหารปนเปื้อน หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารปิ้งย่าง และอาหารทอด โดยเฉพาะอาหารที่ทอดด้วยน้ำมันใช้ซ้ำหลายๆ ครั้ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการ “ดีท็อกซ์ลำไส้”