ปิดเมนู
หน้าแรก

15 เคล็ดลับ หลีกเลี่ยง “ความขัดแย้ง” ในการทำงาน

เปิดอ่าน 67 views

15 เคล็ดลับ หลีกเลี่ยง “ความขัดแย้ง” ในการทำงาน

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

“ความไม่เห็นด้วย” เกิดขึ้นได้เสมอ คุณอาจจะไม่เห็นด้วยกับหัวหน้า ไม่เห็นด้วยในวงสนทนากับเพื่อนร่วมงานในช่วงพักกลางวัน และความขัดแย้งอีกมากมายเกิดที่ขึ้นมาระหว่างการประชุม

แต่อย่าลืมเหตุผลของ “การประชุม” ที่มีเพื่อให้พนักงาน (ทุก ๆ คน) มีส่วนร่วมในการอภิปราย และแสดงความคิดเห็น ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการประชุมได้ เพราะการประชุมมีไว้เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมสนทนา หาข้อตกลง ตัดสินใจ และรับผิดชอบร่วมกัน หากคุณไม่แสดงความคิดเห็นเลย ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เท่ากับว่าคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมนั้นเลย

อย่างไรก็ดี การที่มีใครคนใดคนหนึ่ง “ไม่เห็นด้วย” ในการตัดสินใจกลับเป็นสิ่งสำคัญ หมายความว่าเขาเห็นจุดบกพร่องที่ต้องการการแก้ไข เพื่อให้งานเดินหน้าต่อได้ ดังนั้น ความขัดแย้ง ที่ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำงานเป็นทีมประสบความสำเร็จ ในทางกลับหากไม่มีคนเห็นต่างเลย ทุกคนเออออห่อหมกกับทุกอย่างต่างหาก ที่เป็นการทำงานเป็นทีมที่ “ผิดปกติ” ถ้าคุณไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนงาน หรือไม่เคยมีความคิดไปในทางที่ไม่เห็นด้วยเลย “คุณไม่จำเป็นต้องเข้าประชุมหรือร่วมในทีม” ด้วยซ้ำ เพราะไม่ได้ช่วยให้งานได้พัฒนาไปจากเดิม

แต่การที่จะแสดงความคิดในเชิงไม่เห็นด้วยออกมา คุณต้องคิดถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา เพราะคุณกลายเป็นคนที่ “ขัด” กับสิ่งที่คนอื่นเห็นตรงกัน แต่นี่คือ 15 เคล็ดลับที่คุณควรจะเรียนรู้เพื่อที่จะแสดงความ “ไม่เห็นด้วย” อย่างมืออาชีพ

1. สร้างตัวเองเป็นตัวแม่ “การไม่เห็นด้วย”

ถ้าคุณเกิดไม่เห็นด้วยกับอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการทำงาน เพื่อนร่วมงานจะมองว่าคุณเป็นคน “ชอบโต้แย้ง” ตัวแม่ของ “การไม่เห็นด้วย” แต่คุณไม่สามารถเปลี่ยนตัวคุณในสายตาเพื่อนร่วมงานได้ ก็พัฒนาให้เป็นข้อดีเสียเลย ถ้าคุณจะไม่เห็นด้วย ก็ต้องสมเหตุสมผลชนิดที่เพื่อนร่วมงานก็เถียงคุณไม่ได้และต้องเห็นคล้อยตามในที่สุด เมื่อทีมฟังคำโต้แย้งของคุณแล้วนำไปปรับปรุงจนได้ผลลัพธ์ที่ดี บ่อยครั้งเข้า ทางทีมอาจจะเป็นฝ่ายถามหาความไม่เห็นด้วยจากคุณเองก็ได้ เพื่ออุดรอยรั่วต่าง ๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็น (แต่คุณเห็น)

2. อย่าแสดงความไม่เห็นด้วยในขณะที่คุณกำลังอารมณ์ไม่ดี

ต่อให้คุณจะมีความเป็นมืออาชีพในการทำงานมากแค่ไหน แต่ช่วงที่คุณอารมณ์ไม่ปกติ มีความเสี่ยงสูงมากที่คุณจะหลุดพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาขณะที่กำลังโต้แย้งหรือนำเสนอข้อมูล คุณในสายตาเพื่อร่วมงานเปลี่ยนไป เขาจะมองว่าคุณพยายามจะโจมตี อยากเด่น หรือแค่อยากจะหักหน้าฝั่งตรงข้าม เครดิตคุณจะเสียทันที เพราะฉะนั้น อย่าแสดงความไม่เห็นด้วยออกมาถ้าคุณยังหัวร้อน และไม่มั่นใจว่าจะมีเหตุผลในการพูดมากน้อยแค่ไหน

3. การไม่เห็นด้วยในการทำงาน ต้องไม่เป็นเรื่องส่วนตัว

นี่คือข้อควรระวัง คุณต้องวางอคติส่วนตัวกับเพื่อนร่วมงานให้หมด อย่าแสดงความไม่เห็นด้วยเพราะความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานไม่ปกติ คิดไว้เสมอว่านี่คือเรื่องงาน การจะโต้แย้งอะไรออกไปต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ความสำเร็จ และความล้มเหลวของทีมก่อนหน้านี้ (ร่วมกับวัฒนธรรมองค์กรในบางครั้ง) พิจารณาว่าต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร อย่าเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมงานกล่าวหาว่าคุณจ้องจะโจมตีเขา “คุณแค่ไม่เข้าใจในสิ่งที่ฉันเสนอ คุณเลยไม่เห็นด้วย”

4. ก่อนจะโต้แย้ง แสดงความเห็นด้วยในบางจุดก่อน

ก่อนแสดงข้อโต้แย้งออกมา ต้องทำการบ้านก่อน โดยระบุว่า “ข้อเสนอที่คุณเสนอมานั้นดีนะ แต่…” ก็เพื่อให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าคุณฟังเขาพูดอยู่ตลอดเวลา และก่อนที่คุณจะโต้แย้ง คุณได้ทำความเข้าใจกับมันแล้ว ที่โต้แย้งขึ้นมาก็เพราะว่ารู้สึกติดตรงจุดนั้น ๆ อธิบายว่าทำไมคุณถึงรู้สึกเช่นนั้น โดยคุณอาจพูดทวนในสิ่งที่เพื่อนร่วมงานของคุณเสนอก่อนที่จะเข้าประเด็นไม่เห็นด้วย

5. รักษาความเป็นมืออาชีพของตนเอง

ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เพื่อนร่วมงานเสนอ คุณต้องเคารพเพื่อนร่วมงานเสมอ แม้ว่าการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยจะเป็นเรื่องที่แสดงความจริงใจ ตรงไปตรงมา และได้ผลลัพธ์ที่ดีก็ตาม อย่านำอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะถ้าเพื่อนร่วมงานคนนั้นเคยทำให้คุณต้องเสียน้ำตา ความรู้สึกคับแค้นหรืออยากโจมตีเมื่อมีโอกาส ย่อมเกิดขึ้นมา แต่สงครามแบบนี้มีแต่จะทำให้พนักงานทั้งสองฝ่ายไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังเสียเครดิตในหน้าที่การงานอีกต่างหาก

6. ทำความเข้าใจความกังวล ความกลัว หรือความคาดหวังจากเพื่อนร่วมงาน

ถ้าเพื่อนร่วมงานมีแนวโน้มที่จะไม่เห็นด้วยทั้งที่คุณอธิบายเหตุผลไปหมดแล้ว ให้คุณถามเขาว่า “ถ้าอย่างนั้นคุณไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของฉันอย่างไร ฉันจะต้องแก้ไขอะไรเพื่อให้คุณรู้สึกเห็นด้วย ฉันจะได้ปรับปรุงแก้ไข” เพราะการทำงานที่คนทุกคนเห็นด้วยหมดไม่ใช่ลักษณะการทำงานที่ได้ผลลัพธ์ออกมาดี ถ้านี่คือข้อโต้แย้งของคุณที่คุณเห็นจากการนั่งประชุม คุณต้องถามเพื่อนร่วมงานของคุณด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรกับข้อเสนอของคุณ

7. แสดงความคิดเห็นในนามของตัวเองเท่านั้น

อย่าทำตัวเป็น “ผู้แทน” โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะความน่าเชื่อถือของคุณจะหายไปกับตา ด้วยข้อความประมาณว่า “นี่คือสิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิด” หรือ “เราทุกคนต่างก็รู้สึกแบบนี้” สิ่งที่จะตามมาก็คือคำถามว่า “ฉันไปเห็นด้วยกับนางตั้งแต่เมื่อไร” นั่นแปลว่าพวกเขาจะหลุดออกจากหัวข้อการสนทนาเรื่องงาน แล้วไปนั่งซุบซิบนินทาความมั่นหน้าของคุณแทน พวกเขาจะคิดว่าคุณเป็นคนหลงตัวเอง และเหมารวมว่าทุกคนเห็นด้วยกับคุณหมด ซึ่งแสดงถึงความเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลของคุณด้วย

8. ถอยออกมามองภาพรวมก่อน

การแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างมีประสิทธิภาพ คุณจะต้องมองสถานการณ์ด้วยมุมมองของคนนอก คือ ถอยห่างออกมาแล้วมองในภาพรวม มองในมุมกว้าง จะทำให้คุณเห็นอะไร ๆ กว้างขึ้น ยิ่งองค์กรมีลำดับชั้นการทำงานมากเท่าไร การพิจารณาปัญหาในแต่ละขั้นตอนก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้คุณต้องเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหา พนักงานที่สามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทั้งคนและองค์กร คือ มักจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง

9. หลีกเลี่ยงการซักถามเพื่อนร่วมงาน

จริง ๆ แล้ว การถามคำถามความเห็นของเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งที่เหมาะสมและสมควรที่จำเป็นต้องทำ แต่การยิงคำถามแบบไม่รู้จักจบจักสิ้นจะยิ่งทำให้พวกเขาสับสน แล้วจะยิ่งให้ประเด็นนั้น ๆ ดูเลื่อนลอยมากกว่าเดิม เพราะไม่ได้ข้อสรุปสำหรับแก้ปัญหาเสียที

10. ถ้าคุณมีข้อเท็จจริง ต้องระบุด้วย

ยิ่งคุณมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ความรู้ หรือข้อมูลที่สามารถนำมาสนับสนุนทิศทางการแก้ปัญหาของการทำงานได้ คุณต้องงัดมาใช้ให้หมด แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ อย่ายึดติด! ตัวอย่างคือ วิธีนี้เคยแก้ปัญหาในอดีตไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาปัจจุบันไม่ได้เหมือนกัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกัน ต้องประเมินปัญหา ประเมินสถานการณ์ แล้วค่อยตัดสินใจอีกที

11. หาจุดร่วมที่ต้องการร่วมกัน

ในการเริ่มต้นประชุมงาน สิ่งที่คุณต้องพิจารณาเพื่อให้เพื่อนร่วมงานมีแนวโน้มจะเห็นด้วยกับความคิดของคุณมากที่สุด คุณต้องมุ่งเป้าไปที่ความสนใจและผลลัพธ์ที่ทุกคนในทีมต้องการร่วมกัน เพราะเมื่อคุณและเพื่อนร่วมงานกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน แนวโน้มที่เขาจะไม่เห็นด้วยกับคุณนั้นจะน้อยลง

12. ฟังเพื่อปรับความเข้าใจและมุมมองของเพื่อนร่วมงาน

การที่สองฝ่ายมีประเด็นการทำงานขัดแย้งกัน คุณและเพื่อนร่วมงานควรมีจุดยืนของตัวเองที่ให้ชัดเจน ที่สำคัญคือ “ฟัง” ให้มาก คุณอาจใช้เทคนิคในการโต้ตอบ เพื่อให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่าคุณสนใจฟังในสิ่งที่เขาพูด คุณรับฟังจุดยืนของเขา และกำลังพยายามทำความเข้าใจจุดยืนของเขาด้วย อย่าเสียเวลาโต้แย้งในเรื่องที่รายละเอียดยังไม่ชัดเจน ไม่ชัดแม้กระทั่งจุดยืนของแต่ละฝ่าย

13. อย่าดูถูกความเชื่อ ความสนใจ และความคิดของเพื่อนร่วมงาน

คุณสองฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะเห็นหรือเชื่อไม่ตรงกัน แต่คุณทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปตัดสินว่าความคิดของอีกฝ่ายไม่ดี ผิด หรือไม่มีคุณค่าเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องที่เสียมารยาทและไม่เคารพความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน ทั้งนี้ อย่าอ้างหรือทำให้เขาเข้าใจว่า “คุณแค่ล้อเล่น” เพราะเบื้องหลังของการล้อเล่น ทุกอย่างเป็นความจริง

14. เป้าหมายการโต้แย้งไม่ใช่ชัยชนะ แต่คือการจัดการความเห็นที่ไม่ตรงกัน

การโต้แย้งในการทำงานนั้นไม่ได้มีเป้าหมายที่จะหาคนแพ้คนชนะ แต่คือการทำให้งานเคลียร์จนไม่มีใครเห็นต่าง และมีทิศทางการทำงานไปในทิศทางเดียวกันต่างหาก ต่อให้ต้องโต้เถียงกันเรื่องงานมากแค่ไหนก็ตาม คุณต้องมั่นใจว่าเมื่อเดินออกมาจากห้องประชุมแล้วความสัมพันธ์ของคุณกับเพื่อนร่วมงานต้องไม่แย่ลง เพราะมันส่งผลต่อการตัดสินใจเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วยในอนาคตด้วย นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณและเพื่อนร่วมงานต้องชัดเจน

15. ประนีประนอมให้ได้ถ้าจำเป็น

ในการทำงาน คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับทุกอย่าง แต่ก็ไม่ควรจะปล่อยให้สิ่งที่คุณรู้สึกว่าอาจจะสร้างปัญหาในอนาคตออกไปด้วยเช่นกัน (ซึ่งถ้าคุณแย้งแต่แรกปัญหาอาจจะไม่เกิด) คุณกับทีมต้องหาหนทางแก้ไขปัญหาให้สมบูรณ์ เพราะการทำงานเป็นทีมคือต้องดิ้นรนแก้ปัญหาโดยที่ทุกคนในทีมยอมรับร่วมกันให้ได้ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่คุณต้องแน่ใจว่าสิ่งที่คุณแย้งจะทำให้งานดีขึ้นจริง ๆ ที่สำคัญ พยายามอย่าให้การตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีใครเห็นจุดบกพร่องอะไรเลย

การที่คุณจะโต้แย้งเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับคนในทีม คุณอาจมองว่าเป็นเรื่องยากและน่ากลัว แต่ถ้าคุณพยายามฝึกฝนด้วยเคล็ดลับ 15 ข้อนี้ ความรุนแรงที่คุณกังวลจะไม่เกิดขึ้น เพราะในสังคมการทำงาน พนักงานทุกคน (น่าจะ) มีวุฒิภาวะมากพอที่จะพยายามหาข้อตกลงร่วมกันโดยให้เกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด เพราะต้องรักษาความสัมพันธ์เชิงบวกกับเพื่อนร่วมงาน และเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ไม่ต้องผิดใจกับใคร ดังนั้น กุญแจสำคัญในการทำงานเป็นทีม คือการทำให้ความเห็นที่ไม่ตรงกันให้กลายเป็นที่ยอมรับ และทุกคนเป็นเจ้าของการตัดสินใจร่วมกัน

ข้อมูลจาก The Balance Careers

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : 15 เคล็ดลับ หลีกเลี่ยง “ความขัดแย้ง” ในการทำงาน