ปิดเมนู
หน้าแรก

“ไอโอดีน” สารอาหารสำคัญ ที่ส่งผลถึงการทำงานโดยรวมของร่างกาย

เปิดอ่าน 270 views

“ไอโอดีน” สารอาหารสำคัญ ที่ส่งผลถึงการทำงานโดยรวมของร่างกาย

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ไอโอดีนเป็นสารอาหารที่เป็นต้นทุนทางสติปัญญาของทารกแรกเกิดที่สำคัญมากตัวหนึ่ง เนื่องจากการขาดสารไอโอดีนจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมองของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึงแรกเกิด 0-2 ปี ซึ่งเป็นโอกาสทองของการพัฒนาสติปัญญา และไอคิวของเด็กไทย

 

ไอโอดีน คืออะไร?

ไอโอดีน เป็นธาตุอาหาร และเกลือแร่ที่มักอยู่ในรูปแบบของเกลือโซเดียมไอโอดายด์ (Sodium iodide) หรือเกลือโปแตสเซียมไอโอดายด์ (Potassium iodide) โดยไอโอดีนเป็นธาตุอาหารที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร/น้ำดื่มเท่านั้น

 

อาหารที่มีไอโอดีน

หากใครเคยได้ยินว่าแต่ก่อนผู้คนในภาคอีสานบ้านเราพบว่าเป็นคอหอยพอกกันมาก เป็นเพราะภาคอีสานเป็นเขตที่ไม่ติดกับทะเล จึงทำให้ไม่ค่อยได้มีโอกาสทานอาหารทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่มีไอโอดีนอยู่มาก แต่ในสมัยนี้นอกจากชาวอีสานจะสามารถหาอาหารทะเลได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังมีเกลือไอโอดีนติดบ้านไว้ปรุงอาหารในชีวิตประจำวันอีกด้วย

นอกจากเกลือแล้ว ยังมีอาหารอื่นๆ ที่มีไอโอดีนตามธรรมชาติ และเพิ่มไอโอดีนเข้าไปด้วย ได้แก่ ขนมปัง น้ำผลไม้กล่อง เนย โยเกิรต์ นม นมถั่วเหลือง อาหารเช้าซีเรียล และสาหร่าย เป็นต้น

 

ประโยชน์ของไอโอดีนต่อร่างกาย

ไอโอดีน เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็ก หญิงมีครรภ์ และวัยชรา ร่างกายจะนำไอโอดีนไปใช้โดยผ่านทางต่อมไทรอยด์ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการใช้พลังงานของร่างกาย และควบคุมการทำงานต่างๆ ของเซลล์ทุกชนิด โดยเฉพาะ สมอง หัวใจ และกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเซลล์ทุกชนิด โดยเฉพาะในช่วงเป็นทารกในครรภ์ (ต่อเซลล์สมอง เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และกระดูก) ควบคุมอุณหภูมิ ความร้อนหนาวของร่างกาย และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอีกด้วย

นอกจากนั้น ในผู้หญิง ไอโอดีนยังอาจเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเต้านมอีกด้วย โดยมีรายงานการรักษาโรคก้อนในเต้านมชนิดที่เป็นพังผืด และถุงน้ำ (Fibrocystic breast disease) โดยการให้กินไอโอดีนเสริมอาหาร ซึ่งได้ผลในผู้ป่วยบางราย

 

อันตรายจากไอโอดีน หากได้รับน้อย หรือมากเกินไป

คนที่ขาดไอโอดินอาจมีความเสี่ยงในการเป็นต่อมไทรอยด์โต (คอพอก) และการที่ไม่มีไอโอดินเข้าไปสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน อาจทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ที่ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เชื่องช้า อ่อนเพลีย ประสิทธิภาพการทำงานทุกระบบลดลง หัวใจเต้นผิดปกติ รวมไปถึงอาการบวมที่เท้าได้

หากหญิงมีครรภ์ไม่ได้รับไอโอดินที่มากเพียงพอ อาจทำให้ทารกในครรภ์มีร่างกาย และสมองที่เจริญเติบโตช้ากว่าปกติ หรืออาจมีความเสี่ยงที่จะมีความพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น หูหนวก ขาแข็ง กระตุก ตาเหล่ รูปร่างแคระแกร็น เติบโตช้า เรียนรู้ช้า เฉื่อยชา ไอคิวต่ำกว่าปกติ 10-15 จุด หรือสติปัญญาเสื่อมจนถึงปัญญาอ่อนได้

แต่ถึงกระนั้น หากร่างกายได้รับไอโอดีนมากเกินไป อาจก่อให้เกิดโทษ รวมถึงผลข้างเคียงได้ เช่น เกิดผื่นคันจากการแพ้ (หรือถึงกับเกิดอาการช็อกได้) เป็นสิวมากขึ้น กล้ามเนื้อมือ เท้าชา และอ่อนแรงลง ไอโอดีนที่มากเกินไปจะไปยับยั้งการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนจนอาจนำไปสู่ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้ ไปจนถึงภาวะผิดปกติต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ต่อมไทรอยด์อักเสบ หรือโรคออโตอิมมูน หรือโรคภูมิต้านตนเองของต่อมไทรอยด์ โดยมีอาการเหนื่อยง่าย ผอมผิดปกติ และหากบริโภคโดยตรงในครั้งเดียวประมาณ 2 กรัม ทำให้ปวดท้อง คลื่นเหียน อาเจียน ท้องร่วง เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ปอดอักเสบ ไตวาย หมดสติ และเสียชีวิตได้

 

ปริมาณไอโอดีนที่เหมาะสมกับเรา

โดยปกติร่างกายคนเราต้องการสารไอโอดีนรวมกันแล้วไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือเฉลี่ยแล้วในวันหนึ่งๆ แม้ว่าร่างกายต้องการสารไอโอดีนเพียงแค่ 150 ไมโครกรัม/คน / วัน  เท่านั้น แต่ก็ขาดไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะร่างกายไม่สามารถสะสมไว้ได้ สารไอโอดีนบางส่วนจะถูกนำไปใช้ในการสร้างฮอร์โมนสำหรับการเติบโตของร่างกายและสมอง ส่วนที่เหลือจะถูกขับออกจากร่างกาย  จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีสารไอโอดีนทุกวัน  สำหรับในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับเพิ่มอีกวันละ 25 และ 50 ไมโครกรัม ตามลำดับ ทารกอายุ 0-6 เดือนควรได้รับ 40 ไมโครกรัม / วัน

สามารถเลือกทานอาหารทะเล 5-6 ชิ้นต่อวัน นมแก้วใหญ่ 1 แก้ว ขนมปัง 2 แผ่น ไข่ไก่ 1-2 ฟอง ปลาทูน่ากระป๋องเล็ก 1 กระป๋อง ไอศกรีม 2 ลูก และอาหารอื่นๆ สลับๆ กันไปในแต่ละวันได้ และอย่าลืมเลือกปรุงอาหารด้วยเกลือ หรือน้ำตาลเสริมไอโอดีนด้วย (ไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องปรุงรสเยอะ แต่ทานน้อยๆ ไปเรื่อยๆ ในทุกๆ วันมากกว่า)

หากใครไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังอยู่ในภาวะขาด หรือมีไอโอดินมากเกินไปหรือไม่ สามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ในการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : “ไอโอดีน” สารอาหารสำคัญ ที่ส่งผลถึงการทำงานโดยรวมของร่างกาย