ปิดเมนู
หน้าแรก

โรค “ข้อเข่า” ของนักกระโดด ฝันร้ายของนักกีฬา

เปิดอ่าน 167 views

โรค “ข้อเข่า” ของนักกระโดด ฝันร้ายของนักกีฬา

โรคข้อเข่าของนักกระโดด พบมากในนักกีฬาที่ต้องกระโดด เช่น บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล ยิมนาสติก หรือเทนนิส

“โรคข้อเข่าของนักกระโดด” สำหรับคนทั่วไปฟังแล้วอาจจะงงว่ามีด้วยเหรอโรคนี้ แต่สำหรับนักกีฬาจะเป็นที่คุ้นหูกันมาก เพราะโรคนี้พบมากในนักกีฬาที่ต้องกระโดด เช่น บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล ยิมนาสติก หรือแม้กระทั่งนักกีฬาที่ชื่นชอบวิธีการเล่นด้วยการกระโดดตี กระโดดตบ อย่างนักเทนนิสระดับโลก ราฟาเอล นาดาล ที่เคยได้รับการบาดเจ็บของเส้นเอ็นลูกสะบ้ามาแล้ว ความจริงแล้ว โรคข้อเข่าของนักกระโดด ก็คือการบาดเจ็บของเส้นเอ็นลูกสะบ้านั่นเอง ซึ่งคนทั่วไปจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่จะเป็นมากในนักกีฬาที่ต้องกระโดด จึงเรียกกันว่า “โรคข้อเข่าของนักกระโดด” นั่นเอง

สาเหตุเกิดจากแรงกระชากระหว่างเส้นเอ็นกับจุดเกาะของเส้นเอ็นที่อยู่ติดกับกระดูกหน้าขา อย่างรวดเร็วและรุนแรง ในกรณีที่เป็นอุบัติเหตุอาจทำให้เส้นเอ็นเกิดการฉีกขาดทันที แต่หากเป็นผลจากการใช้งานซ้ำๆ ในระยะแรกอาจจะเกิดการฉีกขาดเล็กน้อย และยังไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บปวด แต่ยังคงทำกิจกรรมซ้ำเดิมไปเรื่อยๆ จะทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างเอ็นกับกระดูกด้านใน กระตุ้นให้เกิดการฉีกขาดและอักเสบมากขึ้น ทำให้มีอาการ เจ็บ งอเข่าไม่ได้ งอเข่า นั่งคุกเข่า เดินลงน้ำหนักแล้วเจ็บ เนื่องจากเวลางอเข่าเส้นเอ็นลูกสะบ้าจะถูกยืดออก ทำให้ตึงจึงเจ็บ อาจมีรอยปวด บวม แดงร่วมด้วย ทำให้การเหยียดงอของข้อเข่าทำได้น้อยลง

อาการเจ็บของโรคข้อเข่าของนักกระโดด หายเองไม่ได้

หลายครั้งที่คนส่วนใหญ่เป็นแล้วไม่ยอมไปพบแพทย์ เพราะคิดว่าเดี๋ยวก็หาย แต่ในความเป็นจริงหากปล่อยไว้ไม่รักษาจะทำให้เส้นเอ็นลูกสะบ้าบาดเจ็บเรื้อรัง เพราะบริเวณข้อเข่า เป็นข้อต่อที่ต้องขยับตลอดเวลา กับรอยฉีกที่มองไม่เห็น แต่ใช้ซ้ำๆ ก็ทำให้ปวดบวมอักเสบมากขึ้นจนเรื้อรังได้

 

การดูแลโรคข้อเข่าของนักกระโดดเบื้องต้น

ในบางครั้งถ้าการฉีกขาดเป็นรอยเล็กๆ การหยุดพักไม่ใช้งาน ทานยาแก้อักเสบ ประคบเย็น ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่นั่นหมายถึงคุณต้องหยุดเดิน เพราะถ้าเดินเมื่อไหร่ข้อเข่าต้องมีการขยับก็จะทำให้เกิดรอยฉีกขาดเพิ่มขึ้นได้ หากภายใน 1 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายดูว่าเส้นเอ็นฉีกขาดหรือไม่ ร่วมกับการเอกซเรย์ดูว่ามีกระดูกแตกร่วมด้วยหรือเปล่า หรือในกรณีที่คนไข้มีอาการบวมแดงมาก กดเจ็บมาก ขยับขาไม่ได้ อาจต้องพิจารณาให้ทำ MRI เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน

 

รักษาโรคข้อเข่าของนักกระโดด โดยไม่ต้องผ่าตัดได้ไหม?

ในกรณีที่เป็นไม่มาก หยุดพัก ทานยา และใส่เฝือกอ่อนเพื่อป้องกันการงอเหยียดเข่าที่เยอะเกินไป และป้องกันการทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำซ้อนบริเวณนั้น ร่วมกับทำกายภาพบำบัดก็สามารถช่วยให้หายได้

สัญญาณที่บ่งบอกว่าต้องผ่าตัด คือ ข้อเข่าไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ไม่สามารถงอหรือเหยียดได้ เนื่องจากเส้นเอ็นฉีกขาดมาก ต้องมีการผ่าตัด ซ่อมแซมเส้นเอ็นให้เข้าที่ โดยการใส่น็อตและสกรูตรึงไว้ หลังจากที่หายแล้วไม่จำเป็นต้องเอาออก ปัจจุบันแพทย์มีเทคนิคการผ่าตัดที่ดี อุปกรณ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผลการผ่าตัดได้ผลดี แต่อย่างไรก็ตามทุกการผ่าตัดย่อมมีผลข้างเคียง อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการบาดเจ็บอวัยวะข้างเคียงบ้าง หลังผ่าตัดอาจเกิดพังผืด ต้องทำการฟื้นฟูโดยการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย เมื่อหายดีแล้วสามารถใช้งานได้ตามปกติ

 

การรักษาโรคข้อเข่าของนักกระโดดโดยวิธีอื่น

การฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) Injection คือการนำเลือดจากตัวเราไปผ่านกระบวนการทางเคมี โดยการปั่นเพื่อกระตุ้นให้ทำหน้าที่ในการดูดส่วนประกอบของเลือด (พลาสม่า) ที่สำคัญต่อการซ่อมแซมร่างกาย แล้วนำกลับมาฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อทำการซ่อมแซมรักษาบริเวณที่บาดเจ็บ

ในเลือดของคนเราที่ดูดออกมาจะมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เกล็ดเลือด ซึ่งมีสารที่สำคัญต่อการซ่อมแซมร่างกาย ในขบวนการซ่อมแซมของร่างกาย เกล็ดเลือดจะถูกกระตุ้นให้รวมตัวกันและปล่อยสารที่มีประโยชน์นี้กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซม แต่ในเลือดปกติจะมีเกล็ดเลือดอยู่ไม่มาก PRP จึงเป็นเหมือนกระบวนการที่มาทำให้เกล็ดเลือดมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพในการซ่อมแซมร่างกาย

ปัจจุบันสามารถใช้ในการรักษาให้กับนักกีฬาที่มีการบาดเจ็บของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่างๆ ได้ผลนักกีฬาระดับโลกหลายคนที่มีชื่อเสียง ต่างก็เคยได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้

 

ทำอย่างไร ให้ไกลจากโรคข้อเข่าของนักกระโดด

หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง เมื่อเส้นเอ็นมักบาดเจ็บจากการใช้งาน เราก็ต้องทำให้เส้นเอ็นมีความแข็งแรง โดยการออกกำลังกาย บริหารเส้นเอ็นในท่าที่ตรงข้ามกับการทำงานของเส้นเอ็น เรียกว่า Patella Eccentric Exercise ซึ่งการบริหารด้วยวิธีนี้มีผลการวิจัยของอังกฤษยืนยันว่าสามารถช่วยลดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นลูกสะบ้าได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

สายรัดเข่า ช่วยป้องกันโรคข้อเข่าของนักกระโดดได้หรือไม่

เวลาที่กระโดดเส้นเอ็นจะเกิดการสั่น เมื่อเกิดการกระแทกจะกระแทกแรง แต่ถ้าสวมสายรัด จะช่วยให้ไม่สั่นหรือสั่นน้อยลง ช่วยลดแรงกระแทกได้ เพราะฉะนั้น การใส่สายรัดข้อเข่า จึงช่วยลดอัตราการบาดเจ็บของเส้นเอ็นได้ทางหนึ่ง

การบาดเจ็บ ถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักกีฬา แต่เมื่อได้รับบาดเจ็บแล้วควรรีบรักษา อย่าปล่อยให้เจ็บจนชิน เพราะเรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ การบริหารร่างกายให้มีความแข็งแรง จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บลงได้มาก ที่สำคัญต้องรู้จักประมาณตนเอง เจ็บ หยุด พัก รักษา หายแล้วค่อยกลับไปเล่นใหม่ ปลอดภัยกว่า

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : โรค “ข้อเข่า” ของนักกระโดด ฝันร้ายของนักกีฬา