ปิดเมนู
หน้าแรก

โรคความจำเสื่อมวันเดียว ลืมกันแค่วันเดียว โรคนี้มีจริงไหม? มาหาคำตอบกัน

เปิดอ่าน 358 views

โรคความจำเสื่อมวันเดียว ลืมกันแค่วันเดียว โรคนี้มีจริงไหม? มาหาคำตอบกัน

ช่วงนี้กระแสภาพยนตร์เรื่อง “แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว” กำลังได้รับเสียงตอบรับที่ดี แต่นอกจากจะเป็นหนังรักโรแมนติกที่โดนใจใครหลายคนแล้ว ภายในเนื้อเรื่องยังได้สอดแทรกเกี่ยวกับ “โรคความจำเสื่อม” ชนิดหนึ่ง ที่มีอาการเพียง 1 วัน โดยเมื่อตื่นนอนขึ้นมาความทรงจำทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งโรคนี้มีอยู่จริง โดยมีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Transient global amnesia (TGA) หรือกลุ่มอาการลืมเหตุการณ์ทั้งหมดชั่วคราว

movie-4

เรื่องนี้ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. ให้ข้อมูลว่า TGA เป็นการสูญเสียความจำไปชั่วขณะ ที่ไม่ได้เกิดจากโรคทางสมอง เช่น โรคลมชัก หรือโรคหลอดเลือดในสมอง โดยลักษณะการสูญเสียความจำของ TGA จะเป็นการสูญเสียความจำของสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น อาการจู่ๆ ก็มีอาการจำไม่ได้ เช่น จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น มาที่นี่ได้อย่างไร ถามคำถามซ้ำๆ เพราะถามแล้วก็จำไม่ได้ว่าได้รับคำตอบแล้ว เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นก็จำไม่ได้ โดยทั่วไปอาการจะเป็นอยู่ไม่นานเกินหนึ่งวัน ส่วนใหญ่จะน้อยกว่านี้ จากนั้น ความทรงจำจะค่อยๆ กลับคืนมา

สำหรับสาเหตุของการเกิด TGA ยังไม่เป็นที่ทราบอย่างชัดเจน และเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิด TGA คือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และการมีประวัติปวดศีรษะ หรือไมเกรน โรคลมชัก โรคหลอดเลือดทางสมอง การแช่ในน้ำร้อนหรือน้ำเย็น การออกกำลังกายอย่างหนัก กระทบกระเทือนทางสมอง และมีความเครียดอย่างรุนแรง เป็นต้น

โรค TGA ถือเป็นโรคที่ไม่เป็นอันตราย แต่ก็ต้องเฝ้าระวังหากมีอาการเกิดขึ้น

จำเป็นต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจประเมินสาเหตุ ผู้ที่มีอาการ TGA อาจไม่สามารถให้ข้อมูลใด ๆ ได้ เนื่องจากเสียความจำไป ดังนั้น คนใกล้ชิดที่อยู่ร่วมกันกับผู้ป่วยควรสังเกตรายละเอียดของอาการให้มากที่สุด และให้ข้อมูลกับแพทย์และพยาบาลเพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

เมื่อพูดถึงเรื่อง ความจำเสื่อม แล้วเรามาทำความรู้จักกับ ภาวะสมองเสื่อม กันเถอะ

หนังสือ “ยากันลืม” โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “ภาวะสมองเสื่อม” สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบตันการขาดสารอาหาร และการเกิดเนื้องอกในสมองแล้ว ยังเกิดขึ้นได้ จากการที่สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง รวมถึงผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วนและมีกิจกรรมทางกายน้อย ส่วนสาเหตุสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่ามีความเชื่อมโยงกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น เรียกว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เพราะยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าไรโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากความเสื่อมสภาพของเซลล์สมองในผู้สูงอายุย่อมมีมากขึ้นไปตามวัย

หากเทียบสถิติผู้สูงอายุในประเทศไทยจะพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ร้อยละ 11.4 ในขณะที่โอกาสและความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 4 เท่าทันที เมื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป

Asian Lady Writing Notebook Diary Concept

โดยทั่วไปจะมีการแบ่งระดับความรุนแรงของภาวะสมองเสื่อมออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น ระดับกลาง จนถึงระดับรุนแรง ซึ่งในแต่ละระดับ ผู้ป่วยจะมีพัฒนาการของโรคจากน้อยไปหามากดังนี้

ระยะที่ 1 ภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อย

ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืม โดยเฉพาะลืมเรื่องที่ เพิ่งเกิดขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่าวางของใช้ไว้ที่ใด ไม่สามารถจำชื่อสถานที่ที่คุ้นเคยได้ ไม่ค่อยมีสมาธิเหลือเพียงความจำส่วนที่เกี่ยวข้องกับอดีตที่ยังดีอยู่ เริ่มมีความบกพร่องในการทำกิจกรรมต่างๆและการใช้ชีวิตในสังคม แต่ยังสามารถอยู่คนเดียวได้ ช่วยเหลือตนเองได้ และยังมีการตัดสินใจที่ค่อนข้างดี

ระยะที่ 2 ภาวะสมองเสื่อมระดับปานกลาง

ในระยะนี้ความจำเริ่มเสื่อมลงมากขึ้น มีความบกพร่องในเรื่องความเข้าใจ ความสามารถในการเรียนรู้การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ เช่น ความสามารถในการคำนวณ การกะระยะทาง ไม่สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดได้ทั้งที่เคย ทำได้มาก่อน ทำอาหารที่เคยทำไม่ได้ ลืมชื่อ สมาชิกในครอบครัว ช่วงท้ายระยะนี้อาจมีอาการทางจิต เช่น ประสาทหลอน ดังนั้นการ ปล่อยให้ผู้มีอาการเหล่านี้อยู่ตามลำพังอาจเป็นอันตราย จึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

ระยะที่ 3 ภาวะสมองเสื่อมขั้นรุนแรง

ผู้ป่วยจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย สูญเสียความจำ อย่างรุนแรง จำญาติพี่น้องไม่ได้ หรือแม้แต่ตนเอง ก็อาจจำไม่ได้ด้วย มักเดินหลงทางในบ้านตนเอง มีความผิดปกติต่างๆ เช่น บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เคลื่อนไหวช้า เดินช้า และอาจเกิดอาการแทรกซ้อน ที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

อาการเตือนภาวะสมองเสื่อม ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรระวัง ได้แก่

1. สูญเสียความจำโดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น
2. ทำกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคยไม่ได้เหมือนเดิม หรือทำได้แต่ก็ยากลำบากเต็มที
3. มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น ลืมคำศัพท์ง่ายๆ ใช้ศัพท์ผิดความหมาย
4. สับสนวันเวลาและสถานที่ เช่น หลงวัน เวลา บอกที่อยู่บ้านตนเองไม่ได้
5. มีการตัดสินใจอย่างไม่เหมาะสม เช่น เปิดพัดลมแรงทั้งที่อากาศเย็นมาก
6. มีปัญหาเกี่ยวกับความคิดรวบยอด เช่น ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข บวกลบคูณหารไม่ได้เหมือนก่อน
7. เก็บสิ่งของผิดที่ผิดทาง เช่น เก็บเตารีดในตู้เย็น เก็บนาฬิกาในโถน้ำตาล
8. อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่ายภายในเวลาไม่นาน
9. บุคลิกภาพเดิมเปลี่ยนไป เช่น กลายเป็นคน ช่างสงสัย หรือหวาดกลัวง่ายกว่าเดิมมาก
10. ชอบเก็บตัว ขาดความกระตือรือร้นในการใช้

ทำอย่างไรให้ห่างไกล จากภาวะสมองเสื่อม

คนส่วนใหญ่เชื่อกันมาตลอดว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับสมองประเภทความจำเสื่อม ความจำถดถอย และขี้หลงขี้ลืมนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในผู้สูงอายุ ทำให้น้อยนักจะมีใครสนใจใส่ใจดูแลตนเองเพื่อให้สมองคงประสิทธิภาพอยู่กับเราไปนานๆ เพราะเชื่อว่าแก่ไปก็ต้องเจอ ทั้งที่จริงๆ แล้วความเชื่อเหล่านี้ผิด ไปจากความเป็นจริงอย่างมาก

ความจริงคือ สมองไม่ได้เสื่อมสภาพไป ตามอายุของคนเสมอไป และเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ แล้วเราอาจไม่มีอาการความจำเลอะเลือนอย่างที่คิดตราบเท่าที่มีการดูแล และบริหารสมองอยู่อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการหมั่นทำกิจกรรมสร้างเซลล์สมองให้เติบโตด้วยการใช้ความคิดขบคิดแก้ไขปัญหา เข้าสังคมเพื่อพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับ เพื่อนฝูงและคนรอบข้าง หรืออ่านหนังสืออยู่เป็นประจำ ก็ล้วนแต่เป็นแนวทางเสริมสร้างและยืดอายุสมองได้ค่ะ

นอกจากนี้ “การออกกำลังกาย” ยังมีส่วนช่วยอย่างมากในการชะลอภาวะสมองเสื่อม และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมองได้มากอีกด้วย สอดคล้องกับที่ทาง สสส. พยายามที่จะให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เมื่อร่างกายแข็งแรงทั้งกายและใจ คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นนั่นเอง

รื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต และ หนังสือ “ยากันลืม” โดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : โรคความจำเสื่อมวันเดียว ลืมกันแค่วันเดียว โรคนี้มีจริงไหม? มาหาคำตอบกัน