ปิดเมนู
หน้าแรก

แพทย์ผิวหนังเตือน “ต่อเล็บ” เสี่ยงติดเชื้อลุกลาม

เปิดอ่าน 144 views

แพทย์ผิวหนังเตือน “ต่อเล็บ” เสี่ยงติดเชื้อลุกลาม

กรมการแพทย์โดยสถาบันโรคผิวหนังเตือน “ต่อเล็บ” ที่กำลังนิยมทำเล็บให้ยาวและสีสันสวยงาม ติดทนโดยการต่อเล็บเจล หรืออะครีลิค ซึ่งมีสารที่อาจทำให้เกิดการแพ้ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ใช้บริการที่นิยมทำเล็บมือ และเท้า ควรเลือกร้านที่สะอาดปลอดภัย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การทำเล็บได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายและยาวนาน ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวิธีและวัสดุต่าง ๆ เพื่อช่วยในการประกอบการทำเล็บให้คงทน และสวยงามมากยิ่งขึ้น

>> หมอเตือนภัยสาวต่อเล็บปลอม นิ้วติดเชื้อลามถึงกระดูก เสี่ยงติดเอชไอวีซ้ำ

ทำเล็บ เสี่ยงเล็บเสีย

การทำเล็บอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของเล็บตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสีที่เล็บเป็นสีเหลือง แดงส้ม ตามหลังการทาสีเล็บทิ้งไว้โดยไม่ล้างออก หรืออาจพบว่ามีจุดขาวที่เล็บ แม้แต่การแช่เล็บเท้าก็ยังพบว่ามีรายงานการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการต่อเล็บคือการทำให้เล็บมีความยาวเพิ่มมากขึ้น เพื่อความสวยงาม มีวิธีกระบวนการที่หลากหลาย ดังนั้นก่อนตัดสินใจต่อเล็บควรป้องกันอันตรายที่จะตามมาหลังจากการต่อเล็บ

ต่อเล็บ เสี่ยงเล็บเปราะ-ติดเชื้อ

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า การใช้เล็บพลาสติก เพื่อให้เล็บยาวขึ้นจะต้องใช้กาวเพื่อยึดติด ในกาวมักมีสารที่อาจก่อให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสได้ มีรายงานในบางรายพบว่าเกิดอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบหรือหอบหืด พบอาการเล็บเปราะหรือเกิดการแยกเป็นโพรงที่ปลายเล็บ การที่ชั้นของเล็บแยกออกจากกันทำให้โครงสร้างของเล็บไม่สามารถป้องกันเชื้อโรค อาจติดเชื้อรา  หรือเชื้อแบคทีเรียได้ ส่วนการต่อเล็บโดยใช้อะครีลิค การต่อเล็บชนิดนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อที่เล็บในบางรายพบว่าสีของเล็บเปลี่ยนแปลงไป หรือพบมีสะเก็ดขุยที่ใต้เล็บเพิ่มมากขึ้น มีรายงานว่าทำให้เกิดอาการชาที่ปลายประสาททำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัส หรือบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น บริเวณเปลือกตา บางรายมีอาการหอบหืด เป็นต้น

พบร้านทำเล็บไม่ผ่านเกณฑ์หลายร้าน

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า จากข้อมูลที่เคยมีการสำรวจเมื่อปี 2557 ของสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร พบว่าสถานประกอบกิจการไม่ผ่านการประเมินและต้องปรับปรุงคือ พื้น ผนังชำรุดและมีคราบสกปรก อ่างสระผมและเตียงมีคราบสกปรกหรือชำรุด อุปกรณ์และเครื่องมือ เช่น ผ้าคลุมสระผม หวี กรรไกร แปรงม้วนผม ที่แคะเล็บ ตะไบเล็บไม่สะอาด ไม่มีการทำความสะอาดหลังการใช้งานประจำวัน ไม่ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค พบการปนเปื้อนเชื้อรา 81 ตัวอย่าง แม้จะเป็นเชื้อราที่ไม่ก่อให้เกิดโรค แต่หากผู้รับบริการมีสุขภาพที่อ่อนแอ อาจทำให้เกิดโรคได้ ไม่มีการจัดการขยะที่เป็นอันตราย เช่น ใบมีดโกน ภาชนะบรรจุน้ำยาดัดผม กระป๋องสเปรย์ และที่สำคัญผู้ให้บริการบางรายมีอาการเจ็บป่วยในขณะให้บริการ เช่น ไอ จาม โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยอาจแพร่เชื้อโรคได้ โดยในการตรวจประเมินในครั้งนี้ เจ้าพนักงานกองสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำนักอนามัย กรุงเทพฯ ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการเสริมความงามทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือให้บ่อยขึ้นหากไม่ปรับปรุงแก้ไขจะใช้มาตรการยึดใบอนุญาต

วิธีทำเล็บให้ปลอดภัย

  1. ผู้ใช้บริการควรเลือกร้านที่เน้นที่ ความสะอาดปลอดภัยก่อนทำทุกครั้งที่ทำ เลือกร้านที่ไว้ใจในมาตรฐานการบริการได้ โดยดูอุปกรณ์ในการใช้ทำเล็บ ต้องทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และเปลี่ยนอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ
  2. เลือกร้านที่ทำความสะอาดเครื่องมือทำเล็บ ตะไบเล็บ ที่แคะเล็บ และที่ตัดเล็บ โดยฆ่าเชื้อโรคด้วยเอทิลแอลกอฮอล์หลังการใช้งานทุกครั้ง
  3. ช่างทำเล็บต้องดูแลสุขภาพอนามัยตนเองให้แข็งแรง และรักษาความสะอาดสม่ำเสมอ ใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก รวมถึงมีการตรวจสุขภาพประจำปี และมีใบรับรองแพทย์ หากเป็นโรคติดต่อต้องรักษาตนเองจนหายเป็นปกติ
  4. ไม่ทำเล็บบ่อยจนเกินไป ควรพักเล็บ 1-3 เดือนก่อนเริ่มการทำเล็บครั้งต่อไป หรือรอให้เล็บใหม่ยาวจนหมดทั้งเล็บก่อน
  5. ไม่ให้ทางร้านตะไบเล็บแรง และบางมากจนเกินไป เพราะเสี่ยงเล็บบาง หรือเกิดแผลขึ้นระหว่างทำเล็บได้ และไม่ควรให้ช่างทำเล็บแซะที่ขอบเล็บ เพราะจะทำให้เกิดการแผลอักเสบเป็นหนองและลุกลามถึงข้อกระดูกได้
  6. หากทางร้านอนุญาต ซื้ออุปกรณ์ทำเล็บของตัวเอง แล้วนำไปให้ทางร้านใช้กับเราคนเดียวเท่านั้น เช่น กรรไกรตัดเล็บ ตะไบเล็บ กรรไกรตัดหนังเล็บ ฯลฯ ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการใช้อุปกรณ์ร่วมกับคนอื่นได้
  7. หากรู้สึกเจ็บเล็บ หรือผิวหนังบริเวณเล็บ ควรหยุดทำเล็บทันที

วิธีสังเกตร้านเสริมสวยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ปลอดภัยในการเข้ารับบริการ

  1. พื้น ผนัง อ่างสระผม และเตียง ต้องไม่มีคราบสกปรก ไม่ชำรุด
  2. สถานประกอบการ อุปกรณ์ เครื่องมือเสริมความงามต่าง ๆ เช่น ผ้าคลุมสระผม หวี กรรไกร แปรงม้วนผม ต้องทำความสะอาดทุกวัน โดยเฉพาะที่แคะเล็บ ตะไบเล็บ ต้องทำความสะอาดแล้วต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค
  3. ควรจัดการขยะที่เป็นอันตราย ได้แก่ ใบมีดโกน ภาชนะบรรจุน้ำยาดัดผม และกระป๋องสเปรย์ ให้เรียบร้อย
  4. มีใบอนุญาตในการประกอบการจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแสดงในที่เปิดเผยและเห็นได้ชัด
  5. ช่างทำผมมีอาการเจ็บป่วยในขณะให้บริการ เช่น ไอ จาม ควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อไม่แพร่เชื้อโรคให้ผู้มารับบริการ

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : แพทย์ผิวหนังเตือน “ต่อเล็บ” เสี่ยงติดเชื้อลุกลาม