ปิดเมนู
หน้าแรก

เราอาจกำลังแพ้ “สารปรุงแต่งอาหาร” อยู่หรือไม่?

เปิดอ่าน 290 views

เราอาจกำลังแพ้ “สารปรุงแต่งอาหาร” อยู่หรือไม่?

เราอาจกำลังแพ้ “สารปรุงแต่งอาหาร” อยู่หรือไม่? เกี่ยวกับ แพ้อาหาร

 

เทคโนโลยีในการผลิตอาหารค่อยๆ พัฒนาไปตามเวลาที่เปลี่ยนไป เราสามารถแต่งเสริมเติมกลิ่น และรสชาติที่ต้องการได้ อีกทั้งยังสามารถเก็บรักษาอาหารเอาไว้ได้นานขึ้นโดยที่รูปร่างหน้าตา และรสชาติไม่เปลี่ยนไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สารสังเคราะห์ แต่งสี กลิ่น และรสเลียนแบบธรรมชาติ รวมถึงสารที่ช่วยให้อาหารมีความข้น จับตัวได้ง่าย และรักษาอาหารให้เก็บไว้ได้นานขึ้นเหล่านี้ จะทำให้เราเกิดอาการแพ้ได้หรือไม่

 

เรามีโอกาสแพ้สารปรุงแต่งอาหารมากน้อยแค่ไหน?

อันที่จริงแล้ว เรามีโอกาสที่จะแพ้สารปรุงแต่งอาหารน้อยมาก เพราะสารเหล่านี้มักอยู่ในรูปของโมเลกุลขนาดเล็กมาก ซึ่งยากต่อการที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อต้าน หรือตอบสนองเป็นพิเศษต่อโมเลกุลเหล่านี้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีอาการแพ้ต่อสารเหล่านี้ เพราะในอดีตเคยพบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ต่อสารกลุ่มซัลไฟต์ที่อยู่ในผักสด ป้องกันผักเหี่ยวเฉา ช่วยยืดอายุผักสดให้นานขึ้น จนทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสั่งห้ามไม่ให้ใช้สารตัวนี้ในผักสดอีกต่อไป รวมไปถึงสีของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นสีเหลือง (Yellow Dye NO.5) ก็เคยพบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้อีกด้วย

 

สารปรุงแต่งอาหารที่อาจทำให้เราเกิดอาหารแพ้ ยกตัวอย่างมาให้ดูกันดังนี้

สารสกัดจากธรรมชาติ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าสารปรุงแต่งรส สี กลิ่น หรือส่วนประกอบที่สกัดมาจากธรรมชาติจริงๆ อย่าง พืชสมุนไพรต่างๆ สีอาหารจากแมลง และเนื้อสัตว์ อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะสารเหล่านี้มักมีส่วนประกอบของโปรตีน ที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคของเรามีปฏิกิริยากับสารเหล่านั้นได้ (ระบบภูมิคุ้มกันโรคจะต่อต้านกับโปรตีนบางรูปแบบที่อาจเข้าข่ายว่าจะเป็นเชื้อรา แบคทีเรีย หรือเซลล์มะเร็ง)

 

นอกจากนี้ยังมีสารสกัดจากธรรมชาติที่นำมาผสมอาหารให้มีสีสันต่างๆ เช่นสีแดงจาก คาร์มีน และโคชินีล (carmine or cochineal) สีเหลืองจากผลของต้นคำแสด (annatto tree) ไซเลียมจากเมล็ดเทียนเกล็ดหอย ส่วนประกอบที่ช่วยแก้ท้องผูกในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ กัวร์กัม ที่สกัดจากถั่วกัวร์ คาร์ราจีแนน ที่สกัดจากสาหร่าย เจลาตินจากการแปรรูปของคอลลาเจนในผิวหนัง กระดูก และเนื้อเยื่อของสัตว์ ใช้ใส่ในอาหารเพื่อเพิ่มความข้นหนืด สารเหล่านี้ล้วนมาจากธรรมชาติ แต่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้กับกลุ่มคนในบางกลุ่มได้เช่นกัน รวมไปถึงผงชูรสที่หลายๆ คนแพ้กัน ก็ทำมาจากมันสำปะหลังด้วย

 

สีผสมอาหาร

สีผสมอาหาร และสีผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ในบางรายได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสีมาจากธรรมชาติ หรือเป็นสีสังเคราะห์ ดังตัวอย่างที่เคยพบเด็กที่แพ้สีจากเม็ดยา หรือผู้ใหญ่วัยชราที่มีอาการแพ้สีฟ้าจากยาสีฟัน

คนที่แพ้สีผสมอาหาร ควรระมัดระวังต่อผลิตภัณฑ์ หรืออาหาร เครื่องดื่มที่สีชัดๆ จัดๆ เช่น เค้กเรดเวลเวท เครื่องดื่มเกลือแร่สีเหลือง สามารถเช็คหาส่วนผสมของสีผสมอาหารจากข้างบรรจุภัณฑ์ได้เช่นกัน

 

อาการเมื่อแพ้สารปรุงแต่งอาหาร

คนที่มีอาการแพ้ต่อสารปรุงแต่งอาหารเหล่านี้ อาจไม่ได้มีอาการแพ้อย่างชัดเจนหลังทานเข้าไปทันทีเหมือนคนที่แพ้ถั่ว หรือแพ้อาหารทะเล แต่อาจมีอาการหลังทาน 2-3 ชั่วโมง หรืออาจข้ามวันไปเลยก็ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่แพทย์จะสามารถวิเคราะห์ และวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยแพ้สารชนิดใดเป็นพิเศษ เพราะปัจจุบันก็ยังไม่มีเครื่องมือชนิดใดที่จะสามารถพิสูจน์ และตรวจสอบได้อย่าง 100% ว่าเรามีอาการแพ้ต่อสารชนิดใดบ้าง สิ่งที่เราสังเกตได้ด้วยตัวเอง อาจเป็นการวิเคราะห์จากอาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อทาน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ โดยเฉพาะ อาหารที่ทานจากร้านอาหารนั้นๆ โดยเฉพาะ หรือพฤติกรรมในการทานอาหารที่เปลี่ยนไปจนทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นต้น

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : เราอาจกำลังแพ้ “สารปรุงแต่งอาหาร” อยู่หรือไม่?