ปิดเมนู
หน้าแรก

เปิดประวัติ “ศรีปราชญ์” พี่ชายคุณพี่หมื่น “บุพเพสันนิวาส” กวีเอกผู้ถูกเนรเทศ

เปิดอ่าน 413 views

เปิดประวัติ “ศรีปราชญ์” พี่ชายคุณพี่หมื่น “บุพเพสันนิวาส” กวีเอกผู้ถูกเนรเทศ

เปิดประวัติ “ศรีปราชญ์” พี่ชายคุณพี่หมื่น “บุพเพสันนิวาส” กวีเอกผู้ถูกเนรเทศ เกี่ยวกับ บุพเพสันนิวาส

 

เห็นตัวละครจากประวัติศาสตร์เดินให้ว่อนในละคร บุพเพสันนิวาส ต้องบอกเลยว่ายังออกมาเผยโฉมไม่หมดนะจ๊ะ อีกหนึ่งตัวละครที่อีกไม่นานจะออกมาให้แฟนละคร ได้เห็นหน้ากันก็คือ “ศรีปราชญ์” รับบทโดย ดรีม-ณฐณพ ชื่นหิรัญ กวีเอกในประวัติศาสตร์ ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นบุตรของพระโหราธิบดี เข้ารับราชการตั้งแต่อายุ 9 ขวบ หลังแต่นั้นมาจึงกลายเป็นกวีเอกของพระนารายณ์มหาราช แต่สุดท้ายด้วยความสามารถของตน ทำให้ผู้คิดปองร้าย ใส่ร้ายศรีปราชญ์ จนถูกประหารชีวิตในที่สุด

ในละคร บุพเพสันนิวาส ตัวละคร “ศรีปราชญ์” บุตรของ พระโหราธิบดี (อาหนิง นิรุต) และเป็นพี่ชายของ คุณพี่ขุนศรีวิสารวาจา (โป๊ป ธนวรรธน์) หรือคุณพี่เดชของออเจ้าทั้งหลายนั่นแหละจ้า ตอนนี้ตัวละครศรีปราชญ์ยังไม่ปรากฏตัว แอบสปอยล์เบาๆ ว่าใกล้มาแล้วนะ เจอแน่ๆ ในวันมงคลของพ่อเดชและแม่การะเกด

ก่อนที่จะได้เห็นตัวละครนี้กัน เราไปดูประวัติที่ถูกบอกเล่าเกี่ยวกับ ศรีปราชญ์ กันก่อนดีกว่า

 

ศรีปราชญ์

ศรีปราชญ์ เป็นกวีเอกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นบุตรของพระโหราธิบดี เข้ารับราชการตั้งแต่อายุ 9 ขวบ หลังแต่นั้นมาจึงกลายเป็นกวีเอกของพระนารายณ์มหาราช พระโหราธิบดี บิดาของศรีปราชญ์เข้ารับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งโคลงบทหนึ่ง ว่า

อันใดย้ำแก้มแม่        หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย     ลอบกล้ำ

แล้วก็ทรงติดขัด แต่งอย่างไรก็ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงพระราชทานให้แก่พระโหราธิบดี (บิดาของศรีปราชญ์) ซึ่งนอกจากจะมีความสามารถทางด้านพยากรณ์แล้ว ยังมีความรู้ความสามารถอื่นๆ อีกรอบด้าน โดยเฉพาะทางด้านการแต่งโคลงกลอนซึ่งถือเป็นมือหนึ่งในสมัยนั้นเลยทีเดียวเมื่อพระโหราธิบดีได้รับแผ่นชนวนก็มีความคิดที่จะแต่งต่อเลยทันที แต่ทว่าไม่สามารถแต่งต่อได้พระโหราธิบดีจึงขอพระราชทานนำกระดานชนวนนั้นกลับมาที่บ้านเมื่อถึงบ้าน แล้วท่านก็นำกระดานชนวนไปไว้ที่ห้องพระเนื่องจากถือเป็นของสูง แล้วก็ไปอาบน้ำชำระร่างกาย ศรีปราชญ์บุตรชายวัย 7 ขวบก็คิดจะเข้ามาหาพ่อที่ห้องพระ แล้วก็เหลือบไปเห็นกระดานชนวนที่วางอยู่จึงแต่งต่อว่า

  อันใดย้ำแก้มแม่      หมองหมาย
  ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย   ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จักกราย       ยังยาก

             ใครจักอาจให้ช้ำ      ชอกเนื้อเรียมสงวน

เมื่อพระยาโหราธิบดีอาบน้ำเสร็จ ก็เข้ามาที่ห้องพระแล้วสังเกตว่ากระดานวางอยู่ต่างจากเดิม จึงคิดในใจว่า ต้องเป็นฝีมือของเจ้าศรี บุตรชายของตนเป็นแน่ แต่ว่า เมื่อเห็นโคลงที่บุตรชายของตนแต่งต่อก็หายโกรธในทันที แล้ววันรุ่งขึ้น พระยาโหราธิบดีก็นำกระดานชนวนนั้น ไปถวายสมเด็จพระนารายณ์ พอวันรุ่งขึ้นหลังจากเข้าเฝ้าถวายแผ่นกระดานชนวนแด่องค์สมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระองค์ ทอดพระเนตรเห็นบทโคลงที่แต่งต่อ ก็ทรงพอพระราชหฤทัย ตรัสชมเชยพระยาโหราธิบดีเป็นการใหญ่ พระยาโหราธิบดีทูลว่าเป็นฝีมือของเจ้าศรี บุตรชายของตน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลับทรงพอพระราชหฤทัย และขอเจ้าศรีบุตรชายพระยาโหราธิบดีเข้าถวายตัวเพื่อรับราชการ

แต่ด้วยอายุของเจ้าศรีเพียง 7 ขวบ พระยาโหราธิบดีเลยทูลขอให้ลูกชายโตกว่านี้ จะพามาถวายรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท พระยาโหราธิบดี รู้อยู่แก่ใจว่า หากให้เจ้าศรีเข้ารับราชการเมื่อไร ก็เร่งเวลาให้เจ้าศรีอายุสั้นมากเท่านั้น ด้วยรู้นิสัยใจคอลูกชายของดี ประกอบกับพื้นดวงชะตาที่ได้คำนวณเอาไว้ บ่งบอกชัดเจนว่า เจ้าศรีอายุจะสั้นด้วยต้องอาญา ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทวงถามเรื่องเจ้าศรีทีไรท่านพระยาโหร ก็ต้องหาเรื่องกราบทูลผลัดผ่อนเรื่อยไป

จนกระทั่งเจ้าศรีอายุได้ 15 ปี ได้เรียนรู้สรรพวิทยาการต่างๆ จากผู้เป็นพ่อจนหมดแล้ว จึงได้ถามความสมัครใจลูกชายว่า อยากจะเข้าไปรับราชการในวังหรือไม่ ซึ่งเจ้าศรีตอบตกลงและเต็มใจที่จะเข้าไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ดังนั้น เมื่อพระนารายณ์ทรงทวงถามอีกครั้งหนึ่ง ท่านพระยาโหรฯ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือผลัดผ่อนได้อีก แต่ก่อนที่จะนำเจ้าศรีเข้าถวายตัวนั้น ได้ทรงขอพระราชทานคำสัญญาจากสมเด็จพระนารายณ์ 1 ข้อ

เมื่อเจ้าศรีเข้ารับราชการแล้ว หากกาลต่อไปภายหน้า ถ้ามันกระทำความผิดใดๆ ที่ไม่ใช่ความผิดต่อราชบัลลังก์ และมีโทษถึงตาย ก็ขอได้โปรดงดโทษตายนั้นเสียหากจะลงโทษจริงๆ ก็ขอเพียงให้เนรเทศให้พ้นไปจากเมือง อย่าให้ต้องถึงกับประหารชีวิต

 

สาเหตุของการเนรเทศ ศรีปราชญ์ได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่หลายปี ในคืนวันลอยกระทงศรีปราชญ์ได้ดื่มสุราแล้วเมาจากนั้นได้แต่งโคงถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอก เมื่อพระสนมเอกได้ฟังก็ไม่พอใจอย่างมาก จึงไปทูลฟ้องสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์จึงให้ศรีปราชญ์ไปอยู่ในคุกหลวงแต่ไม่ต้องไปทำงานเหมือนนักโทษคนอื่นๆ และถูกสนมเอกฯ ที่เกลียดชังศรีปราชญ์ไม่หายทูลฟ้งทำให้ต้องโทษถึงประหาร

แต่พระโหราธิบดีได้เคยทูลขอกับสมเด็จพระนารายณ์ ว่า หากเจ้าศรีทำผิดแล้วมีโทษถึงประหาร ขอพระราชทานให้ลดโทษเหลือเพียงเนรเทศ ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงเนรเทศศรีปราชญ์ไปเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งที่เมืองนครศรีธรรมราชนี้เองที่ศรีปราชญ์สามารถแสดงทักษะด้านกวีได้อีกเช่นกัน เพราะว่าท่านเจ้าเมืองเองก็มีใจชอบด้านกวีอยู่แล้ว และด้วยความเป็นอัจฉริยะของศรีปราชญ์นี้เองที่ทำให้ท่านเจ้าเมืองโปรดปรานเขา ทำให้มีคนหมั่นไส้และเคืองแค้นศรีปราชญ์ จึงได้ใส่ร้ายศรีปราชญ์ ว่าลักลอบเป็นชู้กับภริยาของพระยานคร พระยานครหลงเชื่อจึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต ศรีปราชญ์ประท้วงโทษประหารชีวิตแต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง แต่ก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารศรีปราชญ์ได้ขออนุญาตเขียนโคลงบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณีว่า

ธรณีนี่นี้                      เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์       หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร         เราชอบ
             เราบ่ผิดท่านมล้าง            ดาบนี้คืนสนอง ฯ

ในขณะที่ถูกประหารนั้นศรีปราชญ์มีอายุประมาณ 30 หรือ 35 ปี ได้ข่าวการประหารศรีปราชญ์ แพร่ไปถึงพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ผู้ซึ่งใคร่จะเรียกตัวศรีปราชญ์มาใช้งานในเมืองหลวงพระองค์ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนครฯ ผู้ซึ่งกระทำการโดยปราศจากความเห็นชอบของพระองค์ และเมื่อพระองค์ได้ทราบถึงโคลงบทสุดท้ายของศรีปราชญ์จึงมีพระบรมราชโองการให้นำเอาดาบที่เจ้าพระยานครฯ ใช้ประหารศรีปราชญ์แล้วนั้นนำมาประหารชีวิตเจ้านครศรีธรรมราช ให้ตายตกไปตามกัน สมดังคำที่ศรีปราชญ์เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า “ดาบนี้คืนสนอง”

 

 

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :dream_natanop

movie.sanook.com

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : เปิดประวัติ “ศรีปราชญ์” พี่ชายคุณพี่หมื่น “บุพเพสันนิวาส” กวีเอกผู้ถูกเนรเทศ