ปิดเมนู
หน้าแรก

เช็กด่วน! ความเชื่อเกี่ยวกับ “โรคเบาหวาน” ที่หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่

เปิดอ่าน 100 views

เช็กด่วน! ความเชื่อเกี่ยวกับ “โรคเบาหวาน” ที่หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

หนึ่งในปัญหาสุขภาพยอดฮิตของคนไทย ที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ คือ “โรคเบาหวาน” นั่นเอง และจากสถานการณ์โรคเบาหวานในภาคพื้นแปซิฟิก (Western Pacific) ในปี 2560 ประเทศไทย มีผู้ที่เป็นเบาหวาน 4.4 ล้านคน ทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน ก็มีคนจำนวนมากที่มีความเข้าใจ หรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเบาหวาน จนละเลยการดูแลสุขภาพอย่างถูกวิธี และเพื่อให้ทุกคนทำความเข้าใจ โรคเบาหวาน ได้อย่างถูกต้อง มาร่วมไขความจริง ไปพร้อมๆ กัน

 

อาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล คือ ตัวการให้เกิดโรคเบาหวาน

ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีเพียง “แป้งและน้ำตาล” เท่านั้น ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักซึ่งก่อให้เกิดโรคเบาหวาน แต่อาหารประเภทเนื้อแดงที่มีไขมันมาก อย่างเนื้อวัว เนื้อหมู รวมถึงเนื้อที่ผ่านการปรุงแต่ง อาทิ ไส้กรอก เบคอน และแฮม ก็เป็นตัวการของโรคเบาหวานเช่นกัน เนื่องจากไขมันอิ่มตัว จะเข้าไปยับยั้งอินซูลินให้ออกฤทธิ์ได้น้อยลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลด ทำให้ “ตับอ่อน” ต้องผลิตอินซูลินออกมาในปริมาณมากกว่าปกติ อาจทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักเกินไป จนเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตับอ่อนไม่อาจผลิตและปล่อยอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีดังเดิม จึงทำให้เป็นโรคเบาหวาน

 

เบาหวาน เป็นโรคของคนอ้วน หรือผู้สูงอายุเท่านั้น

สำหรับโรคเบาหวาน ไม่ได้จำกัดว่า ต้องเป็นคนอ้วนหรือผู้สูงอายุเท่านั้น ถึงเป็นโรคเบาหวานได้ เนื่องจากว่า “โรคเบาหวาน” สามารถเกิดขึ้นได้กับคนในทุกช่วงอายุ เพียงแต่ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคในแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งจากพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง น้ำตาลสูง ไม่ออกกำลังกาย มีความเครียด หรือนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงไม่แปลกที่เด็กหรือคนผอมที่มีพฤติกรรมเช่นที่ว่านี้ ก็มีสิทธิ์เป็นโรคเบาหวานได้เหมือนกัน

 

เป็นเบาหวาน ห้ามกินขนมหวาน หรืออาหารที่มีรสหวานเด็ดขาด

เป็นที่รู้กันดีว่า “ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง” เป็นผลให้เกิดโรคเบาหวาน ซึ่งเรื่องนี้ ทำให้หลายๆ คน (ทั้งที่เป็นและไม่โรคเบาหวาน) เข้าใจว่า การงดอาหารทุกประเภทที่มีรสหวาน หรือน้ำตาลเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะขนมหวานหลากหลายเมนู จะให้ปลอดจากโรคเบาหวานได้ หรือหากป่วยเป็นเบาหวาน ก็จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่จริงๆ แล้ว ความเข้าใจดังกล่าวไม่ถูกต้อง ขอเพียงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่เหมาะสม ควบคุมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถรับประทานขนมหวานได้ แต่ต้องไม่มากเกินไป

 

เบาหวาน เป็นโรคพันธุกรรม ถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกหลานได้

เข้าใจกันแบบง่าย ๆ ว่า ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคเบาหวาน ลูกก็ต้องป่วยด้วยโรคนี้เช่นกัน ซึ่งในเรื่องนี้ แม้ว่าโรคเบาหวานจะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสเป็นเบาหวาน 100% เสมอไป ฉะนั้น หากดูแลสุขภาพให้ดี ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ (แม้บางมื้อจะทานตามใจชอบ) มีการตรวจเลือด ตรวจสุขภาพประจำปี และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพียงเท่านี้ ก็มีสิทธิ์ปลอดจากโรคเบาหวานได้เหมือนกัน

 

น้ำตาลจากผลไม้ปลอดภัยที่สุด ทานมากเพียงใด ก็ไม่อันตราย

ไม่ได้มีแต่ขนมหวานเท่านั้น ที่เป็นหนึ่งในตัวการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด เพราะ “ผลไม้ที่มีรสหวาน” ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน เนื่องจากว่า “ฟรักโทส” หรือ “ฟรุกโตส” เป็นน้ำตาลที่ได้จากผลไม้ จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส อันมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวาน ผลไม้อบแห้ง ผลไม้ตากแห้ง หรือผลไม้แปรรูปต่างๆ ในปริมาณมาก โดยเฉพาะทุเรียน มะม่วงสุก องุ่น ขนุน กล้วย และลำไย เป็นต้น แต่ถ้าอยากทานจริงๆ ก็ต้องทานในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย

 

เป็นเบาหวาน ห้ามบริจาคเลือด

ความเชื่อที่ว่า ผู้เป็นโรคเบาหวานไม่สามารถบริจาคเลือดได้นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากถ้ามีการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีความดันร่วม ไม่มีภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน  อาทิ แผลจากเบาหวาน โรคไต หรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ก็สามารถบริจาคเลือดได้ตามปกติ

หากในครอบครัวไม่มีใครเป็นโรคเบาหวาน เราก็ไม่เป็น

แม้ว่า เรื่องของ “พันธุกรรม” จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจทำให้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ประเภทที่ 2 แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน หากใช้มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง อาทิ ไม่ชอบออกกำลังกาย ชอบรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงเป็นประจำ พักผ่อนน้อย หรือมีความเครียดสะสม เป็นต้น

** โรคเบาหวาน ประเภทที่ 2 ส่วนใหญ่มักเกิดในคนอายุ 45 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบัน เริ่มพบคนเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 อายุน้อยลง 

 

ผู้ป่วยเบาหวาน ห้ามเข้ารับการผ่าตัด

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยเบาหวาน มักถูกเตือนให้ระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผล เนื่องจากจะหายช้ากว่าปกติ เมื่อถูกเตือนแบบนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้ป่วยเบาหวาน ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ แต่รู้ไหมว่า ที่จริง ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้เหมือนผู้ป่วยปกติทั่วไป เพียงแต่แพทย์และผู้ป่วยต้องระวังในเรื่องของภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานเท่านั้นเอง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : เช็กด่วน! ความเชื่อเกี่ยวกับ “โรคเบาหวาน” ที่หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่