ปิดเมนู
หน้าแรก

“เครียด” เกินไป หรือกำลัง “หมดไฟในการทำงาน” (Burnout Syndrome)

เปิดอ่าน 128 views

“เครียด” เกินไป หรือกำลัง “หมดไฟในการทำงาน” (Burnout Syndrome)

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า เป็นอาการป่วยที่มีผลมาจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน และควรได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต ดังนั้น การหมั่นสังเกตสัญญาณอาการและรู้เท่าทันโรคจะช่วยให้รับมือได้อย่างถูกวิธี ก่อนสายเกินไป อาจส่งผลเป็นโรคทางสมอง บางรายอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าได้

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome เป็นอย่างไร ?

นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์ จิตแพทย์ ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome คือ ภาวะหนึ่งที่เกิดจากการเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงานและไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จนขาดแรงจูงใจ หดหู่ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ลามไปจนประสิทธิภาพในการทำงานลดลง นอกจากนี้ Burnout ยังเป็นภาวะที่ทำให้คน ๆ นั้น สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้

อาการของภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome

Burn out แบ่งลักษณะอาการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง
  2. มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ
  3. ประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ไม่เหมือนเดิม รู้สึกว่าทำงานได้ไม่ดี ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเหินห่างหรือเป็นไปทางลบทั้งกับผู้ร่วมงานและลูกค้า

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัจจัยสุ่มเสี่ยงที่บอกว่ากำลังเข้าสู่ภาวะ Burnout syndrome ได้เช่นกัน

วิธีจัดการกับภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome

อาการ Burn out เบื้องต้นสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง เช่น หากรู้สึกว่าทำงานมากเกินไปควรหันมาให้เวลากับตัวเองให้มากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย ทานอาหารตามเวลา หาเวลาไปท่องเที่ยวพักผ่อน อาจสร้างตารางชีวิตประจำวันใหม่ให้มีความหลากหลายในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น

แต่สิ่งที่ยากคือ ความร่วมมือในระดับองค์กร องค์กรต้องตระหนักว่า Burnout เป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งคนทำงานและองค์กร การจัดการภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ไม่ทำงานหักโหมมากเกินไป ไม่นำปัญหาที่ทำงานสะสมไปที่บ้าน เปิดใจฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับในความแตกต่าง รู้จักขอความช่วยเหลือและปฏิเสธอย่างเหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ มองหาที่ปรึกษาที่รับฟังและแนะนำได้ หรือปรึกษาแพทย์

ซึมเศร้า อีกโรคที่วัยทำงานมีความเสี่ยง

ในส่วนของโรคซึมเศร้า เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองซึ่งมีองค์ประกอบทางชีววิทยาค่อนข้างมาก การให้ยาเป็นการปรับสมดุล แต่โรคซึมเศร้ามีจะโจมตีตัวตน ทำให้คน ๆ นั้นรู้สึกไม่มีแรง ไม่อยากทำงาน รู้สึกไม่เป็นคนเดิม บางครั้งความยากไม่ได้อยู่ที่ผู้ป่วยแต่อยู่ที่สิ่งรอบข้างผู้ป่วยด้วย เช่น ญาติพี่น้อง สามี ภรรยา สิ่งแวดล้อม รวมถึงที่ทำงาน เพราะคนเป็นโรคซึมเศร้ามุมมองต่อโลกจะลบในทุกด้านที่ต้องใช้ความเข้าใจค่อนข้างมาก ความยากอีกเรื่องหนึ่งคือการตระหนักรู้ว่าเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ผู้ป่วยควรมาโรงพยาบาล มาพบแพทย์ มาค้นหาต้นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถกลับไปทำงานได้ ซึ่งต้องแก้ไปทีละจุด ต้องอาศัยความเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าสามารถเป็นได้ แต่ก็รักษาได้เช่นกัน

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : “เครียด” เกินไป หรือกำลัง “หมดไฟในการทำงาน” (Burnout Syndrome)