ปิดเมนู
หน้าแรก

อาการบาดเจ็บที่ “นักวิ่ง” หลายคนอาจต้องเจอ

เปิดอ่าน 167 views

อาการบาดเจ็บที่ “นักวิ่ง” หลายคนอาจต้องเจอ

กระแสวิ่งยังคงมาแรงขึ้นเรื่อยๆ แอบดีใจที่เห็นประชาชนชาวไทยเอาใจใส่กับสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้น แต่แม้ว่าการวิ่งจะเป็นการออกกำลังกายประเภทหนึ่งที่ง่าย และปลอดภัยที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บระหว่างวิ่งได้ ดังนั้นนักวิ่งทั้งมือสมัครเล่น และมืออาชีพควรทราบเอาไว้ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บก่อนที่จะหมดสนุกอดวิ่งกันไปเสียก่อน

 

บาดเจ็บบริเวณเข่าด้านนอก (Iliotibial Band Friction Syndrome)

รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์แพทย์ออร์โธปิดิกส์ และประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยในคอลัมน์บอกเล่าก้าวทันหมอ ในนิตยสาร ฬ.จุฬา ว่า อาการบาดเจ็บบริเวณเข่าด้านนอก เกิดจากการเสียดสีของแถบเอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านข้างกับปุ่มกระดูก เมื่อนักวิ่งพยายามเร่งความเร็วในการวิ่งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ อาจเกิดขึ้นกับคนที่ยืดกล้ามเนื้อก่อนวิ่งไม่เพียงพอ หรือข้ามระยะวิ่งจาก 5 กิโลเมตร เป็น 20 กิโลเมตรโดยใช้เวลาฝึกซ้อมน้อยเกินไป (น้อยกว่า 12 ชั่วโมง)

วิธีป้องกันคือ ฝึกวิ่งให้มากกว่า 12 ชั่วโมง เมื่อต้องการเพิ่มระยะวิ่ง หากมีอาการบาดเจ็บแล้ว ให้ทำกายบริหารด้วยการนอนหงาย แล้วงอเข้าพับไปด้านข้าง และอย่าลืมยืดกล้ามเนื้อก่อนลงวิ่ง

 

กระดูกหักล้า (Stress Fracture)

กระดูกหักล้า เป็นอาการที่พบได้บ่อยในนักวิ่งมาราธอน เกิดจากการฝึกซ้อมอย่างหนัก และเป็นเวลายาวนานที่อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้า และไม่สามารถรับแรงกระแทกเท่าเดิมได้ ส่งผลให้กระดูกไม่สามารถรับน้ำหนัก และแรงกระแทกได้มากเท่าเดิม จนเกิดการแตกหักเล็กๆภายในโครงสร้างของกระดูกภายใน ซึ่งบริเวณที่พบอาการเจ็บปวดบ่อยที่สุด คือบริเวณกระดูกเหนือข้อเท้า อาการปวดนี้อาจจะเป็นๆ หายๆ กล่าวคือเมื่อหยุดวิ่งก็จะหายปวด แต่เมื่อเริ่มต้นวิ่งอีกครั้ง เมื่อผ่านไปได้สักพักอาการปวดก็กลับมาอีก นอกจากนี้เมื่อเอกซเรย์ดูกระดูกแล้ว อาจมองไม่เห็นส่วนที่กระดูกแตกหัก เพราะมีขนาดเล็กมาก

วิธีรักษา คือการพักจนกว่าจะหายปวดจริงๆ ให้กระดูกทำการรักษาด้วยตัวของมันเองราว 2-3 เดือน หรือจนกว่าจะแน่ใจว่ากลับมาวิ่งอีกครั้งแล้วไม่มีอาการปวดอีก เพราะหากวิ่งต่อไปเรื่อยๆ ทั้งที่ยังเจ็บ อาจส่งผลให้กระดูกมีรอบแตกหักที่ใหญ่กว่าเดิม และจะบาดเจ็บ และอันตรายมากกว่าเดิม

 

บาดเจ็บจากลักษณะอุ้งเท้าที่แตกต่างกัน

ลักษณะอุ้งเท้าของคนเรามักไม่เหมือนกันสักทีเดียว เช่น นักวิ่งที่มีอุ้งเท้าสูง มักพบอาการเอ็นร้อยหวายตึงมากกว่าปกติ ส่วนนักวิ่งที่มีลักษณะเท้าแบน อาจเกิดอาการปวดร้าวบริเวณอุ้งเท้า เนื่องจากมีการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้าด้านในมากกว่าปกติ ดังนั้นนักวิ่ง จึงต้องเลือกพื้นรองเท้าให้เหมาะสมกับลักษณะเท้าของตนเองเพื่อป้องกันการ บาดเจ็บเหล่านี้ด้วย

 

กล้ามเนื้อสลายจากการวิ่ง

นักวิ่งบางคนที่วิ่งอยู่เป็นประจำ หรือวิ่งในระยะทางไกลนานๆ อาจจะเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อสลายจากการวิ่ง โดยตรวจเลือดพบค่าเอนไซม์กล้ามเนื้อ (Creatinine Phosphokinase หรือ CPK) ขึ้นสูงผิดปกติ (โดยปกติจะมีค่าอยู่ระหว่าง 15-220 U/L ค่า CPK อาจเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อสลายตัวปนออกมาในเลือดได้ ซึ่งหากนักวิ่งท่านใดอยู่ในภาวะนี้ และเข้ารับการรักษาไม่ทัน อาจเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพในการเข้าสู่ภาวะไตวาย หรือเสี่ยงเสียชีวิตได้

วิธีสังเกตว่าตัวเองเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อสลายจากการวิ่ง ให้สังเกตสีปัสสาวะว่ามีสีเข้มผิดปกติหรือไม่ หากพบว่าสีปัสสาวะเข้ม ให้ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น

 

รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเกิดอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง ควรใช้หลักการ RICE ได้แก่

R (Rest) หยุดพักเมื่อเกิดอาการบาดเจ็บ

I (Ice) ใช้น้ำแข็งประคบเมื่อเกิดอาการปวดบวม (ประคบน้ำแข็งภายใน 48 ชั่วโมงแรก แล้วค่อยประคบร้อนต่อเพื่อลดอาการบวมช้ำ แต่หากเป็นอาการปวดบวมเรื้อรังจากการใช้กล้ามเนื้อมาอย่างยาวนาน ควรประคบน้ำอุ่นเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย)

C (Compression) ใช้ผ้ายืดรัดกระชับบริเวณที่บาดเจ็บไม่ให้บวมมากขึ้น

E (Elevation) ยกขาบริเวณที่เจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวม

ส่วนใหญ่อาการเจ็บปวดของนักวิ่งจะไม่รุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัด แต่อาจจะต้องมีการพักขาหยุดวิ่งในระยะเวลาหนึ่ง แล้วอาการบาดเจ็บจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง แต่ในกรณีที่เป็นนักกีฬามืออาชีพ อาจเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บที่ร้ายแรงกว่าจนต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งจะมีอาการกลับมาเป็นปกติในระยะเวลาราว 2-3 เดือน

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : อาการบาดเจ็บที่ “นักวิ่ง” หลายคนอาจต้องเจอ