ปิดเมนู
หน้าแรก

อันตรายจากอาหารเสริม “เมลาโทนิน” สำหรับคนนอนไม่หลับ

เปิดอ่าน 42 views

อันตรายจากอาหารเสริม “เมลาโทนิน” สำหรับคนนอนไม่หลับ

ใครที่นอนไม่หลับแล้วซื้ออาหารเสริมที่มีเมลาโทนินเป็นส่วนประกอบ ระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อร่างกายในระยะยาวได้ หากนอนไม่หลับควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการ

อาหารเสริมเมลาโทนิน ช่วยให้นอนหลับ ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามที่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของเมลาโทนินผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งระบุสรรพคุณอ้างว่ามีส่วนช่วยในการนอนหลับนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่อนุญาตเมลาโทนินเป็นส่วนประกอบในอาหารหรือเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่หากได้รับติดต่อกันในระยะยาวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

ประกอบกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเมลาโทนินส่วนมาก มีวัตถุประสงค์การจำหน่ายเพื่อช่วยในการนอนหลับ ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวไม่จัดเป็น “อาหาร” ตามนิยามที่กำหนดในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนยาที่มีส่วนผสมของเมลาโทนินเป็นยาควบคุมพิเศษ อนุญาตให้ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลหรือต้องควบคุมโดยการสั่งหรือภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น


เมลาโทนิน คืออะไร?

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมไพเนียลในสมอง ทำหน้าที่ควบคุมการหลับและการตื่นในรอบวัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของช่วงฤดูกาล จึงนิยมนำมาใช้เพื่อรักษาความผิดปกติจากการนอนหลับ 


อันตรายจากการใช้เมลาโทนินไม่ถูกวิธี

ข้อมูลงานวิจัยพบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี เมื่อใช้เมลาโทนินสามารถเพิ่มคุณภาพการนอนได้ แต่ในกลุ่มเด็กพบว่าการได้รับเมลาโทนินมีแนวโน้มให้เกิดความไม่ปลอดภัย เนื่องจากอาจกระทบกับฮอร์โมนอื่นๆ และอาจรบกวนพัฒนาการของร่างกายในช่วงที่เป็นวัยรุ่น นอกจากนี้เมลาโทนินอาจมีปฏิกิริยากับยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) ยากันชัก (Anticonvulsants) ยารักษาโรคเบาหวาน เป็นต้น


ผลข้างเคียงที่อันตรายของการบริโภคอาหารเสริมเมลาโทนิน

รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า ขอเตือนผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรพิจารณาถึงความปลอดภัยโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผสมเมลาโทนิน ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าหากบริโภคติดต่อกันระยะยาวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการง่วงนอนตอนกลางวัน ปวดหรือวิงเวียนศีรษะ มวนท้อง หงุดหงิด มึนงง ภาวะซึมเศร้าในระยะสั้น

เมื่อรู้สึกว่าร่างกายมีความผิดปกตินอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรเสี่ยงซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ที่โฆษณาอวดอ้างช่วยให้นอนหลับมารับประทานเอง หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ได้มาตรฐาน สามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : อันตรายจากอาหารเสริม “เมลาโทนิน” สำหรับคนนอนไม่หลับ