ปิดเมนู
หน้าแรก

อย. เสนอแก้กฎหมาย “พืชกระท่อม” ใช้เพื่อการแพทย์และงานวิจัยได้

เปิดอ่าน 462 views

อย. เสนอแก้กฎหมาย “พืชกระท่อม” ใช้เพื่อการแพทย์และงานวิจัยได้

Kratom (Mitragyna speciosa) Mitragynine. Drugs and Narcotics

Kratom (Mitragyna speciosa) Mitragynine. Drugs and Narcotics

อย.ส่งเสริมการพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพ ย้ำไม่ปิดกั้นความก้าวหน้าทางการแพทย์ พร้อมเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย ในประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และศึกษาวิจัยได้

นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มีนโยบายมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนายาที่ดี มีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่เคยปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยกรณีของพืชกระท่อมปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาตเป็นรายๆ ไป และห้ามมิให้ผู้ใดเสพพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษจำหรือปรับซึ่งการที่จะเปิดให้สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้นั้น

อย. ได้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายในประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ โดยแก้ไขเป็นห้ามมิให้ผู้ใดเสพพืชกระท่อม เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะประกาศกำหนดตำรับยาที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทยหรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์

ทั้งนี้ ผลจากการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เมื่อร่างประมวลกฎหมายฯ มีผลบังคับใช้ พืชกระท่อมก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ หรือนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยในมนุษย์ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่เนื่องจากการที่ใบกระท่อมมีปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน การถอนพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษควรคำนึงถึงผลกระทบ ทางด้านสาธารณสุขและสังคมร่วมด้วย

เลขาธิการฯ กล่าวต่อในตอนท้ายว่า อันที่จริงแล้วการควบคุมพืชกระท่อมในประเทศต่างๆ ปัจจุบัน สหประชาชาติยังมิได้มีการประกาศควบคุมพืชกระท่อมตามอนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศ แต่ได้ขอให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้พืชกระท่อมด้วย จากการสืบค้น พบว่า ประเทศต่าง ๆ เช่น เดนมาร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สวีเดน มีการควบคุมพืชกระท่อม และสารไมทราไจนีน (Mitragynine) และเซ่เว่นไฮดรอกซี่ไมทราไจนีน (7-Hydroxymitragynine) สำหรับประเทศออสเตรเลีย พม่าและมาเลเซีย ก็มีการควบคุมพืชกระท่อม เช่นกัน

credit: health.sanook.com

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : อย. เสนอแก้กฎหมาย “พืชกระท่อม” ใช้เพื่อการแพทย์และงานวิจัยได้