ปิดเมนู
หน้าแรก

สารทำให้ผิวขาว (Whitening Agents) ในครีมหน้าขาว รักษาฝ้า กระ

เปิดอ่าน 1,179 views

สารทำให้ผิวขาว (Whitening Agents) ในครีมหน้าขาว รักษาฝ้า กระและจุดด่างดำ

skin-whitening-forever-ebook-review

 

ในปัจจุบันคนไทยมักเกิดฝ้า กระ หรือริ้วรอยหมองคล้ำ อันเนื่องมาจากรังสีอุลตร้าไวโอเลตเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวจากสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นด้วย สารทำให้ผิวขาวหลายชนิดมักมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและ/หรือฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน จึงส่งผลให้การสร้างเมลานินในผิวหนังลดลงและผิวพรรณขาวสดใสขึ้นกว่าเดิม สารสกัดที่ทำให้ผิวขาวและมีที่มาจากธรรมชาติ ได้แก่ สารสกัดเปลือกสน สารสกัดเมล็ดองุ่น สารสกัดเมล็ดลำไย สารสกัดเมล็ดลิ้นจี่ สารสกัดรังไหม สารสกัดใบหม่อน สารสกัดแก่นมะหาด สารสกัดผลมะขามป้อม และสารสกัดรากชะเอมเทศ เป็นต้น สารสกัดเหล่านี้มีศักยภาพสูงในการนำไปเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทำให้หน้าขาว ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป
 
ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่เขตร้อนชื้น มีแสงแดดจัดเกือบตลอดทั้งปี จึงส่งผลให้คนไทยมีผิวสีคล้ำเนื่องจากแสงแดด ทั้งนี้ดวงอาทิตย์ได้แผ่รังสีอุลตร้าไวโอเลต (ultraviolet, UV) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ UVA ซึ่มีความยาวคลื่นมาก ประมาณ 315-380 นาโนเมตร UVB ซึ่งมีความยาวคลื่นปานกลาง ประมาณ 280-315 นาโนเมตร และ UVC ซึ่งมีความยาวคลื่นสั้น คือ ความยาวคลื่นที่สั้นกว่า 280 นาโนเมตร ซึ่งรังสีอุลตร้าไวโอเลตเหล่านี้จะสามารถทำลายผิวหนัง ทำให้ผิวเหี่ยวย่น แสบ และลอกได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามคนที่อาศัยอยู่ในเขตร้อนจะมีสีผิวคล้ำกว่าคนที่อาศัยอยู่ในเขตหนาว เนื่องจากคนในเขตร้อนมีการสร้างเม็ดสีหรือเมลานิน (melanin) มากกว่า เมลานินแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ pheomelanin และ eumelanin ซึ่งจำนวนและชนิดของเมลานินจะขึ้นอยู่กับพันธุกรรม ทั้งนี้ความผิดปกติที่เกิดจากการสร้างเม็ดสีมากเกินไปจะทำให้เกิดฝ้า กระ หรือรอยหมองคล้ำได้ ในกระบวนการสร้างเมลานินทั้งสองชนิดดังกล่าวจะต้องใช้ tyrosine (เป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์) เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์เมลานิน ดังแผนภาพที่ 1

         Eumelanin
 
แผนภาพที่ 1: แสดงกระบวนการชีวสังเคราะห์ของเมลานิน (pheomelanin และ eumelanin)
 
จากที่กล่าวมานอกจากแสงแดดจะเป็นสาเหตุของฝ้าและรอยหมองคล้ำแล้ว ยังมีสาเหตุที่มาจากฮอร์โมน ซึ่งมักพบในสตรีมีครรภ์หรือสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดบางชนิด ยารับประทานบางชนิดก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฝ้าได้ เช่น diphenylhydantoin (ยากันชัก) รอยด่างดำบางชนิดเกิดจากการใช้เครื่องสำอาง (pigmented cosmetic dermatitis) ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีผื่นคันสีดำปนแดง และอาจมีอาการอักเสบร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าพันธุกรรมและภาวะทุพโภชนาการอาจเป็นสาเหตุของฝ้าได้ ความผิดปกติของสีผิวชนิดเข้มขึ้นมีสาเหตุมาจากจำนวนเมลานินมากผิดปกติ การกระจายของเมลานินในชั้นหนังแท้ การสะสมของสารบางชนิดในผิวหนัง เช่น โลหะหนัก ยาบางชนิด หรือ porphyrin ที่ทำให้ melanocyte สร้างเมลานินมากขึ้น และความผิดปกติจากการหนาตัวของหนังกำพร้า ทำให้การผ่านของแสงและการกระจายของแสงเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งมีการดูดซับแสงเพิ่มมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามแสงแดดยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของฝ้าและรอยหมองคล้ำ ซึ่งรังสีอุลตร้าไวโอเลตจะมีผลต่อกระบวนการชีวสังเคราะห์ของเมลานินใน 3 ขั้นตอน คือ พลังงานจากรังสีอุลตร้าไวโอเลตจะออกซิไดส์ให้ tyrosine เปลี่ยนไปเป็น DOPA ซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ปริมาณของ sulfhydryl group ในหนังกำพร้าลดลงเมื่อได้รับรังสีอุลตร้าไวโอเลต ส่งผลให้กระบวนการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ตามธรรมชาติหมดไป และอุณหภูมิของผิวหนังจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อได้รับรังสีอุลตร้าไวโอเลต ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้จะไปเร่งการสังเคราะห์เมลานินโดยตรง ซึ่งจะเร่งให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของเอนไซม์ tyrosinase และเพิ่มออกซิเดชันที่ sulfhydryl group
 natural extracts สารสกัดธรรมชาติทำให้ผิวขาว-ครีมหน้าขาว
ผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวมักใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์รบกวนการสร้างเมลานิน เช่น สารทำให้ผิวขาว (whitening agents) เพื่อทำให้ผิวหนังบริเวณที่ได้รับสารชนิดนี้มีความขาวขึ้นหรือทำให้สีผิวอ่อนลง ตัวอย่างสารเคมีที่รบกวนการสร้างเมลานิน ได้แก่ สารประกอบของปรอท (mercury compounds) เช่น phenyl mercuric salt, mercuric chloride และ ammoniated mercury สารประกอบเหล่านี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ทั้งนี้สารประกอบของปรอทจัดเป็นสารอันตรายที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นแดง ผิวบาง และเกิดรอยดำ บนใบหน้า ทั้งนี้อาจทำให้เกิดการสะสมพิษของปรอทซึ่งเป็นโลหะหนักอันตราย ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ เป็นต้น ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศห้ามใช้สารประกอบของปรอทเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ไฮโดรควิโนน (hydroquinone) หรือ benzene-1,4-diol เป็นสารที่รบกวนการสร้างเมลานิน โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase แต่ทำให้เกิดการแพ้ ระคายเคือง จุดด่างขาว ผิวไวต่อแสง ผิวแดงและคล้ำดำในที่สุด หรืออาจเกิดฝ้าอย่างถาวร นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ใน Salmonella และเป็นพิษต่อเซลล์ (cytotoxic) อีกด้วย ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศห้ามใช้สารชนิดนี้ในเครื่องสำอาง
ในปัจจุบันมีการนำสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหลายชนิดมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว ได้แก่ arbutin หรือ hydroquinone-beta-glucopyranoside ซึ่งพบได้มากในใบของ cranberry และ blueberry วิตามินซี (ascorbic acid) และอนุพันธ์ของมัน เช่น magnesium ascorbyl phosphate และกรดอ่อน kojic acid ซึ่งได้จากการหมักข้าวชนิดหนึ่งเพื่อทำเหล้าสาเกของชาวญี่ปุ่น สารชนิดนี้มีผลรบกวนการสร้างเมลานินและมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน (antioxidant) อย่างไรก็ตามพบว่ามีรายงานการทำให้เกิดอาการระคายเคือง ผื่นแพ้ หรือผิวหนังอักเสบ ได้บ้าง ต่อมาได้มีการพัฒนา kojic acid ให้มีความคงตัวต่อแสงแดดและออกซิเจนในอากาศ โดยปรับปรุงโครงสร้างทางเคมีของ kojic acid ให้กลายเป็น kojic dipalmitate ซึ่งมีความคงตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากพืชอีกหลายชนิดมีฤทธิ์ทำให้ผิวขาว เช่น mulberry extract และ glycyrrhizaextract (licorice extract) เป็นต้น สารที่ออกฤทธิ์ลอกเคราทิน (keratolytic action) จัดเป็นสารทำให้ผิวขาวชนิดหนึ่งที่ช่วยลอกผิวหนังสีคล้ำชั้นบนสุดออกไป ทำให้สีผิวดูขาวและสดใสขึ้น สารในกลุ่มนี้ได้แก่ กรดวิตามินเอ (retinoic acid หรือ tretinoin) สารชนิดนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองผิวหนัง และทำให้ผิวหนังบางลง อย่างไรก็ตามกรดวิตามินเอมีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการได้อย่างถาวร
ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศห้ามใช้สารชนิดนี้ในเครื่องสำอาง แต่ยังอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในยาทาภายนอกและยารับประทานสำหรับรักษาสิว ทั้งนี้ต้องใช้ในความดูแลของแพทย์ กรดผลไม้ (alpha-hydroxy acids, AHAs) เป็นกรดอ่อนที่พบได้ในผลไม้ชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะนาว (citric acid) แอปเปิ้ล (malic acid) อ้อย (glycolic acid) และมะขาม (tartaric acid) เป็นต้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากสารทำให้ผิวขาวหลายชนิดทำให้เกิดอันตรายต่อผิวพรรณและร่างกาย ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรมีความรู้และความเข้าใจว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่สามารถปรับเปลี่ยนสีผิวให้ขาวใสกว่าสีผิวเดิมตามธรรมชาติของแต่ละบุคคลได้ ซึ่งในบทความนี้จะยกตัวอย่างสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ทำให้ผิวขาว ดังต่อไปนี้
 

1.สารสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ของรังไหม 3 ชนิด และสารสกัดใบหม่อน

มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันและฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase อย่างไรก็ตามฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ของสารสกัดทุกชนิดมีฤทธิ์ต่ำกว่า kojic acid (ใช้เป็นสารมาตรฐานทำให้ผิวขาว) อยู่มาก ทั้งนี้สารสำคัญในสารสกัดจากรังไหม คือ flavonoids ในขณะที่สารสำคัญในสารสกัดจากใบหม่อน (Morus alba) คือ flavonoids และ triterpenoids
 

2. สารสกัดคลอโรฟอร์มจากกิ่งของปอสา (Paper Mulberry)

ปอสามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าBroussonetia papyrifer  มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase เมื่อใช้ L-tyrosine เป็นสารตั้งต้นในการทดสอบ โดยพบว่าสารสำคัญในสารสกัดดังกล่าว ได้แก่ 3,5,7,4’-tetrahydroxy-3’-(2-hydroxy-3-methylbut-3-enyl)flavone, uralenol, quercetin และ broussoflavonol F มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้ดีกว่า arbutin ซึ่งเป็นสารมาตรฐานที่รู้จักกันทั่วไปว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase
 

3. สารสกัดจากผลของมะขามป้อม (Phyllanthus emblica Linn.)

 
มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ collagenase และฤทธิ์ต้านเอนไซม์ tyrosinase โดยพบว่าความร้อนจากการสกัดและชนิดของตัวทำละลาย มีผลต่อการออกฤทธิ์ดังกล่าวข้างต้น ความร้อนจะทำให้ฤทธิ์ต่าง ๆ ลดลง ตัวทำละลายเอธานอลและอะซีโตนจะให้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ collagenase สูงกว่าตัวทำละลายเอธิลอะซีเตด ในขณะที่ตัวทำละลายเอธิลอะซีเตดจะให้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ tyrosinase สูงกว่าตัวทำละลายเอธานอลและอะซีโตน นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดมะขามป้อมมีความคงตัวดีในการต้านออกซิเดชัน ช่วยป้องกันผิวหนังจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ ป้องกันผิวหนังจากการทำลายของเอนไซม์ collagenase และ tyrosinase ดังนั้นมะขามป้อมจึงมีประโยชน์ในเชิงนำมาพัฒนาในผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผิวขาวได้อย่างปลอดภัย ในมะขามจะอุดมด้วยวิตามินซี gallic acid และ emblicanin ซึ่งเป็นสารที่ช่วยลดการถูกทำลายของผิวจากแสงแดดและอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ จึงนับได้ว่าเป็นสารต้านออกซิเดชันที่ดี นอกจากนี้มะขามป้อมยังมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวด้วย จึงได้มีการนำมะขามป้อมมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์รักษาสิว เพื่อช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น เนื่องจากสารสกัดมะขามป้อมมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันได้ดีจึงได้มีการนำสารสกัดมะขามป้อมมาเตรียมเป็นไลโปโซม (liposome) โดยวิธี modified ethanol injection จากการศึกษาพบว่า สารสกัดมะขามป้อมในชั้นเอธานอลมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูง ซึ่งไลโปโซมที่เตรียมจาก SPC : Tween 80 : DA (84 : 16 : 2.5 โดยน้ำหนัก) จะมีประสิทธิภาพในการเก็บกักสาร (entrapment efficiency) สูง (70-73 เปอร์เซ็นต์) และมีความคงตัวดี
 

4. สารสกัดหยาบเอธานอลจากเถาสิรินธรวัลลี (สามสิบสองประดง)

มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้ค่อนข้างดี ในปฏิกิริยาเปลี่ยน L-DOPA ไปเป็น dopachrome ในกระบวนการชีวสังเคราะห์เมลานิน คาดว่าจะสามารถพัฒนาสารสกัดจากเถาสิรินธรวัลลีไปเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวได้
 

5. สารสกัดจากชะเอมเทศ (Licorice Extract)

เป็นสารสกัดของรากชะเอมเทศ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glycyrrhiza glabra L. ชะเอมเทศมีสรรพคุณทางยา เช่น แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร สงบประสาท ต้านอักเสบ และใช้แต่งรสหวานในตำรับยาแผนโบราณ เป็นต้น สารสำคัญในรากชะเอมเทศ ได้แก่ triterpenes, saponins และ flavonoids ต่อมาได้มีการค้นพบว่าสารสกัดชะเอมเทศในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase จึงอาจช่วยให้มนุษย์มีผิวขาวขึ้นได้
 

6. กรดผลไม้ (Alpha Hydroxyl acid หรือ AHA)

 
ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน ได้แก่ glycolic acid ซึ่งพบมากในอ้อย lactic acid พบมากในนมเปรี้ยว malic acid พบมากในแอปเปิ้ล citric acid พบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว และ tartaric acid พบในองุ่น สารในกลุ่ม glycolic acid มีโครงสร้างและขนาดโมเลกุลเล็กจึงซึมผ่านผิวหนังได้ดี โดยเฉพาะ lactic acid จะมีประสิทธิภาพในการซึมผ่านผิวหนังได้ดีที่สุด กรดผลไม้จะออกฤทธิ์เป็น chelating agent ที่สามารถจับแคลเซียมไอออนออกจากเซลล์ผิวหนังได้ ซึ่งการยึดติดกันของเซลล์บุผิว (epithelium cell) จะต้องอาศัย cadherin และการทำงานของ cadherin จะขึ้นอยู่กับแคลเซียมไอออน ดังนั้นเมื่อระดับแคลเซียมไอออนลดลงจึงเร่งการหลุดลอกของเซลล์ที่ผิวชั้นนอก ทำให้มองเห็นผิวที่สร้างขึ้นใหม่ จึงแลดูผิวขาวและอ่อนเยาว์มากขึ้น
 

7. วิตามินซี (Ascorbic Acid) และอนุพันธุ์ของวิตามินซี

 
เป็นสารทำให้ผิวขาวที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีผลยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase และมีฤทธิ์ฟอกสีผิว (bleaching effect) จึงทำให้เมลานินลดลง ผิวจึงแลดูขาวขึ้น นอกจากนี้วิตามินซียังเป็นสารต้านออกซิเดชันที่ดีอีกด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากวิตามินซีถูกออกซิไดส์ได้ง่ายจึงส่งผลให้ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานินลดลงด้วย จึงได้มีการพัฒนาอนุพันธุ์ของวิตามินซีให้มีความคงตัวสูงขึ้นแต่ยังมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ tyrosine ได้ดีดังเดิม นอกจากนี้ยังสามารถแพร่ผ่านผิวหนังได้ดีขึ้นอีกด้วย อนุพันธุ์ของวิตามินซี ได้แก่ magnesium L-ascorbyl phosphate (MAP), magnesium ascorbate PCA (MAPCA), ascorbyl oleate, vitamin C glycoside และ disodium ascorbyl sulfate เป็นต้น
 

8. Kojic Acid

 
เป็นสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ได้จากเชื้อรา Aspergillus มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน และเป็น iron chelator ซึ่งธาตุเหล็กในผิวหนังเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ (free radical) ที่ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของผิวหนังเมื่อโดนแสง และทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น ดำคล้ำ เป็นต้น
 

9. Rumex Extract เป็นสารสกัดจากพืช 4 ชนิด ได้แก่ Rumex occidentalis, Rumex maritimus, Rumex pseudonatronatus และRumex stenophyllus

สารสกัดชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้ใกล้เคียงกับ kojic acid และมีฤทธิ์ดีกว่า hydroquinone และ arbutin ในทุกความเข้มข้น
 

10. ลำไย (Longan) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphoria longana Lam. หรือ Dimocarpus longan Lour.

เป็นพันธุ์ไม้ไม่ผลัดใบ มีถิ่นกำเนิดในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ผลรับประทานโดยรับประทานสดหรือเป็นส่วนผสมในอาหารคาวและหวาน ผลมีลักษณะกลม มีเปลือกบางสีน้ำตาล เนื้อในสีขาวอ่อนนุ่มและฉ่ำน้ำ เมล็ดมีสีดำ จากรายงานการศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชันของลำไย พบว่าปริมาณวิตามินซีไม่สัมพันธ์กับความแรงของฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน แสดงว่าฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในลำไยไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณวิตามินซีแต่จะขึ้นอยู่กับ phenolic compounds และ flavonoids ในลำไย จากรายงานการศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในสารสกัดลำไยพบว่าสารสกัดเมล็ดลำไยมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูงกว่าสารสกัดเนื้อลำไย มีรายงานว่าเมล็ดลำไยประกอบด้วย polyphenolic compounds ที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในปริมาณสูง สารเหล่านี้ ได้แก่ corilagin, gallic acid และ ellagic acid ซึ่งสารเหล่านี้จะมีปริมาณสูงมากในสารสกัดเมธานอลจากเมล็ดลำไย ในขณะที่สารสกัดเมธานอลจากเปลือกลำไยมีปริมาณสารเหล่านี้ในลำดับรองลงมา และในสารสกัดเมธานอลจากเนื้อลำไยมีสารเหล่านี้ในปริมาณต่ำที่สุด จึงคาดว่าสารสกัดเมล็ดลำไยจะสามารถพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้บำรุงร่างกายและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น สารสกัดจากเมล็ดลำไยแห้งที่ประกอบด้วย gallic acid และ ellagic acid ในปริมาณสูง มี free radical scavenging activity แรงกว่าสารสกัดจากเมล็ดลำไยสด และสารสกัดจากเนื้อของผลลำไยแห้ง นอกจากนี้สารสกัดจากเมล็ดลำไยยังมี scavenging activity สูงกว่าสารสกัดจากเนื้อของผลลำไยแห้งและสารสกัดจาก mulberry green tea สารสกัดจากเมล็ดลำไยแห้งออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารสกัดจากเนื้อของผลลำไยแห้งและสารสกัดจากผลลำไยแห้งทั้งผล คาดว่าสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันซึ่งอยู่ในสารสกัดด้วยน้ำนั้นไม่ใช่สาร corilagin, gallic acid และ ellagic acid แต่คาดว่าเป็นสาร phenolic/flavonoid glycosides และ ellagitannins ซึ่งอยู่ในผลลำไย นอกจากนี้สารสกัดเมล็ดลำไยยังแสดง tyrosinase inhibitory activity ที่ IC50 = 2.9-3.2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร อีกด้วย จากผลการวิจัยดังกล่าวสรุปได้ว่าสารสกัดจากเมล็ดลำไยมีศักยภาพเป็นสารต้านออกซิเดชันจากธรรมชาติที่สามารถพัฒนาไปเป็นสารทำให้ผิวขาวได้
 

11. สารสกัดจากเปลือกสน (Pine Bark Extract)

มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน จึงสามารถลดการสร้างเมลานินที่ผิดปกติซึ่งเป็นสาเหตุของฝ้า มีรายงานว่าการรับประทานสารสกัดเปลือกสนอย่างต่อเนื่องจะทำให้รอยฝ้าและกระจางลง และเลือนหายไปในที่สุด สารสำคัญในสารสกัดเปลือกสน ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ และวิตามินซี ที่ช่วยทำให้ผนังหลอดเลือดฝอยแข็งแรง รอยฝ้าและกระจางลง ผิวหนังขาวใสและยืดหยุ่นอย่างเป็นธรรมชาติ มีรายงานว่า pycnogenol ที่แยกได้จากเปลือกสน มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันและสามารถยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ในกระบวนการสังเคราะห์เมลานินได้ดี นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดเปลือกสนยังสามารถกระตุ้นระบบภูมิต้านทานในร่างกายให้ดีขึ้นด้วย

natural extract มะหาดช่วยให้ขาวจริงหรือ
 

12. มะหาด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artocarpus lakoocha Roxb.

สารสกัดจากแก่นมะหาดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ในหลอดทดลอง และมีฤทธิ์ลดการสร้างเมลานินในมนุษย์ สารสำคัญในสารสกัดแก่นมะหาด คือ oxyresveratrol ทั้งนี้การเตรียมสารสกัดในรูปแบบ oil-in-water emulsion จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ให้ดีขึ้น ดังนั้นสารสกัดแก่นมะหาดจึงมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวได้ดี
 

13. สารสกัดเมล็ดองุ่นประกอบด้วย Oilgmeric Proantocyannidins (OPC)

ซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน จึงช่วยลดและชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง ช่วยสร้างคอลลาเจนทำให้ผิวแข็งแรงและสุขภาพดี ช่วยให้ฝ้าและกระจางลง ผิวพรรณขาวขึ้นตามธรรมชาติ
 

14. สารสกัดเมล็ดลิ้นจี่ (Litchi sinensis Sonn.)

มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันและยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase สารสกัดเอธานอลที่มีเข้มข้น 50 เปอร์เซ็นต์ในน้ำ มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันดีที่สุด และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้ดีกว่าสารสกัดที่เตรียมจากตัวทำละลายเอธานอล เมธานอล และน้ำ สารสำคัญในกลุ่ม phenolic compounds ที่พบในสารสกัดเอธานอลที่มีเข้มข้น 50 เปอร์เซ็นต์ ในน้ำ ได้แก่ gallic acid, procyanidin B2, (-)-gallocatechin, (-)-epicatechin และ (-)-epicatechin-3-gallate สรุปได้ว่าสารสกัดเมล็ดลิ้นจี่มีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นส่วนประกบของผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว
 

บทสรุป

สารสกัดที่ทำให้ผิวขาวและมีที่มาจากธรรมชาติ ได้แก่ สารสกัดเปลือกสน สารสกัดเมล็ดองุ่น สารสกัดเมล็ดลำไย สารสกัดเมล็ดลิ้นจี่ สารสกัดรังไหม สารสกัดใบหม่อน สารสกัดแก่นมะหาด สารสกัดผลมะขามป้อม และสารสกัดรากชะเอมเทศ เป็นต้น ล้วนมีศักยภาพสูงในการนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ทำให้หน้าขาว เพราะมีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ tyrosinase และ/หรือฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน สารสกัดเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้มาจากพืชของไทย จึงนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยกันพัฒนาอุตสากรรมผลิตภัณฑ์ทำให้หน้าขาวสำหรับคนไทยและเป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อลดการขาดดุลการค้า และยังเป็นการช่วยสนับสนุนผลิตผลทางการเกษตรของเกษตรกรไทยอีกด้วย
soap-and-cosmetics-development-%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%aa%e0%b8%9a%e0%b8%b9%e0%b9%88-%e0%b8%84%e0%b8%a3 cosmetics-%e0%b8%aa%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a1-%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b9%8c%e0%b8%84 cosmetics-%e0%b8%aa%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a1-%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b9%8c%e0%b8%84
cosmetics-%e0%b8%aa%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a1-%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b9%8c%e0%b8%84 cosmetics-%e0%b8%aa%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a1-%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b9%8c%e0%b8%84

บริษัท เค เอส คอสมิทอลโลจี (ประเทศไทย) จำกัด 

Brand Manager Tel: 083-007-8589, Line ID: careandliving

KS Cosmetology (Thailand) Co.,Ltd.
99/129 Chatluang Village 9, Phathum-Samkhok Rd.
T. Bangprog Muangphathumtani Phathumthani 12000

มีฝ่าย R&D จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
พัฒนาสูตร และผู้เชี่ยวชาญดูแล อย่างใกล้ชิด

TAGS ที่เกี่ยวข้อง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : สารทำให้ผิวขาว (Whitening Agents) ในครีมหน้าขาว รักษาฝ้า กระ