ปิดเมนู
หน้าแรก

วิธี “แปรงฟัน” ที่ถูกต้อง เพราะคุณอาจทำผิดมาตลอดชีวิต

เปิดอ่าน 16 views

วิธี “แปรงฟัน” ที่ถูกต้อง เพราะคุณอาจทำผิดมาตลอดชีวิต

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

ทุกวันนี้ เราแปรงฟันกันแบบไหน? ตามปกติของคนทั่วไปแล้ว เราจะบ้วนน้ำให้ในปากเปียกก่อนครั้งหนึ่ง บีบยาสีฟันใส่แปรงแล้วเอาแปรงจุ่มน้ำ (หรือเอาแปรงจุ่มน้ำก่อนแล้วบีบยาสีฟัน) แล้วค่อยแปรงฟัน ยิ่งผสมกับน้ำจนเกิดฟองมากเท่าไรก็รู้สึกสะใจมากเท่านั้น เพราะเรารู้สึกว่าปากสะอาด พอแปรงเสร็จก็บ้วนทิ้ง แล้วบ้วนน้ำอยู่ประมาณ 4-5 ครั้ง เอารสชาติยาสีฟันออกให้หมด ถูกต้องหรือไม่? ถูก เราส่วนใหญ่แปรงฟันกันแบบนั้น แต่กลับกลายเป็นว่านั่นเป็นวิธีการแปรงฟันที่ไม่ถูกต้องซะงั้น!

สังเกตง่ายๆ เรารู้กันมาแต่เด็กว่าการแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ ช่วยป้องกันฟันผุ แต่ทำไมใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์แล้วฟันก็ยังผุอยู่เหมือนเดิม ยาสีฟันไม่มีคุณภาพ? หลอกว่าผสมฟลูออไรด์? เปล่า เพราะเราต่างหากที่ล้างมันทิ้งเอง

ในวงการทันตกรรมจึงเริ่มรณรงค์กันอย่างเอาจริงเอาจัง ให้ประชาชนหันมา “แปรงฟันแบบแห้ง” แค่นึกภาพตามก็ดูไม่น่าลองแล้ว เพราะเราที่ไม่ชินคงจะรู้สึกฝืดกันน่าดู และไม่มีน้ำ ก็ไม่มีฟอง ฟันจะสะอาดได้อย่างไร แต่การแปรงฟันโดยไม่ใช้น้ำบ้วนทิ้ง จะทำให้ฟลูออไรด์ที่ได้จากยาสีฟันอยู่ในปากเรานานและมากขึ้น จึงทำหน้าที่ของมันได้ดีขึ้นเช่นกัน ผลที่ตามมาก็คือ ช่วยป้องกันฟันผุได้ดีกว่าเดิม

นั่นหมายความว่า การแปรงฟันแบบบ้วนน้ำที่เราคุ้นเคย กลับไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะการบ้วนน้ำจะทำให้ฟลูออไรด์ ที่เราจะได้จากยาสีฟันถูกน้ำล้างออกไปจนหมด การแปรงฟันแบบแห้งจึงกลายเป็นวิธีที่ทันตแพทย์ทั่วโลกแนะนำ

วิธีการแปรงฟันแห้ง คือการแปรงฟันแบบไม่ใช่น้ำทั้งก่อนแปรงฟันและหลังแปรงฟัน บีบยาสีฟันปริมาณพอเหมาะ (คำนึงตอนต้องถ่มทิ้ง) ลงบนแปรงสีฟันที่ไม่จุ่มน้ำ จากนั้นแปรงฟันตามปกติ ใช้เวลาราวๆ 2-3 นาที จากนั้นก็ถ่มเอาฟองยาสีฟันทิ้งให้หมดด้วยน้ำลาย ไม่บ้วนน้ำ สำหรับเศษอาหารที่ติดฟัน แนะนำให้ใช้ไม้จิ้มฟันหรือไหมขัดฟันเอาออกก่อนแปรงฟัน เลี่ยงการดื่มน้ำหรือกินข้าวหลังแปรงฟันนาน 30 นาที เพื่อให้ฟลูออไรด์ทำหน้าที่เคลือบฟันอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ข้อดีของการแปรงฟันแบบแห้ง

การแปรงฟันแห้ง ช่วยป้องกันฟันผุได้มากกว่าการบ้วนน้ำตามหลังการแปรงฟัน เพราะฟลูออไรด์จะเคลือบผิวฟัน และทำหน้าที่ป้องกันฟันผุได้ดีมีประสิทธิภาพขึ้น โดยหลังการแปรงฟันครึ่งชั่วโมงแรก ปริมาณฟลูออไรด์ที่เข้มข้นจะมีประโยชน์มากในการซ่อมแซมผิวฟัน หากเราเคลือบผิวฟันด้วยฟลูออไรด์จากการแปรงฟันแห้งทุกวันๆ เท่ากับเราเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างฟันอยู่เป็นประจำ ฟันไม่ผุ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปหาทันตแพทย์เพื่อเคลือบฟลูออไรด์หรือปรึกษาฟันผุให้เสียเงิน เสียเวลา เสียอารมณ์ (รอ)

กลับกันกับสิ่งที่เราคุ้นเคยและทำกันทุกวันนี้ ถ้าเราบ้วนน้ำหลายครั้งหลังการแปรงฟัน ปริมาณความเข้มข้นของฟลูออไรด์ในปากก็จะถูกเจือจางและลดลงอย่างมาก ยิ่งบ้วนมาก ฟลูออไรด์ก็ไม่เหลือเลย ประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุก็ลดลงตามไปด้วย ผลจึงออกมาว่า “บ้วนน้ำเยอะฟันผุเยอะ” บ้วนน้ำน้อยฟันผุน้อย ไม่บ้วนเลยฟันผุน้อยที่สุด

แต่ถ้าเพิ่งเริ่มทำแรกๆ แล้วรู้สึกว่าไม่ไหวจริงๆ สามารถใช้น้ำบ้วนตามได้นะ เพียงแต่ต้องใช้ในปริมาณน้อยมากๆ เป็นไปได้แค่ 1 ช้อนกาแฟก็พอ แล้วอย่ากลั้วเยอะหรืออมน้ำนาน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับกับการแปรงฟันแบบเดิม

แปรงฟันแบบแห้ง ทันตแพทย์แนะนำกันทั่วโลก

มีคำสากลที่ใช้กันคือ Spit don’t rinse แปลไทยว่า “ถ่มหรือบ้วนฟองทิ้ง” โดยไม่ใช้น้ำเข้าไปล้าง ซึ่งไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เขาก็ทำกัน แต่เพราะมันมีงานวิจัยที่สอดคล้องกันรองรับหลายชิ้นตั้งแต่ปี 1980

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่โด่งดังมาก ในปี 1992 ที่เมืองนอตทิงแฮม ประเทศอังกฤษ พบว่าเด็กที่แปรงฟันแล้วบ้วนปากโดยเอาปากไปจ่อกับก๊อกน้ำ (บ้วนแบบชุ่ยๆ ) มีฟันผุน้อยกว่าเด็กที่บ้วนปากจากแก้วน้ำ แล้วหลังจากนั้นก็มีงานวิจัยอื่นๆ ตามมาอีกจำนวนมาก เพื่อพิสูจน์และยืนยัน เช่นเดียวกัน ในปี 2010 ก็มีการทดลองลักษณะเดิมอีก ทดลองให้เด็ก 2 โรงเรียน แปรงฟันแบบบ้วนน้ำกับแปรงฟันแล้วถ่มทิ้งไม่ต้องบ้วนน้ำ ผลก็ออกมาเหมือนกัน

จนในปี 2012 มีการประชุมกันถึงเรื่องนี้ โดยอ้างอิงจากหลักฐานการวิจัยหลายชิ้นที่ทดสอบในคน และการตรวจโครงสร้างฟันดูปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำลาย ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศอังกฤษ จึงออกคำแนะนำ Spit don’t rinse หรือแปรงแห้งกับคนทั่วไปว่า “การแปรงฟันโดยไม่ต้องบ้วนน้ำหลังแปรงฟัน มีประสิทธิภาพที่สุด”

ความสำคัญของฟลูออไรด์

เราเคยเรียนกันมาตั้งแต่สมัยอนุบาลแล้ว ว่ายาสีฟันที่ดีต้องมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ซึ่งฟลูออไรด์ก็คือสารที่ช่วยป้องกันฟันผุ เคลือบผิวฟันให้แข็งแรง ทนทานต่อความเป็นกรด และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ดีในช่องปากด้วย

ยาสีฟันตามท้องตลาดมีให้เลือกมากมายหลายสูตร ซึ่งเราก็ถูกสอนกันมาแต่เด็กแล้วเช่นกัน ว่าเวลาที่ซื้อยาสีฟัน ให้หาดูด้วยว่าผสมฟลูออไรด์หรือไม่ แต่พอมียาสีฟันสูตรสมุนไพรเข้ามาเป็นทางเลือกสำหรับคนกลัวการกลืนกินสารเคมี กลับละเลยการดูข้างกล่องหรือข้างหลอดยาสีฟันว่าผสมฟลูออไรด์ด้วยไหม

ในเมื่อฟลูออไรด์มีความสำคัญต่อสุขภาพฟันมาก เราก็ควรคงปริมาณฟลูออไรด์ไว้ให้มากที่สุด เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการเคลือบฟัน แถมด้วยข้อดีที่ว่าการแปรงฟันไม่ใช้น้ำนั้น ยังลดการใช้น้ำอีกด้วยนะ

เรื่องน่าเศร้าเพราะฟันผุ

ใครที่เคยเผชิญกับโรคฟันผุจะเข้าใจดี ว่าฟันผุไม่ใช่เรื่องเล็ก สงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก ปวดมากจนกินไม่ได้ ปวดมากก็หงุดหงิดอารมณ์เสีย ฟันหลอ ปากเหม็น อับอายไม่กล้ายิ้ม ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าในชีวิตเพียงเพราะแค่ฟันผุเท่านั้น

ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุ แต่การบ้วนน้ำหลังแปรงฟัน คือการล้างมันทิ้ง ลดประสิทธิภาพของฟลูออไรด์ลงไป ถ้าเราแปรงฟันแบบแห้งไม่บ้สนน้ำเลย ฟลูออไรด์จะยังคงอยู่ครบ 100 เปอร็เซ็นต์ ในขณะที่ถ้าเราบ้วนน้ำ 1 ครั้ง ฟลูออไรด์จะเหลือในปากแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ บ้วน 2 ครั้งก็ลดลงไปอีก เหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งบ้วนมากเท่าไร เพราะต้องการให้ฟองหมดปากก็ไม่หลงเหลือฟลูออไรด์แล้ว การป้องกันฟันผุจากการแปรงฟันจึงเป็นศูนย์

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราถึงควรที่จะลองแปรงฟันแบบแห้งดู แรกๆ อาจจะไม่ชิน เพราะการถ่มยาสีฟันทิ้งโดยไม่บ้วนน้ำอีกรอบ ยาสีฟันก็จะหลงเหลืออยู่ในปากเรา ซึ่งตามหลักการเคลือบฟันของฟลูออไรด์แล้วเป็นวิธีที่ถูกต้อง ปล่อยให้คราบยาสีฟันผสมฟลูออไรด์หลงเหลืออยู่บนผิวฟัน ฟันเราก็จะได้รับฟลูออไรด์ไปเคลือบผิวฟัน และเสริมสร้างโครงสร้างให้ฟันแข็งแรงมากขึ้น

แล้วกินยาสีฟันเข้าไป ไม่อันตรายหรอกเหรอ?

ก่อนหน้านี้เราอาจจะมีความเข้าใจกันมาว่าการกลืนกินเอายาสีฟันเข้าไปนั้นเป็นอันตราย เพราะถึงอย่างไร ยาสีฟันหลากหลายยี่ห้อในท้องตลาดก็ยังเป็นสารเคมีสังเคราะห์อยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ที่ชอบยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งมาก เพราะมันหอม สีน่ากิน และเมื่อได้กินแล้วดันอร่อยเสียด้วย

สารเคมีในยาสีฟันจะเป็นอันตรายต่อร่างกายก็ต่อเมื่อเรากินยาสีฟันปริมาณ 3 กิโลกรัม! เข้าไป ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่มีใครแปรงฟันครั้งเดียวด้วยยาสีฟัน 3 กิโลกรัมอย่างแน่นอน

ในยาสีฟัน จะมีสารเคมีที่ชื่อว่า Sodium Lauryl Sulfate หรือสาร SLS จัดเป็นสารทำความสะอาดอย่างหนึ่งที่ช่วยลดแรงตึงผิว พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้ลื่นขึ้นและมีฟอง สารชนิดนี้นิยมใช้ในเครื่องสำอางต่างๆ เช่น สบู่ ยาสระผม โฟมล้างหน้า รวมถึงยาสีฟัน แต่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าสาร SLS นั้นไม่ใช่สารก่อมะเร็งแต่ประการใด

และที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าการจะนำสารเคมีประเภทนี้มาใช้ในเครื่องสำอาง โดยเฉพาะที่ใช้ในช่องปาก และมีโอกาสกลืนกินมันเข้าไปโดยไม่ตั้งใจนั้น มีปริมาณที่กำหนดและควบคุมโดยสากลอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่อันตรายต่อสุขภาพ ในอาหารบางอย่างก็มีสารนี้อยู่เหมือนกัน สารนี้ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจึงเป็นเกรดที่ใช้ในวงการอาหาร หรือเกรดที่ใช้ในวงการเภสัชกรรม

ปกติแล้วสาร SLS ในยาสีฟัน จะมีปริมาณอยู่ที่ 0.5-2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะเป็นอันตราย ที่ต้องมีสารดังกล่าวอยู่มากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และในการแปรงฟันโดยไม่ใช้น้ำนั้น สารนี้ก็ถูกเจือจางด้วยน้ำลายของเราอยู่แล้ว น้ำลายจะรวมกับสารนี้เวลาที่เราถ่มฟองยาสีฟันออกมา ดังนั้น ฟองจะตกค้างอยู่ในปากน้อยมากๆ ที่พอจะมีเหลือก็คือรสชาติยาสีฟันต่างหาก จึงไม่เป็นอันตรายอะไรที่จะกลืนกินมันลงไปนิดๆ หน่อยๆ

ฉะนั้น ไม่ต้องกังวลไปว่าการกินยาสีฟันเพียงเล็กน้อย (มากๆ) จะทำให้ป่วยหรือตาย รักษาสุขภาพฟันดีกว่า เพราะเรายังต้องใช้มันสำหรับเคี้ยวอาหารไปตลอดชีวิต เหนือสิ่งอื่นใด ต้องแปรงฟันให้ถูกวิธี และอย่าลืมแปรงลิ้นด้วย เพื่อช่องปากที่ดีจะได้อยู่กับเราไปนานๆ

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : วิธี “แปรงฟัน” ที่ถูกต้อง เพราะคุณอาจทำผิดมาตลอดชีวิต