ปิดเมนู
หน้าแรก

วิธีสังเกต “เนื้อวัว” แท้ ลดเสี่ยงเจอเนื้อวัวปลอม-หมูหมักเลือดวัว

เปิดอ่าน 74 views

วิธีสังเกต “เนื้อวัว” แท้ ลดเสี่ยงเจอเนื้อวัวปลอม-หมูหมักเลือดวัว

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อวัวต้องสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ รวมทั้งเตือนผู้ปลอมแปลงอาหารผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

พบเนื้อวัวปลอม จากการใช้เนื้อหมูหมักเลือดวัว

แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการที่มีผู้ประกอบการบางรายนำเนื้อหมูหมักเลือดวัวมาปลอมเป็นเนื้อวัว เพื่อที่จะจำหน่ายให้ได้ราคาสูงขึ้น ทำให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ดังนั้น ผู้บริโภคควรสังเกตก่อนการเลือกซื้อเนื้อ

วิธีดูเนื้อวัวแท้

เนื้อวัว ควรมีลักษณะดังนี้

  1. สีแดงสด
  2. เนื้อแน่น
  3. ลายเส้นไม่หยาบ
  4. ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม
  5. ไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด 
  6. สำหรับเนื้อสัน ควรจะมีสีแดงสดและมีมัน ปรากฏอยู่เป็นจุดเล็กๆ
  7. ลักษณะของไขมันแตกง่าย ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่มีเมือก
  8. เมื่อวางเนื้อทิ้งไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา 

นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อหรือสังเกตจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือร้านที่มีใบรับรองของฮาลาล

ทั้งนี้ สำหรับบุคคลที่มีการปลอมแปลงอาหาร ถือได้ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร  พ.ศ. 2522 หมวด 4 การควบคุมอาหารตามมาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายซึ่งอาหารปลอม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

วิธีสังเกตอาหารปลอม

ตามมาตรา 27 อาหารที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นอาหารปลอม

  1. อาหารที่ได้สับเปลี่ยนใช้วัตถุอื่นแทนบางส่วน หรือคัดแยกวัตถุที่มีคุณค่าออกเสียทั้งหมดหรือบางส่วน และจําหน่ายเป็นอาหารแทนอย่างนั้น หรือใช้ชื่ออาหารแทนนั้น
  2. วัตถุหรืออาหารที่ผลิตขึ้นเทียมอาหารอย่างหนึ่งอย่างใดและจําหน่ายเป็นอาหารแท้อย่างนั้น
  3. อาหารที่ได้ผสมหรือปรุงแต่งด้วยวิธีใดๆ โดยประสงค์จะปกปิดซ่อนเร้นความชํารุดบกพร่องหรือความด้อยคุณภาพของอาหาร 

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยเพิ่มแล้วก็ตาม แต่ผู้บริโภคและผู้จำหน่ายต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด อาทิ ควรสวมถุงมือหรือใช้ที่คีบเนื้อสัตว์ ไม่สัมผัสเนื้อสัตว์โดยตรง และเมื่อนำเนื้อสัตว์มาปรุงเป็นอาหารควรทำให้สุกร้อนอย่างทั่วถึง รวมทั้งหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนและหลังกลับจากตลาด ที่สำคัญต้องสวมหน้ากากทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน และเว้นระยะห่างเพื่อลดความแออัดอยู่เสมอ 

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : วิธีสังเกต “เนื้อวัว” แท้ ลดเสี่ยงเจอเนื้อวัวปลอม-หมูหมักเลือดวัว