ปิดเมนู
หน้าแรก

วิธีป้องกัน “ไข้มาลาเรีย-ไข้จับสั่น” ที่ถูกต้อง

เปิดอ่าน 546 views

วิธีป้องกัน “ไข้มาลาเรีย-ไข้จับสั่น” ที่ถูกต้อง

วิธีป้องกัน “ไข้มาลาเรีย-ไข้จับสั่น” ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับ มาลาเรีย

 

เป็นเรื่องที่โชคดีสำหรับคนเมือง ที่อาจจะไม่ค่อยคุ้นหู หรือไม่ค่อยได้มีความเสี่ยงกับไข้มาลาเรีย หรือไข้จับสั่นนี้สักเท่าไร แต่หากลองได้มีคนในเมืองคนไหนไปเดินป่าเดินเขา หรือใช้ชีวิตอยู่ในแหล่งธรรมชาติสักระยะ ความเสี่ยงต่อโรคนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะไข้มาลาเรีย มีอีกชื่อหนึ่งตามภาษาชาวบ้านที่เรียกกันว่า “ไข้ป่า”

 

ไข้มาเรีย มีสาเหตุมาจากอะไร?

ไข้มาลาเรีย หรือโรคมาลาเรีย มีอีกหลายชื่อ คือ ไข้ป่า ไข้จับสั่น ไข้ป้าง ไข้ร้อนเย็น หรือไข้ดอกสัก เกิดจากเชื้อโปรโตซัวตระกูลพลาสโมเดียม ที่พบได้ในภูมิประเทศ หรือแหล่งที่มีอากาศร้อนชื้น ทั้งในแถบแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค

แหล่งระบาดของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทย พบอยู่บริเวณชายแดนของประเทศ และตามป่าเขาที่มีอากาศร้อนชื้น รวมถึงตามเกาะแก่งต่างๆ

 

ยุงก้นปล่อง พาหะนำโรคมาลาเรีย

ยุงก้นปล่องเพศเมีย เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย ที่เรียกว่ายุงก้นปล่องเพราะเวลามันกัดคน จะยกก้นขึ้นทำมุม 45 องศากับผิวหนังของเรา ตามปกติแล้วยุงก้นปล่องจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความใสสะอาด และไหลเอื่อยๆ ช้าๆ หรือค่อนข้างนิ่ง รวมไปถึงแหล่งน้ำขังใต้ร่มไม้ในป่า น้ำขังในรอยเท้าสัตว์บนพื้นดิน

ยุงก้นปล่องโดยปกติจะออกหากินตอนกลางคืน แต่ถ้าป่าทึบมากๆ อาจจะออกหากินตอนกลางวันด้วย นอกจากนี้จะอาจพบยุงก้นปล่องตามชายทะเล โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก และตะวันตกของไทยได้อีกด้วย

 

 

อาการของโรคมาลาเรีย

เมื่อเราถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ผู้ที่ถูกกัดจะเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัด กล่าวคือ เริ่มมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อ บางรายอาจมีคลื่นไส้ เบื่ออาหาร หลังจากนั้นจะเริ่มมีไข้สูงลอยตลอดเวลา มีอาการหนาวสั่น บางรายอาจมีผิวซีดลงตัวเหลือง ตาเหลือง ตับ และม้ามโต ถ้าตรวจพบว่าเม็ดเลือดแดงในร่างกายแตกมากๆ อาจพบอาการปัสสาวะดำได้อีกด้วย นอกจากนี้หากมีอาการช็อกจากไข้ที่ขึ้นสูง ก็อาจเสี่ยงเสียชีวิตได้

 

วิธีป้องกันโรคมาเลเรีย

เนื่องจากยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะของโรคนี้ ไม่ได้เป็นยุงที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้นการกำจัดยุงในวิธีเดียวกันกับการกำจัดยุงลายตามบ้าน เช่น คว่ำจานรองกระถางต้นไม้ ชาม กะละมัง และภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขังนอกบ้าน ปิดฝาโอ่ง เปลี่ยนน้ำในแจกัน ฯลฯ  จึงไม่ได้ผลต่อการกำจัดยุงก้นปล่อง เรียกง่ายๆ ว่าอาจเป็นไปได้ยากที่จะกำจัดยุงก้นปล่อง

ดังนั้น วิธีที่ถูกต้องในการป้องกันโรคไข้มาลาเรีย คือ การสวมเสื้อปกปิดร่างกายให้มิดชิด และเลือกเสื้อผ้าสีอ่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการโดนยุงกัด และทายากันยุง รวมถึงนอนในมุ้งเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่ยุงชุม หากต้องเข้าไปในป่าดิบชื้น ควรระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด หรือพบแพทย์เพื่อพิจารณารับยาป้องกันมาลาเรีย และเมื่อมีไข้ต่ำๆ หลังจากกลับมาจากการไปเยี่ยมเยือนพื้นที่เสี่ยงมาลาเรีย ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : วิธีป้องกัน “ไข้มาลาเรีย-ไข้จับสั่น” ที่ถูกต้อง