ปิดเมนู
หน้าแรก

วิจัยชี้ เสียง “นาฬิกาปลุก” อาจทำให้ง่วง-เพลียไปตลอดทั้งวันได้

เปิดอ่าน 39 views

วิจัยชี้ เสียง “นาฬิกาปลุก” อาจทำให้ง่วง-เพลียไปตลอดทั้งวันได้

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

หลายคนมีปัญหากับการตื่นนอน เป็นพวกที่ปลุกยากปลุกเย็นปลุกยังไงก็ไม่ตื่น ทำให้ตื่นไปเรียนไปทำงานสายอยู่เรื่อย มักจะแก้ปัญหาด้วยการใช้เสียงนาฬิกาปลุกดังลั่นชนิดได้ยินไปสามบ้านแปดบ้าน หรือไม่ก็เสียงฮาร์ดคอร์กระแทกทะลวงไปถึงหูชั้นใน ถึงจะทำให้สะดุ้งตื่นด้วยความตกใจสุดขีดได้ แต่รู้ไหมว่าถึงจะช่วยให้ตื่นไปเรียนไปทำงานไม่สาย แต่มันไม่ได้เป็นผลดีกับคุณภาพการนอนและสุขภาพของคุณเลย

ที่จริงการที่เราจะเข้าใจว่าเสียงนาฬิกาปลุกที่รุนแรงนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะปลุกให้คนตื่น เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลดี แต่มีผลการวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า เสียงนาฬิกาปลุกสุดฮาร์ดคอร์กระชากวิญญาณนั่นแหละที่อาจทำให้คุณพังไปทั้งวัน มีอาการงัวเงีย ง่วงซึมหลังตื่นนอน แล้วก็พร้อมที่จะหลับได้ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน เสียงนาฬิกาปลุกที่ไพเราะอาจได้ผลดีที่สุดที่จะลดอาการงัวเงียที่ว่าได้

เสียงนาฬิกาปลุกสุดโหด กระชากวิญญาณจากห้วงการนอนหลับ

งานวิจัยที่ชื่อว่า “Alarm tones, music and their elements: Analysis of reported waking sounds to counteract sleep inertia” ผลงานวิจัยของนักวิจัย RMIT University ประเทศออสเตรเลีย พบว่าการตั้งนาฬิกาปลุกด้วยเสียงดังๆ หรือเสียงรุนแรงที่ทำให้ตกใจตื่นอย่างกะทันหันนั้นไม่ดีต่อสุขภาพเอาเสียเลย ส่งผลให้เราเกิดอาการมึนงง งัวเงียหลังตื่นนอน และอาจส่งผลให้ง่วงเหงาหาวนอนไปทั้งวัน มากกว่าเสียงนาฬิกาปลุกที่ปลุกแบบนุ่มนวล ค่อยๆ ปลุกให้เราตื่น งานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร PLOS ONE

อาการงัวเงีย อ่อนเพลีย รู้สึกว่าตื่นไม่เต็มตา นอนไม่เต็มอิ่ม ลืมตาไม่ขึ้น ที่เกิดขึ้นหลังตื่นนอน เรียกว่า Sleep Inertia หรือ SI ปกติแล้วคนเราอาจมีอาการแบบนี้อยู่ได้ราวๆ 4 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน แต่ถ้ารู้สึกนานกว่านั้นหรือง่วงงัวเงียทั้งวัน ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และอันตรายต่อผู้ที่ประกอบอาชีพบางอาชีพ เช่น นักดับเพลิง นักบิน คนขับรถ ทหาร เพราะอาการที่ว่าทำให้คนเหล่านี้ไม่ตื่นตัว ไม่พร้อมทำงาน และอาจทำงานพลาดจนอันตรายถึงชีวิต

งานวิจัยเรื่องเสียงของนาฬิกาปลุก

ทำให้นักวิจัยจาก Australia’s RMIT University ได้ทำการวิจัยชิ้นนี้ขึ้น โดยรวบรวมอาสาสมัคร 50 คนทั้งเพศชายและเพศหญิง มากรอกแบบสำรวจออนไลน์ จากนั้นทำการศึกษา และติดตามผลต่อเนื่องนาน 1 ปี ด้วยการให้กลุ่มตัวอย่างบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเสียงตั้งปลุกที่ใช้ และบันทึกความตื่นตัวหรือความเฉื่อยหลังจากตื่นนอน 4 ชั่วโมง เพื่อดูภาวะ SI ซึ่งทุกคนมีเวลาการนอนที่เป็นมาตรฐาน

ผลวิจัยพบว่าเสียงเพลงที่ปลุกแบบนุ่มนวลนั้น มีผลต่อการเกิดภาวะ SI อย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นคือ อาสาสมัครที่เลือกใช้เสียงนาฬิกาปลุกแบบรุนแรง จะเกิดภาวะ SI ได้มากกว่า กลับกันอาสาสมัครที่เลือกใช้เสียงนาฬิกาปลุกแบบหวาน ๆ เบาๆ กลับงัวเงียน้อยกว่า งานวิจัยนี้จึงได้ผลว่า อาการงัวเงียนั้นมีความสัมพันธ์แปรตามเสียงนาฬิกาปลุกที่เลือกใช้ ยิ่งปลุกโหดก็ยิ่งงัวเงีย

ในงานวิจัย Stuart McFarlane พูดถึงผลการวิจัยว่าอาการงัวเงียในตอนเช้าถือเป็นปัญหา เนื่องจากเสียงนาฬิกาปลุกโหดๆ ที่ดังกระแทกโสตประสาท ที่คุณคิดว่าช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวนั้น เป็นวิธีการตื่นที่ไม่ถูกต้อง ประสิทธิภาพในการทำงานอาจลดลงเป็นเวลานานถึง 4 ชั่วโมงและระหว่างนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ขึ้นได้ โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นนักดับเพลิง นักบิน หรือคนขับรถ

เพราะการปลุกสมองด้วยวิธีการรุนแรงแบบนั้น ทำให้สมองตื่นอย่างกะทันหัน ไม่ทันได้ปรับตัว ส่งผลให้สมองสับสน งุนงง และไม่พร้อมจะทำงาน สิ่งที่ตามมาก็คือเราจะรู้สึกง่วงงัวเงียเหมือนตื่นไม่เต็มตา หรือหรือรู้สึกว่าพักผ่อนไม่พอ อย่างน้อยหลังจากตื่นนอนถึง 4 ชั่วโมง และอาจทำให้มีอาการง่วงเหงาหาวนอนระหว่างวัน ซึ่งเป็นอันตรายกับอาชีพที่จำเป็นต้องตื่นตัวตลอดเวลา เพราะทำงานที่เสี่ยงอันตราย ความงัวเงียทำให้สติไม่พร้อมจะทำงาน

นอกจากนี้รองศาสตราจารย์ Adrian Dyer ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ยังอธิบายเพิ่มเติม ว่าเสียงตั้งปลุกแบบรุนแรง เช่น เสียงหวอ หรือเสียงสัญญาณเตือนภัย จะรบกวนสมองให้ตื่นกะทันหัน ในขณะเดียวกันเสียงปลุกแบบนุ่มนวล เช่น เพลง Good Vibrations ของ The Beach Boys หรือเพลง Close to Me ของ The Cure นั้น จะค่อย ๆ ปลุกให้สมองเราให้ตื่นขึ้นมาอย่างนุ่มนวล และตื่นอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

มีผลเสียอะไรอีก

เพราะเสียงนาฬิกาปลุกที่ปลุกแบบรุนแรง ให้เรารู้สึกตกใจตื่นทันทีหรือรำคาญจนต้องตื่นนั้น จะรบกวนการทำงานของสมองตั้งแต่เช้า เหมือนกับการปลุกสมองที่กำลังพักผ่อนอยู่ให้ตื่นแบบไม่ทันตั้งตัว จึงส่งผลให้สมองเราสับสนมึนงงตั้งแต่ตื่นนอน แล้วความสับสนมึนงงนี่เองที่ส่งผลให้เราไม่สดชื่น อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด อ่อนเพลีย ไม่มีแรงทำงาน คุณภาพในการนอนแย่ลง และไม่ดีต่อสมองในระยะยาว นอกเหนือจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน

แต่เสียงนาฬิกาปลุกที่นุ่มนวล ฟังสบาย กลับช่วยให้เราตื่นนอนอย่างสดใส รู้สึกว่าได้พักผ่อนเต็มที่ และตื่นแบบมีคุณภาพมากกว่า เพราะมันจะทำให้สมองเราค่อยๆ รู้สึกตัวช้าๆ แล้วตื่นมาแบบช้าๆ สมองจึงมีเวลาที่จะปรับตัว

เพราะฉะนั้น แม้ว่าเสียงนาฬิกาปลุกโหดๆ จะทำให้เราตื่นขึ้นได้ทันที ลดโอกาสที่จะทำให้เราไม่ตื่นหรือตื่นสาย แล้วไม่ไปเรียนหรือไปทำงานไม่ทันได้ แต่ประสิทธิภาพในการทำงานของสมองจะลดลง เพราะเรายังรู้สึกงัวเงียอยู่ แต่เสียงนาฬิกาปลุกที่ซอฟต์กว่า จะทำให้สมองตื่นแบบค่อยเป็นค่อยไป แล้วตัวเราค่อยตื่นตาม เราจึงงัวเงียน้อยกว่า ตื่นเต็มตากว่า และสดชื่นมากกว่า

แต่ปัญหาสำคัญของการใช้เสียงเพลงไพเราะ เบาๆ หวานๆ ก็อาจเกิดขึ้นกับคนที่เป็นคนตื่นยาก เพราะเสียงเหล่านี้อาจกล่อมทำให้รู้สึกหลับสบาย หรือไม่ก็รู้สึกเหมือนเป็นเสียงที่ดังอยู่ในความฝันมากกว่า ดังนั้น อาจต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อช่วยให้คนกลุ่มนี้ตื่นนอนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องใช้เสียงนาฬิกาปลุกที่รุนแรงเพื่อปลุกให้ตัวเองตื่น

รู้แบบนี้แล้ว ใครที่รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียอยู่ตลอดทั้งวัน ลองกลับมาดูว่าคุณตั้งเสียงนาฬิกาปลุกแบบฮาร์ดคอร์อยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ลองเปลี่ยนมาตั้งเสียงปลุกเป็นหวานๆ น่ารักฟังสบายแทนเสียงปลุกแบบโหดๆ ดูนะ แล้วดูว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : วิจัยชี้ เสียง “นาฬิกาปลุก” อาจทำให้ง่วง-เพลียไปตลอดทั้งวันได้