ปิดเมนู
หน้าแรก

รู้จัก Zeigarnik Effect และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการทำงาน

เปิดอ่าน 22 views

รู้จัก Zeigarnik Effect และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการทำงาน

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

เวลาที่ทำกิจกรรมบางอย่างหรือทำงานอยู่เพลิน ๆ แล้วมีอะไรมาขัดจังหวะจนทำให้เราไม่สามารถทำงานนั้นต่อได้จนเสร็จจบหน้าที่ความรับผิดชอบ เคยมีความรู้สึกหงุดหงิด ว้าวุ่น ค้างคาเกิดขึ้นในใจบ้างหรือไม่? แบบว่า “อีกแค่นิดเดียวเอง!” หรือ “ขอแค่ให้เสร็จตรงนี้ก่อนก็ไม่ได้!” แล้วในหัวก็จะคิดวนเวียนถึงแต่งานที่ยังทำไม่เสร็จนี้ตลอดเวลา โดยที่ความรู้สึกกังวลเรื่องงานที่ยังทำไม่เสร็จนี้จะหายไป และเราเองรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจขึ้น ก็ต่อเมื่อได้ทำงานชิ้นนั้นต่อจนเสร็จ!

ปรากฏการณ์ที่เรามักยึดติดอยู่กับสิ่งที่เริ่มต้นไว้แต่ยังทำต่อไม่สำเร็จ โดยที่สิ่งนั้นมักจะวนเวียนกลับมากวนใจเราได้เสมอ ทำให้เราสัมผัสได้ถึง “ความคาราคาซัง” ที่ไม่จบไม่สิ้น และดูเหมือนว่าเราจะจดจำมันได้ดีกว่าสิ่งที่ทำสำเร็จด้วยซ้ำไป มีชื่อเรียกว่า Zeigarnik Effect (เซย์การ์นิค เอฟเฟกต์) เป็นภาวะที่เรารู้สึกค้างคาใจเมื่อทำอะไรบางอย่างยังไม่เสร็จ โดยความรู้สึกนี้จะติดค้างรบกวนอยู่ในใจเราไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะได้จัดการมันต่อให้เสร็จสิ้น

เพราะเราจะมีความไม่สบายใจไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้กลับไปทำงานชิ้นนั้นให้เสร็จ จึงมีคนที่พยายามจะใช้ประโยชน์จากจิตวิทยานี้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยอาศัยแรงกระตุ้นจากความรู้สึกค้างคาใจว่าต้องกลับไปสิ่งนั้นต่อให้จบถึงจะสบายใจได้ และอาจต้องมีการสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติม เพื่อทำให้เกิดความตึงเครียดทางจิตใจ และเกิดเป็นความรู้สึกกดดันที่จำเป็นต้องทำงานนี้ต่อให้เสร็จ

ที่มาของ Zeigarnik Effect

จิตวิทยานี้ตั้งชื่อตาม บลูมา เซย์การ์นิค (Bluma Zeigarnik) นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ชาวลิทัวเนีย-โซเวียต ผู้ที่เริ่มสงสัยว่าปรากฏการณ์นี้มันคืออะไร โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเธอออกไปทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งกับเพื่อนร่วมงาน เธอสังเกตเห็นความสามารถที่น่าประทับใจของพนักงานเสิร์ฟในร้าน ที่สามารถจดจำคำสั่งอาหารและเครื่องดื่มของลูกค้าหลาย ๆ โต๊ะ โดยไม่มีการจดลงในสมุดหรือกระดาษเลยด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่เธอทานอาหารเสร็จ จ่ายเงิน และออกจากร้านไปแล้ว เธอก็นึกได้ว่าเธอลืมกระเป๋าเงินของเธอไว้ เธอจึงเดินกลับเข้าไปในร้าน

เมื่อเธอเจอกับพนักงานเสิร์ฟคนนั้น เธอจึงขอความช่วยเหลือเรื่องที่เธอลืมกระเป๋าเงินไว้ แต่…เขากลับจำเธอไม่ได้ และบอกไม่ได้ด้วยว่าเธอเมื่อสักครู่เธอนั่งที่ตรงไหน เพราะมันค่อนข้างแปลกที่เขาลืมเธออย่างรวดเร็วทั้งที่เธอเพิ่งเดินออกจากร้านไป เธอจึงถามเขาว่าทำไมเขาจึงลืมเธออย่างรวดเร็ว ก่อนตอบคำถาม พนักงานเสิร์ฟคนดังกล่าวขอโทษเธอเรื่องที่จำเธอไม่ได้ โดยอธิบายว่าตัวเขาจะลืมคำสั่งอาหารของลูกค้าทันทีที่ลูกค้าได้รับอาหารแล้วและชำระเงินออกไป เนื่องจากเขาจะมุ่งความสนใจอย่างจดจ่อไปที่คำสั่งอาหารของลูกค้าที่ยังต้องรับมือเท่านั้น!

จากคำตอบของข้อสังเกตนั้น เธอจึงพยายามที่จะศึกษาต่อถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น การที่พนักงานเสิร์ฟสามารถจดจำรายการอาหารของโต๊ะที่ยังไม่ได้ชำระเงินได้ดีกว่าโต๊ะที่ชำระเงินไปแล้ว เธอตั้งสมมติฐานไว้ว่ามนุษย์จะค้างคาใจและจำงานที่ตัวเองยังทำไม่เสร็จสมบูรณ์จนกว่าจะทำมันเสร็จ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยจึงค่อยลืมไปได้อย่างสบายใจ เธอได้ทำการทดลองเพื่อหาคำตอบที่แน่ชัดเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้อีกครั้ง กระทั่งได้ข้อสรุปว่า “เมื่อมนุษย์ทำสิ่งใดยังไม่สำเร็จ มันจะเกิดความรู้สึกค้างคาใจ แล้วมนุษย์ก็จะเก็บสิ่งนั้นไว้ในใจอยู่ตลอดเวลา”

ดังนั้น Zeigarnik Effect จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกับกิจกรรมที่มนุษย์ยังทำไม่เสร็จ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ถูกขัดจังหวะให้ทำได้ไม่เสร็จ มีแนวโน้มว่าคนเราจะจำรายละเอียดของสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จนั้นได้เป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับคนที่ทำกิจกรรมนั้น ๆ เสร็จสมบูรณ์แล้ว และที่สำคัญ กิจกรรมที่ถูกขัดจังหวะในช่วงกลาง ๆ หรือท้าย ๆ มักจะกวนใจได้มากกว่ากิจกรรมที่ถูกขัดจังหวะในช่วงเริ่มต้น นั่นหมายความว่ายิ่งกิจกรรมใกล้จะสำเร็จมากเท่าไรแต่ถ้ามีอะไรมาขัดจังหวะจนทำให้มันไม่เสร็จ ก็ยิ่งสร้างความรู้สึกค้างคาใจได้มากขึ้นเท่านั้น

ซึ่งถ้าหากว่าเราจัดการปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็นกระบวนการ มีระบบแบบแผน นำเอาความรู้สึกค้างคาใจที่เกิดขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งเป้าการทำงาน แสวงหาแรงจูงใจอีกเล็กน้อยเพื่อให้เรามีความพยายามจะทำงานชิ้นนั้น ๆ ให้สำเร็จ เช่น ให้รางวัลตัวเอง มันจะเกิดเป็นความตึงเครียดที่จะพยายามทำงานที่ยังไม่เสร็จนั้นให้มันเสร็จสิ้นเสียที ซึ่งถ้ายังไม่เสร็จอีกมันก็จะเกิดความรู้สึกไม่สบายใจและวิตกกังวลไปเรื่อย ๆ เช่นนี้จนกว่าจะทำมันเสร็จ หากงานนั้นเสร็จแล้ว ความวิตกกังวลนี้ก็จะหายไป เหลือแต่ความโล่งใจ สบายใจ

จะประยุกต์ใช้ Zeigarnik Effect ในการทำงานอย่างไร
ในเมื่อคนเรามักจะจดจำงานที่ตัวเองยังทำไม่เสร็จแบบที่รู้ว่ามันค้างคา จนกระตุ้นให้เกิดความตึงเครียดทางจิตใจ เมื่อรู้สึกกังวล กระวนกระวายที่งานยังไม่เสร็จ จะเกิดเป็น “ความจำเป็น” ที่ต้องรีบทำให้งานนั้นให้เสร็จ เพื่อหลุดพ้นจากความรู้สึกค้างคานี้ไปเสีย ก็จะตั้งหน้าตั้งตาทำให้มันเสร็จไป เพราะเมื่องานเสร็จสิ้น ความตึงเครียดทางจิตก็คลายลง และสามารถลบงานชิ้นนั้นออกจากความทรงจำได้เสียที การประยุกต์ใช้ประโยชน์จึงต้องสร้างสถานการณ์การทำงานของตนเองให้มีลักษณะที่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ยังทำไม่เสร็จ เพื่อกระตุ้นความรู้สึกอยากรีบทำให้เสร็จเสียที

1. แค่เริ่มต้นไว้ เริ่มจากตรงไหนก็ได้

เมื่อได้งานมาแรก ๆ ปกติแล้วคนเราจะเริ่มต้นด้วยการผัดวันประกันพรุ่งก่อนที่จะไปรีบไฟลนเอาในตอนเกือบหมดเวลา สำหรับการใช้ Zeigarnik Effect ขอแค่สละเวลาสัก 20-30 นาที ไปเริ่มต้นงานชิ้นนี้ไว้ก่อน โดยจะเริ่มที่ส่วนไหนก็ได้ ส่วนที่ยากที่สุดหรือส่วนที่ง่ายที่สุดก็ได้ เมื่อได้เริ่มเปิดงานชิ้นนี้ไว้แล้ว แบบที่ยังไม่ต้องทำให้เสร็จ ให้หยุดทำเมื่อเริ่มติดลมบน และรู้สึกว่ากำลังไปได้สวย งานชิ้นนั้นก็จะวนเวียนสร้างความค้างคาใจอยู่ในจิตใจของเราไปเรื่อย ๆ มันจะค่อย ๆ กระตุ้นให้เราลงมือทำต่อทีละน้อย ๆ จนกว่าจะเสร็จ เพราะแรงจูงใจในการทำงานที่ยังไม่เสร็จนั้นจะสูงขึ้นไปอีกเมื่อมันเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เสร็จ สิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น Hemingway Effect

2. กำหนดเวลาหยุดพักเพื่อขัดจังหวะการทำงาน

การใช้ประโยชน์จาก Zeigarnik Effect จุดเด่นคือการสร้างสถานการณ์ให้เราต้องหยุดพักจากการทำงานกะทันหัน เพราะการที่เราต้องวางมือจากงานทั้งที่ยังทำไม่เสร็จ จะสร้างความรู้สึกว้าวุ่นกังวลใจเกี่ยวกับงานชิ้นนั้นไปจนกว่าเราจะปลดพันธะจากงานชิ้นนั้นจนเป็นอิสระ หรือก็คือจนกว่างานจะเสร็จ ดังนั้น จึงควรกำหนดเวลาหยุดพักออกเป็นช่วง ๆ เมื่อเริ่มทำงานมาได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง พักไปทำสิ่งที่ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิงแล้วค่อยกลับมาทำต่อ สำหรับหลาย ๆ คน วิธีนี้จะช่วยให้โฟกัสกับการทำงานนั้นได้ดีกว่าการที่ดันทุรังยัดเยียดจะทำมันให้เสร็จในคราวเดียว เมื่อจิตใจเริ่มกระวนกระวายถึงงานที่ยังทำไม่เสร็จ ก็ค่อยกลับมาทำต่อด้วยความรู้สึกสดชื่นและมีสมาธิมากขึ้น

3. ตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง

Zeigarnik Effect ยังสามารถช่วยให้คุณเข้าใจลักษณะการทำงานของตัวเอง รวมถึงการทำงานภายใต้ข้อจำกัดบางอย่าง หากคุณเป็นคนที่มักจะงานล้นมืออยู่เสมอ การที่คุณกำหนดเวลาหยุดพักโดยใช้ประโยชน์จาก Zeigarnik Effect คุณจะรู้สึกว่างานที่เข้ามาใหม่นั่นแหละที่กำลังขัดขวางงานที่คุณกำลังทำอยู่เดิม มันก็จะทำให้คุณรู้ขีดจำกัดของตัวเองว่าคุณรับปริมาณงานได้มากที่สุดแค่ไหนหากใช้วิธีนี้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของตนเอง และลดความหงุดหงิดในใจจากความรู้สึกที่นู่นก็ไม่เสร็จ นี่ก็ยังไม่ถึงไหน แต่ทุกครั้งที่คุณทำงานให้สำเร็จได้ คุณก็จะรู้สึกได้ถึงความสำเร็จและความพึงพอใจ ให้ใช้มันเป็นแรงผลักดันเชิงบวกเพื่อเริ่มต้นงานในครั้งต่อไป

4. จบ 1 วันด้วยการทำ To do list

หากคุณรู้สึกกังวลมากเกินไปกับการที่ยังทำงานชิ้นนั้นไม่เสร็จ จนส่งผลให้คุณหลับไม่สนิทล่ะก็ ลองวางแผนให้ชัดเจนว่าในวันรุ่งขึ้นคุณมีอะไรที่ต้องทำบ้าง (ซึ่งก็จะมีงานชิ้นนี้อยู่ในแผนนั้น) การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2011 โดย E.J. Masicampo และ Roy Baumeister จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา แสดงให้เห็นว่าการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะทำอะไรบางอย่าง เป็นการปลดปล่อยเราจากภาระด้านความรู้สึกจากงานที่ยังไม่เสร็จ เป็นการจัดระเบียบความคิดเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายข้างหน้า ทันทีที่แผนสร้างขึ้นมา จิตใต้สำนึกจะหยุดรบกวนจิตสำนึก และปล่อยให้เราผ่อนคลายจนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องทำงานต่อตามแผนที่กำหนดไว้

มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะสละเวลาไม่กี่นาทีก่อนเข้านอนเพื่อทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำได้สำเร็จในวันนั้น ๆ แล้ววางแผนถึงสิ่งที่จะทำในวันรุ่งขึ้นว่ามีอะไรที่ต้องทำอะไรต่ออีกบ้าง การทำ To do list จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการมอบหมายงานให้กับตัวเอง เพื่อให้รู้ว่ามีงานอะไรที่ยังค้างคาอยู่แล้วต้องรีบเคลียร์ให้เสร็จ เพื่อที่จะได้ปลดภาระจากการความว้าวุ่นกังวลใจที่งานยังไม่เสร็จ

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : รู้จัก Zeigarnik Effect และการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการทำงาน