ปิดเมนู
หน้าแรก

รู้จัก “ไวรัสตับอักเสบซี” ภัยอันตราย ติดต่อทางเลือด-เพศสัมพันธ์

เปิดอ่าน 12 views

รู้จัก “ไวรัสตับอักเสบซี” ภัยอันตราย ติดต่อทางเลือด-เพศสัมพันธ์

หลายคนอาจรู้จักแต่ไวรัสตับอักเสบบี แต่จริงๆ แล้วมีไวรัสตับอักเสบซี ที่ไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนไวรัสตับอักเสบบี และติดต่อได้ผ่านทางเลือดและการมีเพศสัมพันธ์

โรคไวรัสตับอักเสบซี คืออะไร?

ไวรัสตับอักเสบซี เป็นหนึ่งในเพชรฆาตคร่าชีวิตอันดับต้นๆ ของโลก โดยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่มากกว่า 150 ล้านคน มีอัตราการติดเชื้อในประเทศไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 1% ของประชากร แต่ในบางจังหวัดของประเทศอาจมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่านี้มาก

โรคไวรัสตับอักเสบซี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี สามารถติดต่อกันทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเมื่อเข้าไปในร่างกายจะแบ่งตัวและอาศัยอยู่ในตับ ระยะแรกทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ส่วนมากผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการทำให้ผู้รับเชื้อไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อ จะทราบได้ก็ต่อเมื่อไปตรวจเลือดแล้วพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ หรือบริจาคเลือดแล้วพบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

กลุ่มเสี่ยงไวรัสตับอักเสบซี

โรคไวรัสตับอักเสบซีติดต่อเข้าสู่ร่างกายทางเลือดหรือเพศสัมพันธ์เป็นหลักผ่านหลายสาเหตุ ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงได้แก่

  • ผู้ที่มีประวัติการรับเลือดก่อนปี 2534
  • มีประวัติการฉีดยาเสพติดเข้าเส้น
  • มีประวัติการสัก เจาะด้วยเครื่องมือที่ไม่สะอาด
  • มีประวัติการฉีดยากับหมอเถื่อน
  • ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ที่รักษาด้วยการล้างไต
  • มีเพศสัมพันธ์หลายคู่นอน
  • สามารถติดเชื้อร่วมกับการติดเชื้อ HIV ได้ โดยมีอัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยกลุ่มนี้สูงถึง 8-10%

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบซี

อาการที่แสดงให้เห็นได้ อาจมีดังต่อไปนี้

  • มีไข้
  • อ่อนเพลียจากการอักเสบของตับ
  • คลื่นไส้
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด

โดยทั่วไปประมาณ 70-80% ของผู้ติดเชื้อเฉียบพลันจะเข้าสู่ระยะติดเชื้อเรื้อรังเนื่องจากไม่สามารถขจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายได้  ซึ่งถ้าหากเป็นนานๆ หลายปีอาจมีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดพังผืดหรือแผลเป็นในตับ นำไปสู่ภาวะตับแข็งและมีโอกาสเกิดมะเร็งตับในที่สุด ที่สำคัญการที่จะทราบได้ว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีนั้น จะต้องใช้วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะทราบ

แนวทางการวินิจฉัย และรักษาเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

การตรวจคัดกรองเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่ายังมีการติดเชื้อในร่างกาย คือการตรวจแอนตี้-เอชซีวี (Anti-HCV) ถ้ามีผลบวกแสดงว่าเคยติดเชื้อไวรัสมาก่อน แต่ไม่สามารถแยกได้ว่ายังมีการติดเชื้อไวรัสในร่างกายหรือหายขาดแล้ว นอกจากนี้ anti-HCV ยังให้ผลบวกลวงได้ด้วย ดังนั้น เมื่อตรวจแอนตี้-เอชซีวี (Anti-HCV) ให้ผลบวกจึงต้องตรวจยืนยันว่ากำลังมีการติดเชื้อจริงโดยการตรวจปริมาณไวรัสในเลือด (HCV RNA) ด้วยวิธีพีซีอาร์ (PCR) ถ้าตรวจไม่พบปริมาณไวรัสหลังแอนตี้-เอชซีวีให้ผลบวก แนะนำให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-6 เดือน การตรวจหาปริมาณไวรัสอาจต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการ 3-14 วัน จากนั้นแพทย์จึงจะวางแผนการรักษา และการตรวจปริมาณไวรัสนี้ยังใช้ติดตามการรักษาเพื่อประเมินผลว่ารักษาหายขาดหรือไม่

ไวรัสตับอักเสบซี เจอช้ารักษายาก เจอเร็วรักษาง่าย แถมหายขาดได้

ศ.นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวาณิชย์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ในปัจจุบัน บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2564 ได้มีการอนุมัติการใช้ยาที่สามารถรักษาครอบคลุมทุกสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี คือยาสูตรผสม Sofosbuvir/Velpatavir (SOF/VEL) ซึ่งเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงในการยับยั้งไวรัสตับอักเสบซี (Direct Acting Antivirals; DAAs) และมีประสิทธิภาพในการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้หายขาดสูงถึง 95% จึงสามารถกล่าวได้ว่าโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เป็นโรคที่สามารถรักษาหายขาดได้ ปัจจุบันยาสูตรนี้อยู่ในสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่เข้าเกณฑ์การรักษาตามประกาศของบัญชียาหลักแห่งชาติ ภายใต้การดูแลรักษาของอายุรแพทย์สาขาระบบทางเดินอาหารหรืออายุรแพทย์ทั่วไปที่ปฏิบัติงานด้านโรคระบบทางเดินอาหารไม่น้อยกว่า 5 ปี

ในยุคนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็ทำให้มีนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างเครื่อง “อะลินิตี้ เอ็ม (Alinity m)” ใช้ตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันการติดเชื้อและติดตามการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สามารถออกผลการทดสอบได้ภายใน 2 ชั่วโมง ได้ผลเร็วขึ้น 3-4 เท่า จากการตรวจรูปแบบเดิม ซึ่งสามารถตรวจร่วมกับการใช้ยาและระบบติดตามการตรวจและรักษาคนไข้ที่มีคุณภาพและครบวงจร ลดปัญหาการเดินทางเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้งโดยไม่จำเป็น ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย อีกทั้งทำให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันเครื่องดังกล่าวนำไปใช้ตรวจไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี แล้วที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลรามาธิบดี

วิธีป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบซี

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมหรือเข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น สวมถุงมือถ้าต้องสัมผัสเลือด คู่สมรสที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถอยู่ร่วมกันได้ตามปกติ มารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถให้นมบุตรได้ ไม่ใช้มีดโกนหนวด แปรงสีฟันร่วมกัน
  2. ห้ามใช้อุปกรณ์ในการสักร่วมกัน
  3. ใช้ถุงยางอนามัยหากมีเพศสัมพันธ์หลายคน
  4. รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ รับประทานอาหารปรุงสุก ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ
  5. ตรวจร่างกายสม่ำเสมอเพื่อประเมินการทำงานของตับอย่างน้อยปีละครั้ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : รู้จัก “ไวรัสตับอักเสบซี” ภัยอันตราย ติดต่อทางเลือด-เพศสัมพันธ์