ปิดเมนู
หน้าแรก

รู้จัก “พยาธิตัวกลมอะนิซากิส” พบในปลาทะเล อันตรายแค่ไหน

เปิดอ่าน 84 views

รู้จัก “พยาธิตัวกลมอะนิซากิส” พบในปลาทะเล อันตรายแค่ไหน

พยาธิที่พบได้ในปลาทะเล เช่น ปลาซาบะ ถ้าเจอเป็นตัวๆ ที่ปลา เรายังสามารถกินปลานั้นได้อยู่หรือไม่

พยาธิตัวกลมอะนิซากิส คืออะไร

พญ.พัชรพร เตชะสินธุ์ธนา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า พยาธิตัวกลมอะนิซากิส เป็นพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่น และเขตร้อน 

ระยะตัวอ่อนของพยาธิที่ติดต่อสู่คนจะอยู่ในอวัยวะภายในช่องท้องของปลาทะเล มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ขนาดยาวประมาณ 1-2 ซม. กว้างประมาณ 0.3-0.5 มม. บริเวณปากจะมีหนามขนาดเล็ก บริเวณปลายหางจะมีส่วนแหลมยื่นออกมา พยาธิชนิดนี้จะใช้หนามขนาดเล็ก และใช้ปลายหางแหลมในการไชผ่านเนื้อเยื่อต่างๆ

ในประเทศไทยตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด เช่น 

  • ปลาดาบเงิน 
  • ปลาตาหวาน 
  • ปลาสีกุน 
  • ปลาทูแขก 
  • ปลากุแรกล้วย 
  • ปลาลัง 

เป็นต้น 

ส่วนในต่างประเทศจะพบในปลา เช่น 

  • ปลาคอด 
  • ปลาแซลมอน 
  • ปลาเฮอริ่ง 

อันตรายของพยาธิตัวกลมอะนิซากิส

พยาธิตัวกลมอะนิซากิส ขณะเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อสู่มนุษย์ บริเวณปากของพยาธิจะมีหนามขนาดเล็กและปลายหางแหลม ขณะเคลื่อนที่ไชในกระเพาะอาหาร และ ลำไส้ของคน ทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก และ อาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ส่งผลให้ผู้ที่มีพยาธิชนิดนี้ในกระเพาะอาหารและลำไส้ มีอาการ ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด

อาการมักไม่เฉพาะเจาะจงคล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเสีย หรือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดถ้ามีแผลในกระเพาะขนาดใหญ่ อาการมักจะเริ่มเกิดหลังรับประทานอาหารที่มีพยาธิชนิดนี้ เป็นชั่วโมง หรือ เป็นวันก็ได้

อาการปวดท้อง บางครั้งอาจจะวินิจฉัยผิดพลาดว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือไส้ติ่งอักเสบได้บางรายอาจถ่ายออกมาเป็นมูกเลือดใน 1-5 วัน ผู้ป่วยอาจจะอาเจียนออกมา เป็นตัวพยาธิหรืออาจจะส่องกล้องเข้าไปในหลอดอาหารแล้วพบตัวพยาธิ

วิธีรักษา เมื่อมีพยาธิตัวกลมอะนิซากิส อยู่ในท้อง

การวินิจฉัยและการรักษา ทําโดยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ถ้าพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ก็คีบตัวพยาธิออกมา เนื่องจากตัวอ่อนพยาธิชนิดนี้ไม่สามารถเจริญเติบโตและวางไข่ในคน จึงตรวจไม่พบไข่ในอุจจาระ

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาพยาธิชนิดนี้ แต่จากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น โดยหัวหน้าทีมวิจัย โตชิโอะ ลิยาม่า พบว่า วาซาบิ มีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิชนิดนี้ได้ แต่ขนาด และ ปริมาณการใช้ฆ่าพยาธิชนิดนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ถึงอย่างไรก็ตามการป้องกันการติดพยาธิชนิดนี้ ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ และ ดีที่สุด

กินปลาอย่างไร ไม่ให้เจอพยาธิ

  1. หลีกเลี่ยงการกินปลาดิบ จากแหล่งผลิตหรือแหล่งจำหน่ายที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการแช่แข็งเพื่อฆ่าพยาธิก่อน หรือฆ่าพยาธิได้ไม่ดีพอ ปลาดิบต้องแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 ชั่วโมง หรือ ต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 7 วัน
  2. หากเป็นปลาปกติที่กินสุก ต้องผ่านความร้อนมากกว่า 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 5 นาที ก่อนการประกอบอาหารจะทำให้พยาธิชนิดนี้ตายได้
  3. หากจะรับประทานปลาดิบ ควรดูให้แน่ใจก่อนว่าขั้นตอนการประกอบอาหารสะอาดถูกหลักอนามัย เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากปลาดิบ

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : รู้จัก “พยาธิตัวกลมอะนิซากิส” พบในปลาทะเล อันตรายแค่ไหน