ปิดเมนู
หน้าแรก

รู้จัก “คอเลสเตอรอล” ไขมันที่ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคอ้วน-หัวใจเพียงอย่างเดียว

เปิดอ่าน 87 views

รู้จัก “คอเลสเตอรอล” ไขมันที่ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคอ้วน-หัวใจเพียงอย่างเดียว

คอเลสเตอรอลที่เราพูดถึงกันโดยทั่วไป อาจคิดว่าเป็นไขมันในเลือดที่หมอทักอยู่บ่อย ๆ เวลาไปตรวจสุขภาพว่าอย่าให้เกิน 200 mg/dL จริง ๆ แล้วคอเลสเตอรอลที่ว่า คือคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี ที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โรคอ้วน หลอดเลือดหัวใจตีบ ฯลฯ แต่ยังคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีต่อร่างกายที่เราควรเพิ่มปริมาณเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย


คอเลสเตอรอล ร่างกายสร้างเองมากถึง 80% ?

คร่าวๆ คือ คอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่พบได้ในเลือด หลอดเลือด และเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เชื่อหรือไม่ว่ากว่า 80% ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นมาเอง ที่เหลืออีกเกือบ 20% มาจากอาหารการกินที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน

สาเหตุที่ตับ และลำไส้ต้องผลิตคอเลสเตอรอลขึ้นมาเอง เพราะร่างกายใช้คอเลสเตอรอลในการทำงานให้กับส่วนต่าง ๆ ทั้งช่วยสร้างวิตามินดี ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย และเพศหญิง) และช่วยสร้างน้ำดีที่ช่วยย่อย และดูดซึมไขมันในลำไส้เล็กอีกด้วย

ตัวอย่างง่าย ๆ หากเราต้องการคอเลสเตอรอลเพื่อมาใช้งานในร่างกาย เราอาจได้มาจากการกินไข่แดง 1 ฟอง (คอเลสเตอรอลราว 200 มิลลิกรัม) และจากที่ร่างกายผลิตเองอีก 800 มิลลิกรัม นั่นหมายความว่า หากเรารับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลมากเกินความจำเป็น จะทำให้มีปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด และตามร่างกายส่วนต่าง ๆ มากเกินไปนั่นเอง


ไขมันในเลือด ไม่ได้แย่เสมอไป

ไขมันในเลือด มีทั้งแบบที่ละลายในน้ำได้และละลายในน้ำไม่ได้ เพื่อการลำเลียงไขมันไปตามหลอดเลือดได้สะดวกขึ้น ไขมันจึงรวมตัวกับโปรตีน เป็น “ไลโปโปรตีน” (Lipoprotein) ซึ่งจะทำหน้าที่ขนส่งไขมันให้เคลื่อนไปในกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆในร่างกาย ไลโปโปรตีน มี 4 ชนิด โดยแบ่งตามความหนาแน่น ดังนี้”

  1. ไคโลไมครอน (Chylomicron) เป็นไขมันที่พบในเลือดหลังจากที่รับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ประกอบด้วย ไตรกลีเซอไรด์ ร้อยละ 84 ปกติจะไม่พบ ไคโลไมครอน ในเลือดหลัง จากอดอาหารเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ไคโลไมครอนถูกสร้างที่เยื่อบุลำไส้เล็ก ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ที่ได้จากอาหาร นำไปสะสมไว้ในเนื้อเยื่อไขมัน
  2. วี แอล ดี แอล (VLDL ,Very Low Density Lipoprotein) ร่างกายสร้างขึ้นจากตับและลำไส้เล็ก(เป็นส่วนน้อย) ประกอบด้วยไตรกลีเซอไรด์ ร้อยละ 51 ทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ที่ร่างกายสร้างขึ้นจากตับไปยังผนังหลอดเลือด เนื้อเยื่อไขมันและกล้ามเนื้อ
  3. แอล ดี แอล (LDL, Low Density Lipoprotein) มีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอล ในปริมาณสูงถึงร้อยละ 45 ร่างกายสร้าง LDL จากการเผาผลาญ VLDL ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอล จากตับไปยังผนังหลอดเลือด เนื้อเยื่อไขมัน และกล้ามเนื้อ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ถ้าสูงเป็นระยะเวลานาน จะเกิดการคั่งและเกาะตามหลอดเลือดทำให้เกิดการอุดตันได้ จึงจัดเป็นไขมันชนิดร้าย

  4. เอช ดี แอล (HDL, High Density Lipoprotein) ร่างกายสร้างจากตับและลำไส้ ทำหน้าที่ขนส่ง คอเลสเตอรอล จากเซลล์อื่นๆ ไปยังตับเพื่อเผาผลาญเป็นน้ำดี หรือนำไปให้ตับสร้าง LDL ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำลง จัดเป็นไขมันชนิดดี


เพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดีให้กับร่างกายได้อย่างไร ?

ในเมื่อคอเลสเตอรอลที่ดีที่จะช่วยทำให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดต่ำลง เราจึงควรเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดีให้กับร่างกายได้ ดังนี้

  1. ออกกำลังกายเป็นประจำ เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นจังหวะ เช่น แอโรบิก ปั่นจักรยาน วิ่ง รวมถึงการยกน้ำหนัก
  2. กินอาหารที่มีไขมันดีสูง เช่น ปลาทะเล น้ำมันมะกอก ฯลฯ
  3. ลดความเสี่ยงที่ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดเลวเพิ่มมากขึ้น เช่น ลดน้ำหนัก ลดอาหารที่มีไขมันเลวสูง เช่น น้ำมันหมู เบเกอรี่ เนยเทียม ฯลฯ 
  4. งดพฤติกรรมที่ทำลายไขมันดีในร่างกายให้ลดลง เช่น สูบบุหรี่
  5. พักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ

>> “ไขมันดี” คอเลสเตอรอล HDL สำคัญขนาดไหน? และเราจะเพิ่มมันได้อย่างไร?

>> 6 อาหารไขมัน (ดี) ที่คุณต้องทาน ลดเสี่ยงโรคหัวใจ-ไขมันอุดตันเส้นเลือด

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : รู้จัก “คอเลสเตอรอล” ไขมันที่ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคอ้วน-หัวใจเพียงอย่างเดียว