ปิดเมนู
หน้าแรก

รู้จักวิธี “รักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า” สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า

เปิดอ่าน 28 views

รู้จักวิธี “รักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า” สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า

วิธีรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy) หนึ่งในวิธีรักษาโรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเภท โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือต้องการการรักษาอย่างรีบด่วน ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มีอาการก้าวร้าว หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย

วิธีรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy)

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy: ECT) คือ การรักษาทางจิตเวชวิธีหนึ่ง โดยใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นสมองของผู้ป่วยทำให้เกิดอาการชัก เพื่อรักษาอาการทางจิตเวชให้ดีขึ้น

วิธีการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า สามารถรักษาโรคทางจิตเวชต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคจิตเภท และอาจเหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ แล้วไม่ดีขึ้น หรือต้องการการรักษาอย่างรีบด่วน ได้แก่ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มีอาการก้าวร้าว หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย 

ประเภทของวิธีรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า

วิธีรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า มี 2 ประเภท ได้แก่

  1. การรักษาด้วยไฟฟ้าแบบ Unmodified คือ การรักษาด้วยไฟฟ้าโดยไม่ได้ใช้ยานำสลบ
  2. การรักษาด้วยไฟฟ้าแบบ Modified คือ การรักษาด้วยไฟฟ้าโดยใช้ยานำสลบ

วิธีที่จะใช้ รวมถึงจำนวนครั้ง และปริมาณกระแสไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับการประเมินจากจิตแพทย์ผู้ให้การรักษา โดยมีตั้งแต่ 6-8 ครั้ง, 8-10 ครั้ง หรือ 10-12 ครั้ง

ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงจากการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า

  1. อาจมีอาการปวดศีรษะในช่วงหลังการรักษา แต่จะค่อยๆ หายเองได้ในภายหลัง
  2. อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน จากอาการปวดศีรษะ หรือยาระงับความรู้สึกที่ได้รับ
  3. อาจมีอาการชัก ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็ว แต่หลังชักอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  4. อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ เกิดจากฤทธิ์ของยาหย่อนกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากอาการชัก
  5. อาจมีอาการบาดเจ็บในช่องปากและฟัน เช่น ปวดกราม ฟันโยก อวัยวะในช่องปากฉีกขาด ซึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคี้ยว และเกิดแรงขบบริเวณกราม
  6. อาจเกิดภาวะหลงลืม โดยจะค่อยๆ ฟื้นตัวภายใน 2-6 สัปดาห์
  7. อาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น กระดูกสันหลังยุบตัว กระดูกเคลื่อน กล้ามเนื้อและเอ็นกระดูกบาดเจ็บ แต่พบได้น้อย

หากสนใจวิธีรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า สามารถขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ที่ให้การรักษาโรคซึมเศร้าได้

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : รู้จักวิธี “รักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า” สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า