ปิดเมนู
หน้าแรก

รอบรู้เรื่อง สารป้องกันแสงแดด แบบจัดเต็ม

เปิดอ่าน 487 views

รอบรู้เรื่อง สารป้องกันแสงแดด แบบจัดเต็ม

อย.แนะการใช้ “ครีมกันแดด” อย่างถูกวิธี ป้องกันภัยแสงแดดทำผิวแสบไหม้

อย.แนะวิธีการเลือกครีมกันแดดอย่างถูกต้อง ป้องกันภัยร้ายที่เกิดจากแสงแดด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งผิวหนัง ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดมาใช้ควรอ่านฉลาก เลือกให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการใช้ และปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ประเทศไทยอยู่ในโซนเขตร้อนมีแสงแดดจัดเกือบตลอดทั้งปีจึงยากที่จะหลบเลี่ยงแสงแดดได้ ความจริงแสงแดดมีทั้งคุณและโทษ การได้รับแสงแดดวันละ 10-15 นาที เหมาะกับการสร้างวิตามินดีที่จำเป็นต่อกระดูก แต่หากได้รับแสงแดดมากเกินไปหรือได้รับในช่วงเวลาที่แดดจัด (10.00-16.00 น.) รังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) จะไปทำให้ผิวหนังคล้ำหรือเหี่ยวย่นก่อนวัย อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ผลิตภัณฑ์กันแดดจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการป้องกันภัยร้ายที่อาจเกิดจากแสงแดด สามารถลดปริมาณรังสียูวีที่จะมาถึงผิว ซึ่งสารป้องกันแดดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสารที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสง เช่น ซิงก์ออกไซด์ ไตตาเนียมไดออกไซด์ สารกลุ่มนี้จะเคลือบบนผิวไม่ดูดซึมเข้าผิวหนัง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติดูดซับรังสียูวี เช่น แอนทรานิเลต เบนโซฟีโนน หรือซินนาเมต ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังน้อยลงแต่อาจทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองได้มากกว่าสารกลุ่มแรก

ค่า SPF (Sun Protection Factor) จะเป็นตัวบ่งบอกให้ทราบว่าเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดนั้นแล้วจะช่วยป้องกันรังสียูวีบีจากแสงแดดได้นานแค่ไหนผิวจึงจะไหม้ โดยขึ้นอยู่กับความเข้มของแสงแดด โดยทั่วไปสามารถใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 และเมื่ออยู่กลางแจ้งหรือขณะเล่นกีฬาอาจจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า SPF 30 ซึ่งผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF สูง จะมีความเข้มข้นของสารป้องกันแสงแดดที่สูงตามไปด้วย อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้มากกว่าครีมกันแดดที่มีค่า SPF ต่ำ จึงต้องระมัดระวังในการใช้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน สำหรับค่า SPF สูงกว่า 50 (ในฉลากแสดงเป็น SPF 50+) ก็ไม่ได้แตกต่างไปจาก SPF 30 มากนัก แต่ราคาจะแตกต่างกันมาก ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม ส่วนค่า PA (Protection grade of UVA) หรือ PFA (Protection factor for UV-A) นั้น เป็นการช่วยป้องกันรังสียูวีเอที่เป็นสาเหตุให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นและโรคมะเร็งผิวหนัง โดยสามารถดูค่าบนฉลากที่จะแสดงระดับเป็น PA+ หรือ PA++ หรือ PA+++ ขึ้นกับระดับความสามารถจากน้อยไปหามากในการป้องกันรังสียูวีเอ

ทั้งนี้ วิธีการป้องกันอันตรายจากแสงแดดที่ดีที่สุด ควรอยู่ในที่ร่ม สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดสวมหมวกปีกกว้าง รวมทั้งสวมแว่นกันแดดด้วย เพราะรังสียูวีนั้นนอกจากจะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังแล้วยังเป็นสาเหตุของโรคต้อกระจกได้ด้วย ดังนั้น ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดทุกครั้งควรเลือกให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้และปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด และทาก่อนออกไปกลางแจ้งอย่างน้อย 15-30 นาที ยกเว้นรอบดวงตาและริมฝีปาก กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด แต่ให้หลีกเลี่ยงแสงแดดแทน ทั้งนี้ หากใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดแล้วมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ให้หยุดใช้ทันที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หากอาการยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและให้นำผลิตภัณฑ์นั้นไปปรึกษาแพทย์ด้วย

ข้อมูล http://goo.gl/sblj24 #fdathai #oryornews

 

เรื่องของสารกันแดด

นายแพทย์สุทัศน์ ดวงดีเด่น

                             แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง

 

แสงแดดกับมนุษย์

         

แสงแดดเป็นรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่กระจากจากดวงอาทิตย์ ประกอบไปด้วยรังสีที่มีช่วงคลื่นทั้งสั้นและยาว ก่อนที่แสงแดดจะส่องมาถึงผิวโลก   รังสีที่มีช่วงคลื่นสั้น จะถูกดูดซับโดยชั้นบรรยากาศของโลก  สำหรับแสงแดดที่พบบนพื้นผิวโลกนั้นประกอบไปด้วย แสงอัลตร้าไวโอเล็ต 5 % แสงที่มองเห็นด้วยตาของเรา 40% และแสงอินฟราเรด 55% ผลของแสงแดดต่อร่างกายมนุษย์นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากแสงอัลตร้าไวโอเล็ต 

โดยแสงอัลตร้าไวโอเล็ต แบ่งออกตามช่วงความยาวคลื่น ดังนี้ 

  1. ยูวีเอ (UVA) เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 320-400 นาโนเมตร

UVA ยังแบ่งออกเป็น UVAI ความยาวคลื่น 340-400 นาโนเมตร และ UVA II ความยาวคลื่น 320-340 นาโนเมตร

  1. ยูวีบี  (UVB) เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 290-320 นาโนเมตร
  2. ยูวีซี  (UVC) เป็นแสงในช่วงความยาวคลื่น 200-290 นาโนเมตร

UVC นั้นถ้าหลุดรอดผ่านชั้นบรรยากาศของโลกเข้ามาคงไม่มีสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ เหลือรอดอยู่  โชคดีที่โลกของเรามีก๊าซโอโซนในบรรยากาศช่วยดูดซับ UVC เอาไว้

         

มนุษย์เรารู้จักประโยชน์ของแสงแดดมาช้านาน  พวกเราที่อยู่ในประเทศไทยที่มีแสงแดดเกือบทั้งปี ไม่ค่อยจะเห็นความสำคัญของแสงแดดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ  ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหลายประเทศที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรนั้น บางทีท้องฟ้าขมุกขมัว  ไม่เห็นแสงแดดอยู่ทีละหลายๆเดือน  เมื่อได้สัมผัสกับแสงแดดจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าจิตใจแจ่มใสขึ้น  เราทราบต่อมาว่าแสงแดดช่วยให้ร่างกายหลั่งสาร endorphin ออกมา  เด็กๆบางคนในประเทศเหล่านี้เมื่อไม่ถูกแสงแดดเป็นเวลานานทำให้ป่วยเป็นโรคกระดูกอ่อน  ทั้งนี้เนี่องจากวิตามินดีในอาหารไม่เพียงพอ จึงแนะนำให้ทั้งเด็กและผู้สูงอายุควรได้รับแสงแดดครั้งละ 15-30 นาที สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ในเวลาเช้าหรือบ่ายแก่ๆที่แสงแดดปานกลาง  แสงแดดยังช่วยในการรักษาโรคติดเชื้อบางชนิดเช่น วัณโรค   รวมทั้งในผู้ป่วยโรคเรื้อน แพทย์ผิวหนังส่วนมากก็ยังแนะนำผู้ป่วยว่าควรให้ร่างกายได้มีโอกาสสัมผัสกับแสงแดดบ่อยๆ   ในคนทั่วไป หากได้รับแสงแดดครั้งละเล็กครั้งละน้อยเป็นประจำ  ร่างกายก็จะสร้างเมลานิน เป็นกลไกป้องกันร่างกายของเราตามธรรมชาติไม่ให้เกิดผิวเกรียมแดด(sunburn) รวมถึงป้องกันมะเร็งผิวหนังไปในตัว

 

โทษของแสงแดด

         

สมัยที่ผมเป็นเด็ก  ได้มีโอกาสไปเที่ยวทะเลและออกไปกลางทะเลครั้งแรกนั้น ผมชอบบรรยากาศที่ได้ไปยืนอยู่หัวเรือรับสายลมและแสงแดดแบบเต็มๆ ผลก็คือกลับมาทั้งหน้าทั้งแผ่นหลังแดง ปวดแสบปวดร้อน แล้วก็ลอก ทนทุกช์ทรมานอยู่นานกว่าจะหาย  ตัวก็ดำอยู่เป็นเดือน นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นโทษของแสงแดดที่ได้รับมากเกินไป  ภายหลังเมื่อจบเป็นแพทย์ผิวหนังมีโอกาสได้รักษาผู้ป่วย  โดยเฉพาะพวกฝรั่งที่มาเที่ยวนอนตากแดดอยู่ตามชายหาดหรือมาตีกอล์ฟในเมืองไทย เช่น ที่พัทยา ก็ได้รักษา case sunburn อยู่เป็นประจำ  นอกจากนี้ยังต้องแปลกใจว่า พบมะเร็งผิวหนังในคนไข้ฝรั่งบ่อยมาก จนรู้สึกว่าอะไรมันจะมากมายปานนี้ โดยเฉพาะพวกที่มาจากแถวทวีปออสเตรเลีย

         

คนไทยเราที่ไม่ชอบแสงแดดก็เพราะมันร้อน ถ้าเป็นสาวๆมักจะกลัวแดด เพราะพวกเรารู้ดีครับว่า โดนแดดเข้าไปมากๆผิวจะคล้ำ  ไปเที่ยวชายทะเลแต่ละทีกลับมาผิวคล้ำไปหลายเดือน            ยิ่งระยะหลังหนีแดดกันแบบสุดๆ เพราะเราเรียนรู้กันดีแล้วว่า  คนที่เป็นฝ้า กระ สีผิวกระด่างกระดำ เกิดวัยตกกระเร็วกว่าที่ควรจะเป็น  รวมทั้งผิวเหี่ยวย่นบนใบหน้านั้น  ล้วนแต่เกิดมาจากการได้รับแสงแดดมากเกินไป

 

 

แล้วเราจะป้องกันไม่ให้เกิดโทษจากแสงแดดได้อย่างไร

         

อันดับแรกก็ต้องหลบแดด ไม่ออกไปตากแดดในช่วงเวลา 9.00-16.00 น. โดยเฉพาะช่วงเที่ยงวัน เพราะเป็นช่วงที่มีแสงอัลตราไวโอเล็ตมากที่สุด  ถ้าจะตีกอล์ฟ  ว่ายน้ำหรือเล่นกีฬากลางแจ้งทั้งหลาย ควรเลือกเวลาเช้าตรู่ หรือไม่ก็ช่วงเย็นไปเลย

         

อันดับต่อมาก็คือ ใส่หมวกปีกกว้าง กางร่ม สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายเช่นเสื้อแขนยาว  คอปิด หรือหากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง  ควรจะหาที่ร่มๆ เช่นใต้ต้นไม้ ใต้ชายคา

         

มาถึงยุคนี้ จำไว้ให้ดีครับว่า  ถ้าจะป้องกันโทษจากแสงแดด  สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ คือ สารกันแดด สารกันแดด แล้วก็สารกันแดด

 

สารกันแดดคืออะไร

         

ไปออกทะเลหนแรก ผมหน้าลอก ผิวลอก ปวดแสบปวดร้อนเข็ดจริงๆ   ครั้งต่อมาผมไปเดินชอปปิ้งก่อนจะออกทะเล  ความจริงไม่ได้คิดอะไรมากอยากเท่ห์ต้องทาครีมกันแดด ไปเลือกดูแล้ว แพงมหาโหดสำหรับเด็กนักเรียนเช่นผมในสมัยนั้น  เลยเลือกเอาอย่างถูกมา  เขาเขียนไว้ข้างขวดว่า SPF 4  ขนาดนี้ยังขวดละหลายร้อย ผมทาทั่วหน้าทั่วตัว  แล้วออกไปยืน นั่ง ผึ่งแดดผึ่งลมอยู่บนเรือประมง  สลับกับการเล่นน้ำทะเลตั้งแต่เช้าจรดเย็น  จนแสบผิวไปหมด  ผิวไม่ลอกครับ  แต่กลับมาตัวดำเมี่ยมไปหลายเดือน  ดำกว่าครั้งก่อนอีก  ผมเพิ่งมารู้ความจริงภายหลังว่า  สารกันแดดที่มี SPF ขนาดนี้เขาเอาไว้ทาเพื่อให้เกิด suntan คือทาแล้วผิวไม่ไหม้ง่าย  ทำให้ตากแดดได้นานขึ้น และฝรั่งเขาจะได้มีผิวสีแทน  คือออกแดงน้ำตาลไปอวดเพื่อนๆเมื่อกลับไปยังประเทศของเขา 

         

ถ้าจะนับกันในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว  นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นสารกันแดดมาเป็นเวลากว่า 70 ปี  เหตุผลใหญ่ในสมัยนั้นก็เพื่อนำมาทาผิวหนังเพื่อป้องกันแดดเผา  หรือเอามาทาเพื่อให้ตากแดดได้นานขึ้นโดยที่ผิวไม่ไหม้   สมัยก่อนเราเรียกกันว่ายากันแดด  เพราะในหลายกรณีนำมาใช้เป็นยาเพื่อทาป้องกันไม่ให้โรคผิวหนังบางประเภทที่ไวต่อแสง  เช่น SLE ที่มีอาการแพ้แสง  โรคแพ้แสง PLE  ทำให้อาการแพ้แสงไม่กำเริบ  ปัจจุบันวัตถุประสงค์ในการใช้สารกันแดดเปลี่ยนไปเป็นใช้ทาเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังเสื่อมเร็วหรือแก่ก่อนวัย   ที่หวังกันมากๆก็คือหวังว่าสารกันแดดจะช่วยป้องกันมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากแสงแดด  อย่างไรก็ตามสถาบันมะเร็งของประเทศสหรัฐอเมริกายังพบว่า  ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังโดยภาพรวมไม่ได้ลดลงเลยแม้ว่าจะมีการใช้สารกันแดดกันอย่างมากมายในปัจจุบัน

 

สารกันแดดแบ่งออกเป็นกี่ชนิด

          แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  1. Chemical sunscreen  เป็นสารกันแดดที่มีความสามารถดูดซับพลังงานของแสงแดดไว้ก่อนที่แสงแดดจะผ่านไปที่ผิวหนัง ตัวอย่างเช่น

PABA และ cinnamate ดูดซับเฉพาะ UVB

Benzophenone ดูดซับได้ทั้ง UVB และ UVA บางส่วน

Dibenzoylmethane ดูดซับได้เฉพาะ UVA เท่านั้น

สารกันแดดในกลุ่มนี้  จะละลายได้ดีในตัวทำละลายบางชนิดโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ และน้ำมัน  ทาแล้วหน้าไม่ค่อยจะขาวมาก  แต่ข้อเสียคือาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองต่อผิวหนังได้

  1. Physical sunscreen พวกนี้มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสง ได้แก่

Titanium Dioxide(Ti02)

Zinc Oxide(ZnO)

สารกลุ่มนี้จะมีลักษณะเป็นแป้งผงละเอียด สีขาว  ไม่ละลายในน้ำหรือตัวทำละลายใด  มักนำไปใช้ในแป้งฝุ่นโรยตัวเด็ก และแป้งฝุ่นแข็งที่ใช้แต่งหน้าผู้หญิง  แต่เมื่อนำมาเป็นสารกันแดดจะเป็นผงที่ละเอียดมากขึ้น

ข้อดีของสารกันแดดกลุ่มนี้ก็คือกันได้ทั้ง UVA,UVB, visible light, infrared light  ระหว่างช่วงคลื่น 260-700 นาโนเมตร  แถมยังไม่ค่อยเกิดอาการแพ้   แต่ทาแล้วมักจะทำให้หน้าขาวทึบ  แลดูไม่ค่อยจะสวย  แต่ปัจจุบันมีทั้ง microfine Titanium Dioxide และ microfine Zinc Oxide กลุ่มนี้ทาแล้วหน้าไม่ขาวมาก และไม่ค่อยเกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง

 

มีแพทย์หลายท่านแย้งว่า ความจริงสารที่เอามาทำ Physical sunscreen ก็เป็น Chemical ชนิดหนึ่งเหมือนกัน ระยะหลังก็เลยเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เรียก Chemical sunscreen เป็น สารกันแดดกลุ่มอินทรีย์ organic sunscreen หมายถึงสารกันแดดที่ประกอบไปด้วยสารเคมีที่ในโมเลกุลประกอบด้วยคาร์บอนและไฮโดรเจน  และ Physical sunscreen เป็น สารกันแดดกลุ่มอนินทรีย์ inorganic sunscreen

 

 

Sun Protection Factor  (SPF)

         

เป็นตัวเลขที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันอาการแดงจาก UVB ของสารกันแดด  ตัวเลขนี้ได้มาจาก  อัตราส่วนของแสงปริมาณน้อยที่สุด ที่ทำให้เกิดอาการแดง หลังรับแสง 24 ชั่วโมง  โดยไม่ทาสารกันแดด  เทียบกับเมื่อทาสารกันแดดนั้น  SPF ยิ่งสูงยิ่งป้องกัน sunburn ได้ดี  พวกเราเข้าใจผิดกันอยู่ตั้งนาน  คิดว่าสารกันแดดที่มีมาในอดีตสามารถป้องกันฝ้า กระ ริ้วรอยเหี่ยวย่น รวมทั้งมะเร็งผิวหนังได้  แต่เป็นสิ่งที่แพทย์ผิวหนังตั้งข้อสังเกตกันมานานว่า  คนที่ทาสารกันแดด  แต่ต้องตากแดดบ่อยๆ เช่นเล่นกอล์ฟ หรือแม้แต่ขับรถแล้วถูกแดดส่องก็ยังมีฝ้าขึ้นเต็มไปหมด   กว่าจะรู้ว่า  อาการแดงจากการวัดค่า SPF นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากแสง

UVB แต่ในแสงแดดยังมี UVA ซึ่งแม้จะมีปริมาณน้อยกว่าแต่มีอำนาจทะลุทะลวงมากกว่าคือผ่านก้อนเมฆในวันที่ฟ้าครึ้ม  และทะลุผ่านกระจกได้  เวลาเราถูกแสง UVA ผิวอาจจะไม่แดง แต่ UVA สามารถก่อให้เกิดฝ้า กระ จุดด่างดำบนใบหน้า รวมทั้งมะเร็งผิวหนังได้  สารกันแดดที่ใช้กันมานานในอดีตเช่น PABA, PABA ester, salicylates และ cinnamates  จะดูดซับแสงในช่วง UVB เท่านั้น  Benzophenone และ anthranilates ดูดซับได้ทั้ง UVB และ ช่วงคลื่นสั้นของ UVA คือ UVA II  เป็นผลให้สารกันแดดที่สามารถป้องกันได้ทั้ง UVA,UVB, และ visilble light ได้แก่ Butylmethoxydibenzoyl methane Mexory SX, XL , Tenosorb, Titanium dioxide และ zinc oxide ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

 

ตัววัดประสิทธิภาพการป้องกันแสง UVA      

จากมติการประชุมของคณะทำงาน American Academy of Dermatology ซึ่ง

ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในปี 2000 ได้กำหนดว่า  สารกันแดดจะต้องสามารถป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB และต้องป้องกัน UVA ได้อย่างน้อย 4 เท่า โดยใช้ erythema หรือ tanning หลังฉายแสง UVA 24 ชั่วโมงที่เรียกว่า persistent pigment darkening (PPD) มาเป็นตัววัดผล  องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พยายามที่จะกำหนดให้ผู้ผลิตสารกันแดด  ได้ติดฉลากบอกผู้ใช้ว่าสารกันแดดนั้นกัน UVA มากน้อยแค่ไหนโดยใช้  A Four Star rating System

          หนึ่งดาว กัน UVA ได้น้อย

          สองดาว กัน UVA ได้ปานกลาง

          สามดาว กัน UVA ได้มาก

          สี่ดาว กัน UVA ได้มากที่สุด

 

ถ้าไม่มีดาวเลยคือกัน UVA ไม่ได้

         

สำหรับตลาดสารกันแดดในสหรัฐที่เคยกำหนดไว้ให้ติดฉลากประสิทธิภาพของสารกันแดด คือ SPF สูงสุดได้แค่ 30+ ปัจจุบันได้เพิ่มให้ติดฉลากได้ SPF 50+

 

การตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด

         

มีคนพูดถึงแพทย์ผิวหนังทั่วโลกว่ามักผิวพรรณดี  ไม่ค่อยมีฝ้า กระ จุดด่างดำบนใบหน้า เมื่อมีอายุมากขึ้น  โดยเฉพาะหมอผิวหนังผู้หญิง  ทำเอาคนอยากมาเรียนเป็นแพทย์ผิวหนังกันมาก  เคล็ดลับที่ผมอยากจะบอกกับผู้อ่านก็คือ  การใช้สารกันแดดนี่แหละ  ใช้เป็นประจำทุกวัน เริ่มใช้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว  ทำให้ผิวไม่หยาบกร้าน  ไม่หมองคล้ำหรือมีริ้วรอยก่อนวัยอันควร   หมอผิวหนังเห็นคนไข้ที่มีปัญหาผิวหยาบกร้าน  หมองคล้ำ เต็มไปด้วยฝ้า กระ จุดด่างดำบนใบหน้า   เขาว่า ปัญหามาปัญญาเกิด   ก็เลยทำให้หมอผิวหนังส่วนมาก  นอกจากจะเรียนรู้แล้วยังมีแรงบันดาลใจในการปฏิบัติตามสิ่งที่ร่ำเรียนมาด้วย

 

          อย่างไรก็ดีหลายคนคงเคยมีประสบการณ์ว่าใช้สารกันแดดแล้วมีปัญหาหลายประการที่ทำให้ท้อ   บางคนอาจจะเลิกใช้ไปเลย เนื่องจากยังขาดความรู้เรื่องสารกันแดดอยู่หลายประการ

  1. ทาแล้วสิวขึ้น  ต้องเลือกสูตรที่ไม่ทำให้เกิดการอุดตัน โดยเฉพาะในพวกที่หน้ามันอยู่เป็นทุนเดิม  เลือกพวกที่ SPF ต่ำๆอาจจะช่วยได้บ้าง แล้วก็อาศัยทาบ่อยๆเอา
  2. ทาแล้วเหนียวเหนอะหนะ  หน้าขาววอก เลือกผิดอีกแหละครับ  เพราะสารกันแดดที่ทำแล้วหน้าไม่ขาวเกินไปมีอยู่เยอะแยะ  ส่วนที่เหนียวเหนอะหนะบางครั้งต้องทำใจ โดยเฉพาะในพวกที่กันน้ำได้  หรือ SPF สูงๆ
  3. ทาแล้วแพ้  เป็นผื่นคันขึ้นที่หน้า  อันนี้น่าเห็นใจ  สูตรที่เป็น organic sunscreen มักจะแพ้ง่ายกว่า inorganic sunscreen  ลองเลือกตัวที่ SPF น้อยลงไปบ้างอาจจะไม่แพ้  เปลี่ยนยี่ห้อ เพราะจริงๆอาจจะไม่ได้แพ้สารกันแดด แต่แพ้สารกันบูด น้ำหอม หรือส่วนผสมอื่นๆในครีมกันแดด
  4. ทาแล้วหน้ามัน ต้องลองดูครับ  เดี๋ยวนี้สูตรที่ทาแล้วหน้าไม่มันมีอยู่มากมาย
  5. ทาแล้วสารกันแดดเข้าตาทำให้แสบตา  รำคาญไปทั้งวัน  โดยเฉพาะเวลาทาก่อนเล่นน้ำ  ถ้าอย่างนี้ต้องงดทาบริเวณที่สารกันแดดอาจไหลมาเข้าตา เช่นที่หน้าผาก รอบดวงตา  เวลาทาสารกันแดดต้องระวังอย่าเอามือไปขยี้ตา ถ้าจะให้ดีเลือกตัวที่เผลอเข้าตาแล้วไม่แสบตา
  6. ทาแล้วกลัวเป็นมะเร็ง เพราะเคยมีข่าวว่า สารกันแดดก่อให้เกิดมะเร็งเสียเอง ข่าวที่ว่านี้ก็คือ PABA ซึ่งแทบจะไม่มีใครเอามาใช้กันแล้ว  สารกันแดดนี่ใช้ทุกวันยังไงก็คุ้มกว่าแก่ตัวแล้วหน้าเป็นฝ้าเป็นจุดด่างดำเต็มไปหมด  พอเกิดขึ้นแล้วแก้ยากเสียด้วย
  7. ทาแล้วไม่เห็นได้ผล ทาแล้วเหมือนไม่ได้ทา อันนี้กว่าจะรู้ก็มักจะสายเกินการ  อันดับแรกคือ เลือกที่กันได้แต่ UVB กัน UVA ไม่ได้  ต่อมาก็คือ ทาปุ๊ป ออกแดดปั๊ป ควรทาสารกันแดดก่อนถูกแดด ประมาณ 20-30 นาทีเพื่อให้สารกันแดดซึมเข้าสู่ผิวหนังก่อน   บางคนทาบางๆกลัวเปลือง  สารกันแดดที่เขาว่า SPF เท่าโน้นเท่านี้ก็คือเวลาทดสอบเขาทาหนาตึ๊ก  2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร คนทั่วๆไปทาบางกว่านี้เยอะ ทำให้ SPF ที่ได้จริงอาจจะลดลงไปมากกว่าครึ่ง  บางคนทาแล้วไม่เคยคิดจะทาซ้ำเพราะคิดว่าสารกันแดดสามารถอยู่ได้ทั้งวัน ของพวกนี้ถ้าใช้งานจริง โดนเหงื่อโดนน้ำ ชั่วโมงสองชั่วโมงก็หลุดหมดแล้ว  ปกติสารกันแดดจะไปติดอยู่กับผิวหนังชั้นขี้ไคล ซึ่งมีการลอกของชั้นขี้ไคลอยู่ตลอด เมื่อชั้นขี้ไคลหลุดลอกออกสารกันแดดก็หลุดออกไปด้วย ทำให้การป้องกันแสงลดน้อยลง  การป้องกันดีที่สุดจะอยู่ที่ 2-3 ชั่วโมงหลังทาครีม  บางคนเอาสารกันแดดที่กันน้ำไม่ได้ไปใช้เวลาเล่นน้ำทะเล  เขามีวิธีดูที่ข้างกล่อง  ถ้าเขียนว่า water resistant  หมายความว่าอยู่ในน้ำได้ไม่เกิน 40 นาทีต้องขึ้นมาทาใหม่  แต่ถ้า water proof คือป้องกัน UV ได้ 80 นาที ต้องขึ้นจากน้ำมาทาใหม่ สุดท้ายก็คือ อยากประหยัดเลยไปเลือกซื้อของถูก  ต้องดูสลากข้างหลอดให้ดีว่าไม่ใช่พวกเก่าเก็บ  จนหมดอายุหรือใกล้จะหมดอายุแล้ว  อย่างนี้มันจะไปทาได้ผลได้อย่างไร

 

สารกันแดดของเด็กกับของผู้ใหญ่ต่างกันไหม

         

แนะนำว่าถ้าเป็นเด็กควรจะใช้สารกันแดด กลุ่ม inorganic sunscreen คือไททาเนียมไดออกไซด์ หรือซิงค์ออกไซด์  เพราะไม่ค่อยเกิดการระคายเคือง แพ้น้อยกว่า  ส่วน ชนิด organic  sunscreen นั้นด้วยความที่ต้องละลายในแอลกอฮอล์หรือน้ำมัน   ทำให้ระคายเคืองง่าย แพ้ง่าย  และอาจเกิดการสะสมตามผิวหนังได้เมื่อใช้เป็นประจำ  อีกอย่างคือผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของสเปรย์ และเจลกันแดด  มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมในปริมาณสูงจึงไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก   สำหรับเด็กทารกอายู 6-12 เดือน ไม่ควรทาสารกันแดด ทางที่ดีอย่าเอาเด็กไปตากแดดจะดีที่สุด

         

เรื่องของสารกันแดดยังคงมีอีกมากและยังมีอีกหลายสิ่งที่เราต้องติดตามกัน  เรื่องของนาโนเทคโนโลยี่ที่เริ่มเอามาใช้ในการผลิตสารกันแดด  ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย  เรื่องของการผสมสารกันแดดเข้าไปในผลิตภัณฑ์เครี่องสำอางเกือบจะทุกอย่าง  รวมทั้งการนำสารให้ความชุ่มชื้นมาผสมในสารกันแดด  รวมทั้งสูตรผสมใหม่ๆในการทำให้สารกันแดดมีประสิทธิภาพดีมากยิ่งขึ้น และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้  ทั้งหลายเหล่านี้ต้องอย่าลีมที่จะใช้การหลบเลี่ยงในเบื้องต้นทั้งการหลบแดด  การหาที่ร่ม  สวมหมวกปีกกว้าง  กางร่ม และสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกป้องผิว ไปด้วยจะเป็นการดูแลสุขภาพผิวไม่ให้เกิดฝ้า กระ  จุดด่างดำบนใบหน้า

Cr. บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นายแพทย์ สุทัศน์ ดวงดีเด่น ใน โรคผิวหนัง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : รอบรู้เรื่อง สารป้องกันแสงแดด แบบจัดเต็ม