ปิดเมนู
หน้าแรก

ยาดักจับไขมัน ได้ผลจริง หรือเป็นแค่เรื่องหลอกลวง?

เปิดอ่าน 233 views

ยาดักจับไขมัน ได้ผลจริง หรือเป็นแค่เรื่องหลอกลวง?

ยาดักจับไขมัน ได้ผลจริง หรือเป็นแค่เรื่องหลอกลวง? เกี่ยวกับ ลดน้ำหนัก

สาวๆ หนุ่มๆ ร่างท้วมหลายคนน่าจะเคยได้ยินสรรพคุณของยาดักจับไขมัน ที่ระบุเอาไว้ว่าจะช่วยดักจับไขมันจากอาหารที่เราทาน แล้วถ่ายออกไปพร้อมอุจจาระ ไม่ปล่อยให้ไขมันไปกองอยู่ที่พุง ต้นแขนต้นขา หรือเอวหนาๆ ได้ แต่จริงๆ แล้วกลไกในการทำงานของยาดักจับไขมัน (หรือจะเรียกกันตามภาษาชาวบ้านกันตรงๆ ว่า ยาลดความอ้วนนั่นแหละ) จะให้ผลกับร่างกายอย่างไรบ้าง ลดความอ้วนได้จริงหรือไม่ ลองมาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก สำนักคณะกรรมการอาหาร และยา กันดีกว่า

 

ยาลดความอ้วน ใครๆ ก็ทานได้?

ยาลดความอ้วนมีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน ซึ่งจะเริ่มใช้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยมีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยที่ผู้ป่วยได้ผ่านการรักษาด้วยการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับพฤติกรรมแล้ว แต่ไม่สามารถลดน้ำหนักจนถึงเป้าหมายได้ จึงจำเป็นต้องใช้ยาควบคู่ไปด้วยกับการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

ยาดักจับไขมัน ทำให้อุจจาระออกมาพร้อมไขมันมากมายได้จริงๆ?

เหตุผลที่กินยาลดความอ้วนแล้วมีน้ำมันปนออกมา เกิดจากยาบางชนิดไปยับยั้งเอนไซม์ lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สร้างมาจากกระเพาะอาหาร และตับอ่อนที่ทำหน้าที่ย่อยสลายไขมันจากอาหารที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ให้เป็นโมเลกุลเล็ก ดังนั้นเมื่อเอนไซม์ถูกยับยั้งจึงทำให้ไขมันยังอยู่ในลักษณะโมเลกุลใหญ่ ไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้ไขมันหรือน้ำมันถูกขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ

 

ผลข้างเคียงจากยาดักจับไขมัน

ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยา orlistat ซึ่งยับยั้งเอนไซม์ lipase ทำให้ไขมันจากสิ่งที่เรารับประทานดูดซึมได้ลดลง ทั้งนี้ความสามารถของยาสูงสุดเพียงร้อยละ 30 ของปริมาณไขมันทั้งหมดที่รับประทานเข้าไปเท่านั้น และกลไกการออกฤทธิ์ของยา orlistat ส่งผลข้างเคียง ดังนี้

– มีน้ำมันปนออกมากับอุจจาระ

– อยากถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งกว่าปกติ

– ควบคุมการขับถ่ายลำบาก

– ปวดมวน ไม่สบายท้อง และมีการผายลมบ่อย

– ส่งผลให้วิตามินชนิดที่ละลายในไขมันถูกดูดซึมลดลง

 

ดังนั้นขอให้เพิ่มความระมัดระวังในการเลือกทานยา หรืออาหารเสริมที่มีคุณสมบัติดังกล่าว หรือถ้าอยากลดน้ำหนักจริงๆ แนะนำให้ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะเหมาะสม และปลอดภัยมากกว่าค่ะ

 

 

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ยาดักจับไขมัน ได้ผลจริง หรือเป็นแค่เรื่องหลอกลวง?