ปิดเมนู
หน้าแรก

พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งปอด” แม้ไม่สูบบุหรี่

เปิดอ่าน 325 views

พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งปอด” แม้ไม่สูบบุหรี่

พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งปอด” แม้ไม่สูบบุหรี่ เกี่ยวกับ มะเร็งปอด

“อย่าสูบบุหรี่เลย เดี๋ยวเป็นมะเร็งปอดไม่รู้ด้วย” นี่เป็นคำพูดของเราเมื่อเห็นเพื่อนรักสูบบุหรี่ เพื่อนมองเราพร้อมทำหน้าเจื่อนๆ แต่ก็ไม่ได้หยุดสูบแต่อย่างใด แม้ว่าเราจะห้ามเพื่อนไม่สำเร็จ แต่เราคิดว่าเราทำหน้าที่เพื่อนที่ดีเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับชีวิตของเขาแล้วล่ะ

เอาเข้าจริงแล้ว ตัวเราเองที่ไม่ได้สูบบุหรี่เลย ก็อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งอดได้เหมือนกันหากเข้าข่ายพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ มีสาเหตุของมะเร็งปอดอะไรที่นอกเหนือไปจากบุหรี่บ้าง มาระวังตัวกันดีกว่าค่ะ

 

พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งปอด” แม้ไม่สูบบุหรี่

สูดหายใจเอาควันบุหรี่เข้าปอด

หนึ่งในกรณีที่เราอาจเข้าข่าย และเชื่อว่าหลายคนอาจจะมีโอกาสอยู่ในสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะตามเพื่อนไปเที่ยวตามสถานที่บันเทิง ยืนท่ามกลางฝูงคนที่พ่นควันบุหรี่ตลอดเวลา การสูดเอาควันบุหรี่ของคนอื่นเข้าปอด เผลอๆ จะอันตรายยิ่งกว่าตัวคนสูบบุหรี่เองเสียอีก ดังนั้นถ้าเพื่อนรักจะสูบบุหรี่ ไล่ให้ออกไปสูบไกลๆ หรือไม่ก็ต้องย้ายตัวคุณเองนี่แหละออกมา หมดมวนค่อยเจอกัน

กรรมพันธุ์

เรื่องที่น่าเศร้า คือ คุณอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งปอด หากสมาชิกในครอบครัวของคุณเคยเป็นโรคมะเร็งปอดมาก่อน โดยคุณอาจจะไม่เคยแตะต้องบุหรี่มาก่อนในชีวิตก็ได้ ดังนั้นหากคุณทราบว่าครอบครัวของคุณมีประวัติเป็นโรคมะเร็งปอดมาก่อน ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะการตรวจปอด และอย่าลืมบอกแพทย์ด้วย

สูดดมสารเคมีมากเกินไป

ลองสังเกตสถานที่ทำงาน หรือละแวกรอบบ้านของคุณดูดีๆ ว่าคุณต้องผจญอยู่กับสารเคมีอันตรายเช่น สารหนู ก๊าซเรดอน รังสี ไอระเหยต่างๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันหรือเปล่า ไม่ว่าคุณจะทำงานในโรงงานที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองจากเครื่องจักร ใช้สารเคมีกลิ่นรุนแรงเพื่อผลิตสินค้า หรือแม้กระทั่งอาศัยใกล้แหล่งโรงงานที่ปล่อยของเสียทิ้งลงพื้น หรือแหล่งน้ำ ที่ส่งกลิ่นเหม็นตลอดเวลา หากมีข้อใดข้อหนึ่งตามนี้ ลองปรึกษาภาครัฐเพื่อช่วยแก้ปัญหา ก่อนที่จะสายเกินไป

 

อาการของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปอด

– ไอเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะไม่มีเสมหะในช่วงแรก หลังๆ อาจมีเสมหะเพราะเซลล์มะเร็งจะเริ่มอุดกั้นบางส่วนของปอด จนเกิดเป็นมูกใส หรืออาจมีสีเขียวหรือเหลืองหากติดเชื้อ

– หอบเหนื่อย หายใจลำบาก

– เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาเกร็ง หรือสูดลมหายใจแรงๆ

 

มะเร็งปอด รักษาอย่างไร

มีวิธีการรักษาโรคมะเร็งปอดหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความสาหัสของอาการที่พบว่าอยู่ในระยะใด มีทั้งหารผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งออกจากปอด การใช้เคมีบำบัด ฉายรังสี หรือการให้ภูมิคุ้มกันเพิ่ม เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งปอดอาจมีภูมิคุ้มกันผิดปกติ โดยอาจใช้วิธีเหล่านี้เดี่ยวๆ วิธีเดียว หรืออาจจะใช้หลายวิธีควบคู่กันไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สูบบุหรี่ยังคงมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดสูงที่สุด โดยสูงกว่าคนที่ไม่ได้สูบมากถึง 20 เท่า ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเลิกสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหลีกเลี่ยงการเป็นมะเร็งปอดอย่างได้ผลจริงๆ ค่ะ มาเลิกสูบบุหรี่เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สดใสกันดีกว่าค่ะ

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งปอด” แม้ไม่สูบบุหรี่