ปิดเมนู
หน้าแรก

ฝุ่น PM 2.5 กับผลกระทบทาง “ผิวหนัง” แสบ-คัน-เป็นผื่น

เปิดอ่าน 98 views

ฝุ่น PM 2.5 กับผลกระทบทาง “ผิวหนัง” แสบ-คัน-เป็นผื่น

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เผยฝุ่นละอองในอากาศเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นทั่วโลกและกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย โดยพบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5 ฝุ่นขนาดเล็กมาก มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน) เกินค่ามาตรฐานทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑลและอีกหลายจังหวัด ฝุ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กมากนี้นอกจากจะทำให้มีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผิวหนังด้วยเช่นกัน

ฝุ่น อาจทำให้แสบ คัน ผิวหนังเป็นผื่นได้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคแพ้ฝุ่น ผิวแพ้ง่าย อาจจะยิ่งมีอาการกำเริบได้ง่ายในช่วงที่เจอฝุ่น และอาจมีอาการเริ่มหายใจติดขัด จามบ่อย มีเลือดออกมาทางจมูกค่อนข้างมาก และไหลไม่หยุดได้ เพราะเมื่อเจอฝุ่นมาก ๆ อาจทำให้ภูมิแพ้กำเริบขึ้น และการที่เป็นคนเลือดออกง่าย และไหลไม่หยุด อาจทำให้มีเลือดไหลออกมาทางจมูกมาก 

ทั้งนี้  ผิวหนังเป็นอวัยวะหลักที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมและมลภาวะต่าง ๆ ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝุ่นละอองดังกล่าวจะส่งผลต่อผิวหนังด้วยข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สามารถจับตัวกับสารเคมีและโลหะต่างๆและนำพาเข้าสู่ผิวหนัง มีผลทำร้ายเซลล์ผิวหนังโดยตรง และทำให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติ ทั้งในด้านกลไกการป้องกันของผิวหนังจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและการซ่อมแซมผิวหนัง กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิม เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนังหรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบ จะมีการระคายเคืองคันมากยิ่งขึ้น ผื่นกำเริบมากขึ้นได้


ฝุ่น ทำให้ผิวเหี่ยว แก่กว่าวัยได้อีกด้วย

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผิวเสื่อมชราได้เร็วขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยทางแสงแดดและการสูบบุหรี่ การศึกษาในประเทศเยอรมนีและประเทศจีน พบว่าการสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นเวลานานมีผลทำให้ผิวเสื่อมชรา โดยพบการเกิดจุดด่างดำเพิ่มมากขึ้นบริเวณใบหน้าและการเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้มมากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบต่อผิวหนังได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น การปกป้องผิวหนังให้สัมผัสกับฝุ่นดังกล่าวให้น้อยที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีโรคผิวหนังอยู่เดิมเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบมากยิ่งขึ้น

วิธีลดความเสี่ยงอาการแพ้ผิวหนังจากฝุ่น

  1. ปกปิดร่างกายจากฝุ่นด้วยการสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
  2. ไม่อยู่กลางแจ้ง โดยเฉพาะในที่ที่มีฝุ่นเยอะมากเกินไป
  3. สามารถใช้กระดาษทิชชู่แบบเปียก เช็ดเนื้อเช็ดตัว รวมถึงใบหน้าได้ หากพ้นจากสภาวะแวดล้อมด้านนอกอาคารแล้ว
  4. อาบน้ำทันทีที่ถึงบ้าน
  5. งดการออกจากบ้านหากมีอาการแพ้ฝุ่นอย่างหนัก
  6. ปิดหน้าต่าง ประตูให้มิดชิด
  7. ทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน
  8. หากมีอาการผิดปกติทางผิวหนังอย่างชัดเจน เช่น แสบผิวมาก ผิวแดง มีผื่นขึ้น ควรรีบพบแพทย์

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ฝุ่น PM 2.5 กับผลกระทบทาง “ผิวหนัง” แสบ-คัน-เป็นผื่น